ฐานเศรษฐกิจ: รายงานพิเศษ (ธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทย เจาะขุมทรัพย์อินเดีย)
ธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทย เจาะขุมทรัพย์อินเดีย
เมื่อวันที่ 14-17 กรกฎาคมที่ผ่านมา "ฐานเศรษฐกิจ" มีโอกาสร่วมคณะเดินทางไปยังเมืองเจนไนและบังกะลอร์ของอินเดีย เพื่อเยี่ยมชมการทำงานของกลุ่มธุรกิจไทยที่เข้ามาลงทุนในอินเดีย ตามคำเชิญชวนของท่านเอกอัครราชทูตพิศาล มาณวพัฒน์ และสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงนิวเดลี ซึ่งการเดินทางไปในครั้งนี้ นอกจากจะได้ไปเยี่ยมชมสถานที่จริงที่บริษัทจากไทยเข้ามาลงทุนเปิดธุรกิจในอินเดียแล้ว เรายังได้พบปะพูดคุยกับผู้บริหารของบริษัทไทยจำนวน 3 บริษัท ได้แก่ ซี พี กรุ๊ป บริษัท ร็อคเวิร์ธ ซิสเต็มส์ เฟอร์นิเจอร์ (อินเดีย) จำกัด และบริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด ถึงบรรยากาศของการเข้ามาลงทุนทำธุรกิจในอินเดียว่าเป็นอย่างไรบ้าง
ชนชั้นกลางขยายเป็นโอกาสของซีพี
ซีพี กรุ๊ป นับได้ว่าเป็นบริษัทไทยรายแรกๆ ที่เข้ามาบุกเบิกตลาดอินเดีย โดยเริ่มต้นจากการส่งทีมงานมาสำรวจศักยภาพของการลงทุนเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเลี้ยงกุ้งในปี 2535 ก่อนที่จะขยายกิจการอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันซีพีมีธุรกิจหลักในอินเดีย 3 ประเภท คือ ธุรกิจสัตว์น้ำ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองเจนไน ธุรกิจสัตว์บกมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่บังกะลอร์ และธุรกิจเมล็ดพันธุ์
นายปรีดา จุลวงษ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ (อินเดีย) จำกัด กล่าวว่า ในส่วนของธุรกิจสัตว์บกของซีพีในอินเดีย การลงทุนมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจเลี้ยงไก่เนื้อ ผลิตอาหารสัตว์เพื่อใช้เองและจำหน่าย ผลิตลูกไก่คอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง และล่าสุดกำลังรุกเข้าสู่ธุรกิจอาหาร ด้วยการนำไก่ทอดและไก่ย่างแบรนด์ห้าดาวมาทดลองขายในบังกะลอร์ รวมถึงกำลังมองโอกาสเพิ่มผลิตภัณฑ์ไก่ไข่ด้วย ทั้งนี่เพื่อทำการตลาดให้ครอบคลุมทั่วประเทศและสอดรับกับแผนการเติบโตที่วางไว้ไม่ต่ำกว่า 30% ต่อปีในช่วง 5 ปีข้างหน้า จึงมีการวางโครงข่ายไว้ใน 5 พื้นที่เพื่อป้อนตลาดหลัก ได้แก่ นิวเดลี มุมไบ กัลกัตตา เจนไน บังกะลอร์
สำหรับโอกาสในตลาดอินเดีย นายปรีดามองว่ายังมีอีกมาก เนื่องจากคนอินเดียบริโภคเนื้อสัตว์น้อยมาก แม้ไก่จะเป็นเนื้อสัตว์หลักแต่การบริโภคยังอยู่เพียง 2.5 กิโลกรัม/คน/ปี เมื่อเทียบกับคนไทยที่บริโภคประมาณ 10 กิโลกรัม/คน/ปี ดังนั้น จึงมองว่าการที่ชนชั้นกลางของอินเดียมีการขยายตัวมากขึ้น การบริโภคเนื้อไก่จะมากขึ้นตามมา "เพียงแค่การบริโภคเพิ่มขึ้นเป็น 3-5 กิโลกรัม ก็เพิ่มบริมาณได้มหาศาล เราจึงมองจุดนี้เป็นโอกาสของเรา"
ปัจจุบันซีพีมีกำลังการผลิตไก่อยู่ที่ 2.5 ล้านตัวต่อสัปดาห์ และบริษัทตั้งเป้าหมายขยายกำลังการผลิตเพิ่มอีกหนึ่งเท่าตัวเป็น 5 ล้านตัวต่อสัปดาห์ในช่วง 5 ปีข้างหน้า นายปรีดาเชื่อว่าในอีก 5 ปี ซีพีจะสามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตไก่อันดับ 2 ของอินเดีย จากในปัจจุบันที่มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 3 และเชื่อว่าในอนาคตก็มีโอกาสก้าวถึงตำแหน่งผู้นำ ด้วยจุดแข็งคือการควบคุมต้นทุนการผลิตได้ต่ำกว่าคู่แข่ง แต่ขณะเดียวกันมีประสิทธิภาพและเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย รสชาติมีความสม่ำเสมอมากกว่า
ดีมานด์-ซัพพลายอสังหาฯ ต่างกันมาก
จากธุรกิจเลี้ยงสัตว์ มาถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีบริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด เข้ามารุกตลาดอินเดียตั้งแต่ปี 2552 โดยยึดหัวหาดเปิดโครงการ "พฤกษา ซิลวานา" อยู่ที่พื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองบังกะลอร์ นายนภาวุธ ประจำเมือง รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายธุรกิจและการก่อสร้างในต่างประเทศ ของบริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลกับเราว่า โครงการพฤกษา ซิลวานา มีพื้นที่ 68 ไร่ ปลูกเป็นบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ทั้งหมด 321 ยูนิต ปัจจุบันขายไปแล้วกว่า 65% และมีลูกบ้านเข้ามาอยู่แล้วกว่า 50 ครอบครัว ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จมาแล้วครึ่งทาง
สำหรับโครงการพฤกษา ซิลวานา ทางบริษัท เลือกที่จะเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้อยู่ในระดับกลาง คือประมาณ 1-2.5 แสนรูปีต่อปี (ประมาณ 5 หมื่น-1.25 แสนบาท) โดยลูกค้าส่วนใหญ่ 70-80% เป็นคนที่ทำงานด้านไอที หลังจากนี้ พฤกษามีแผนจะซื้อที่ดินอีก 2 แปลงในเมืองบังกะลอร์เพื่อพัฒนาเป็นคอนโดมิเนียม "คาดว่าแปลงแรกถ้าไม่ติดเรื่องเอกสารที่ดิน จะซื้อได้ในเดือนสิงหาคมปีนี้ ส่วนอีกแปลงหนึ่งน่าจะประมาณต้นปี 2557 และเปิดขายได้กลางปีหน้า รวมถึงเรามีแผนจะซื้อที่ดินที่มุมไบในปี 2557 เพื่อทำเป็นคอนโดมิเนียมหรืออพาร์ตเมนต์ราคา 3-4 ล้านรูปี (ประมาณ 1.5-2 ล้านบาท)" นายนภาวุธกล่าว
แล้วพฤกษามองเห็นโอกาสในตลาดอสังหาริมทรัพย์อินเดียอย่างไร จึงเลือกมาที่นี่ นายนภาวุธตอบว่า ความต้องการบ้านของคนอินเดียขณะนี้อยู่ที่ 25 ล้านยูนิต และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 60 ล้านยูนิตในอีก 18 ปีข้างหน้า แต่ปีที่ผ่านมาซัพพลายมีเพียง 8 แสนยูนิต และคาดว่าจะมีประมาณ 1 ล้านยูนิตในปีนี้ ซึ่งถ้าสามารถหาซื้อที่ดินได้ ก็จะสามารถเติบโตได้ถึงระดับ 30-40% ต่อปี อย่างไรก็ดี การหาที่ดินนับเป็นข้อจำกัดสำคัญประการหนึ่ง ด้วยกฎหมายที่ซับซ้อนและกระบวนการขออนุมัติจากทางการที่ยาวนาน
ตลาดเฟอร์นิเจอร์ที่ใหญ่กว่า 30 เท่า
ร็อคเวิร์ธ บริษัทผลิตเฟอร์นิเจอร์สำนักงานรายใหญ่ของไทยเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่เลือกมาขยายฐานการผลิตที่อินเดีย โดยเข้ามาเริ่มก่อตั้งโรงงานแห่งแรกเมื่อปี 2552 ในนิคมอุตสาหกรรมศรีซิตี้ ซึ่งตั้งอยู่ประมาณ 55 กิโลเมตร ทางเหนือของเมืองเจนไน นายชาคริต วรชาครียนันท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ร็อคเวิร์ธ ซิสเต็มส์ เฟอร์นิเจอร์ (อินเดีย) จำกัด กล่าวถึงเหตุผลที่เลือกอินเดียว่า เนื่องจากมีประชากรจำนวนมาก จึงมองว่าน่าจะมีความต้องการเฟอร์นิเจอร์สำหรับสำนักงานมาก ขณะเดียวกัน คู่แข่งขันในตลาดยังมีน้อยเมื่อเทียบกับการไปตั้งโรงงานที่ตลาดใหญ่อื่นๆ เช่น จีน
ภาพรวมของตลาดเฟอร์นิเจอร์อินเดียปัจจุบันมีมูลค่า 7 พันล้านรูปี คิดเป็นขนาดใหญ่กว่าตลาดในไทยถึง 30 เท่า โดยมีอัตราการเติบโตในระดับ 20% ต่อปี สำหรับเซ็กเมนต์เฟอร์นิเจอร์สำนักงานที่ร็อคเวิร์ธทำตลาดอยู่ก็มีการเติบโตอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ร็อคเวิร์ธถือเป็นบริษัทแรกๆ ที่นำเฟอร์นิเจอร์สำนักงานสมัยใหม่เข้ามาทำตลาดในอินเดีย ซึ่งมีการใช้เฟอร์นิเจอร์สมัยใหม่ในสำนักงานไม่มากนัก
เมื่อถามถึงการเข้ามาลงทุนในอินเดียว่ารู้สึกพึงพอใจหรือยัง นายชาคริตกล่าวว่า "ยังไม่พอใจเท่าไหร่ แต่เรารู้อยู่แล้วว่าต้องมาในระยะยาว ช่วงนี้เป็นช่วงของการพัฒนาศักยภาพพนักงาน เราจะค่อยๆ เปิดตลาดซึ่งมีขนาดใหญ่มาก ปีที่แล้วยอดขายของเราอยู่ที่ 380 ล้านรูปี คาดว่าปีนี้จะทำได้ 700 ล้านรูปี"
ร็อคเวิร์ธให้ความสำคัญกับเรื่องของโลจิสติกส์เป็นสำคัญ ดังนั้นแนวทางการขยายธุรกิจจึงต้องการให้โรงงานอยู่ใกล้ลูกค้ามากที่สุด โดยแผนการที่วางไว้คือโรงงานในไทยที่อยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอินและนวนครจะผลิตป้อนตลาดอาเซียน โรงงานที่เจนไนจะป้อนตลาดอินเดียและแอฟริกา นอกจากนี้ยังมีแผนการจะเปิดโรงงานอีกหนึ่งแห่งในรัฐคุชราตในปี 2560 เพื่อป้อนตลาดอินเดียเหนือและตะวันออกกลาง
กระนั้น ใช่ว่าการมาขยายฐานธุรกิจที่อินเดียจะราบรื่นไปเสียทั้งหมด ผู้บริหารของทั้ง 3 บริษัทต่างประสานเสียงถึงอุปสรรคสำคัญที่ต้องประสบ ไม่ว่าจะเป็นด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะไฟฟ้าที่ไม่เพียงพอ ด้านการบริหารจัดการคนที่ยังยึดติดเรื่องชนชั้นวรรณะและมีข้อเรียกร้องที่หลากหลาย ตลอดจนปัญหาของระบบราชการ กฎหมาย และภาษีที่ซับซ้อน
โดย สินีนาถ พันธ์เจริญวรกุล
ตีพิมพ์ในหน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,865 วันที่ 28-31 กรกฎาคม พ.ศ. 2556