ฐานเศรษฐกิจ: มองอินเดียใหม่ (ตอนที่ 87)
เรื่องกินจุบกินจิบนี่ต้องยกให้อินเดียครับ ชนะเลิศจริงๆ อาหารว่างนี่เรียกว่าว่างเมื่อไหร่เป็นต้องรับประทานกันตลอด ถ้าเดินไปตามถนนสายหลักย่านชุมชนตามเมืองใหญ่ในอินเดียจะพบว่ามีร้านเล็กร้านน้อยขายอาหารว่างตลอดทาง ที่พบเห็นเป็นประจำก็จะเป็นร้านขายชาร้อนที่ต้มด้วยนมสดใส่เครื่องเทศที่เรียกว่า Masala Tea ต้มกันตรงนั้นซื้อดื่มกันตรงนั้นเลย ถัดไปนิดหนึ่งก็จะเป็นแผงขายแซนด์วิชปิ้งบนเตาถ่าน ใกล้ๆกันก็อาจจะเป็นรถเข็นขายอาหารว่างยอดนิยมที่เรียกว่า ปานี ปุรี ซึ่งเป็นแป้งทอดกลมๆข้างในกลวง เวลาจะรับประทานคนขายก็จะเจาะด้วยเล็บมือแล้วใส่ไส้ซึ่งหน้าตาเป็นถั่วเหลืองเข้าไปข้างในแล้วราดด้วยซอสเหลวๆเข้าไปก่อนรับประทาน ถัดไปก็อาจจะเป็นร้านขายซาโมซ่าซึ่งเป็นแป้งทอดมีไส้รูปทรงสามเหลี่ยม ตรงหัวมุมถนนก็อาจจะมีศิลปินเดี่ยวแบกกะละมังมานั่งตักถั่วขายคนที่สัญจรผ่านไปมาแถวนั้น
ภาพเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าคนอินเดียนิยมรับประทานอาหารว่างจริงๆ ซึ่งปกติก็จะรับประทานกันตลอดวันตั้งแต่เช้าเลย เพราะต้องดื่มชาร้อนตามธรรมเนียมอังกฤษอยู่แล้ววันละ 2-3 ครั้ง โดยเฉพาะในช่วงบ่ายระหว่างมื้อกลางวันกับมื้อค่ำจะเป็นช่วงที่ยาวนานมากเพราะคนอินเดียจะรับประทานอาหารค่ำดึกมากถึงขนาดเลยไป 4-5 ทุ่มกันเลยทีเดียว ก็เลยต้องหาอาหารว่างมารับประทานคั่นรายการแก้หิวไปพลางๆ
แม้ว่าวิถีชีวิตของคนอินเดียในการรับประทานอาหารว่างแบบนี้ยังดำเนินอยู่ แต่ด้วยความที่ประเทศอินเดียปัจจุบันมีการพัฒนามากขึ้น มีการขยายตัวของเมืองมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้บริโภคมีรายได้เพิ่มขึ้นและบริโภคเพิ่มขึ้น มีร้านค้าปลีกที่ทันสมัยเพิ่มขึ้น แต่ในขณะเดียวกันผู้บริโภคอินเดียรุ่นใหม่กลับมีเวลาน้อยลง ซึ่งปัจจัยสำคัญเหล่านี้ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคอินเดียเปลี่ยนไปด้วยการหันไปหาอาหารว่างสำเร็จรูปบรรจุซองแบบทันสมัยมากขึ้น เนื่องจากสะดวกในการซื้อและเก็บไว้รับประทานตอนไหนก็ได้ ที่สำคัญคือ อาหารว่างหรือสแน็กสมัยใหม่เหล่านี้สะอาดถูกอนามัยอีกต่างหาก จึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่
สำหรับตลาดอาหารว่างของขบเคี้ยวหรือสแน็กสมัยใหม่ในอินเดียเริ่มคึกคักมาตั้งแต่ปี 2538 ซึ่งขณะนั้นมีผู้เล่นเจ้าถิ่นรายใหญ่ 2 รายครองตลาดอยู่ คือ บริษัท Haldiram ซึ่งผลิตสแน็กแบบดั้งเดิมของอินเดียประเภทแป้งทอดและถั่วทอดชนิดต่างๆยี่ห้อ Haldiram บรรจุในหีบห่อทันสมัย กับบริษัท Amrit Agro ผู้ผลิตมันฝรั่งทอดยี่ห้อ Uncle Chips จำหน่ายอยู่ในตลาดอินเดีย และในปี 2538 นี้เองที่ตลาดสแน็กในอินเดียเริ่มสั่นสะเทือนเพราะมีบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก คือ PepsiCo เข้าตลาดมาแข่งขันด้วยการปล่อยสินค้าสแน็ก 2 ตัวออกมา คือ มันฝรั่งทอดยี่ห้อ Lay's กับสแน็กยี่ห้อ Cheetos ซึ่งหลังจากนั้นอีก 4 ปี ในปี 2542 PepsiCo ก็ได้กลายเป็นผู้นำตลาดสแน็กของอินเดียไปเรียบร้อย แถมถัดไปอีก 1 ปี คือ ปี 2543 มันฝรั่งทอดยี่ห้อ Uncle Chip ของบริษัท Amrit Agro ก็ถูกบริษัท Frito-Lay India ของ PepsiCo ซื้อไปเรียบร้อยโรงเรียนเป๊ปซี่อีกต่างหาก
การเข้าตลาดสแน็กในอินเดียของ PepsiCo ทำให้เห็นว่าโอกาสในตลาดมีมากมายมหาศาล โดยในปี 2555 ที่ผ่านมา ตลาดสแน็กในอินเดียมีมูลค่าตลาดประมาณ 49,000 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปี 2560 ในอัตรา 23% ซึ่งสำหรับปี 2556 นี้ คาดว่าจะมีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 59,400 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัท PepsiCo มีส่วนแบ่งตลาดสำหรับสินค้าสแน็กในอินเดียในปี 2555 สูงถึง 56.5% แต่ถ้าเทียบกับปี 2551 ถือว่า PepsiCo มีส่วนแบ่งตลาดลดลงเพราะในปี 2551 PepsiCo มีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 65% เลยทีเดียว แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ บริษัทคู่แข่งสำคัญของ PepsiCo กลับเป็นบริษัทอินเดียล้วนๆ เช่น Balaji, ITC, Haldiram เป็นต้น ซึ่งส่วนแบ่งตลาดนี้นับรวมสแน็กทุกประเภท โดยสแน็กประเภทมันฝรั่งทอดมีสัดส่วนมากที่สุดในบรรดาสแน็กทั้งหมดในอินเดีย คือ 32%
เห็นมูลค่าตลาดและการขยายตัวของตลาดสแน็กในอินเดียแบบนี้ก็คิดถึงสแน็กของไทยขึ้นมาทันที แต่ไม่ต้องเป็นห่วงครับ ภาคเอกชนไทยของเราเก่งมาก ปัจจุบันสแน็กของไทยหลายรายการสามารถหาที่ยืนในตลาดนี้ได้แล้ว แม้จะยังไม่ได้มีส่วนแบ่งตลาดมากมายเหมือนบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง PepsiCo แต่ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เช่น ข้าวเกรียบกุ้งฮานามิ ถั่วลันเตาอบกรอบสแน็คแจ็ค ถั่วทองการ์เด้น เป็นต้น โดยเฉพาะถั่วทองการ์เด้นที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในตลาดอินเดีย ต้องขอบอกว่านายแน่มาก ทำได้ยังไง...เอาถั่วไปขายแขกได้ หยั่งงี้ขอกด LIKE ให้ล้านครั้งเลยครับ !!!
โดยอดุลย์ โชตินิสากรณ์
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เมืองมุมไบ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,865 วันที่ 28 - 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2556