ฐานเศรษฐกิจ: มองอินเดียใหม่ (ตอนที่ 88)
เมื่อวันที่ 15-19 กรกฎาคม 2556 คณะผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรนักบริหารการทูตระดับสูง (นบท.) รุ่นที่ 5 ซึ่งจัดโดยสถาบันเทวะวงศ์วโรปการของกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางมาศึกษาดูงานที่เมืองเจนไน บังกะลอร์ และไฮเดอราบาดโดยมีโอกาสเยี่ยมชมและรับฟังการบรรยายสรุปจากบริษัทยักษ์ใหญ่ของอินเดียและบริษัทไทยที่มาลงทุนในอินเดียแล้ว รวมทั้งฟังบรรยายจากวิทยากรของ Indian Business School (ISB) ที่เมืองไฮเดอราบาด ซึ่งเป็นสถาบันการสอน MBA ที่ดีที่สุดอันดับ 5 ของอินเดีย และอันดับ 20 ของโลก ผมเห็นว่าการบรรยายน่าสนใจ ก็เลยลองเรียบเรียงสรุปสาระสำคัญมาให้ทราบ
เวลามองอินเดีย อย่าคิดว่าเป็นประเทศที่มีเพียงภาพเดียวเหมือนกันหมดทั้งประเทศ อินเดียเป็นประเทศใหญ่อันดับ 7 ของโลก มีความหลากหลายทุกมิติ มีทั้งภูเขาสูงหิมะปกคลุม ทะเลทราย ป่าไม้ และชายหาด มีทั้งรัฐบาลกลางที่กรุงนิวเดลีและรัฐบาลท้องถิ่นของรัฐต่าง ๆ อีก 28 รัฐและ 7 ดินแดนสหภาพ (กำลังจะแยกเป็นรัฐใหม่อีก 1 รัฐ) เป็นแหล่งอารยธรรมดั้งเดิม มีการแพทย์อายุรเวช มีอาวุธนิวเคลียร์ มีฐานปล่อยจรวดเพื่อส่งดาวเทียมไปในอวกาศ แต่ก็ยังมีปัญหาสาธารณสุข ไฟฟ้าและน้ำประปาไม่เพียงพอ ในแง่เศรษฐกิจ มีความเหลื่อมล้ำของรายได้สูง มีชนชั้นกลาง-สูงที่มีรายได้มากกว่าหรือพอกับเมืองไทยกว่า 350 ล้านคน ขณะเดียวกันก็มีคนจนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน (Poverty Line) 296 ล้านคน ในแง่สังคม ก็มีความหลากหลายทั้งในเรื่องเผ่าพันธุ์ ศาสนา แถมยังมีเรื่องของวรรณะอีก มีภาษาราชการ 22 ภาษาที่ใช้กันอยู่ในภาคต่าง ๆ คนที่เคยมาอินเดียแล้วจึงบอกว่าอินเดียมีทั้งภาพของสวรรค์และนรกให้ดูอยู่ด้วยกัน เวลาพักอยู่ในโรงแรมระดับ 7 ดาวก็เหมือนอยู่บนสวรรค์ พอออกพ้นประตูโรงแรมก็เจอสลัม มูลวัว และขอทาน อยู่ตรงข้ามถนนเลย ดังนั้น เวลามองอินเดียจึงต้องทำใจเปิดกว้าง ยอมรับว่าอินเดียไม่ได้มีแต่ภาพที่แย่เพียงอย่างเดียวแต่มีภาพที่ดีด้วย
แม้เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจอินเดียเองก็ยังหนีไม่พ้นความคิดสุดขั้ว 2 ด้าน โดยนักเศรษฐศาสตร์อินเดีย 2 ท่านที่มีชื่อเสียงระดับโลก คนแรก คือนายอมาตยา เซน (Amartya Sen) ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ของ ม. ฮาร์วาร์ด และได้รับรางวัลโนเบลเมื่อปี 2541 กับนายจักดิช ภัควาติ (Jagdish Bhagwati) ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ของ ม.โคลัมเบีย ในสหรัฐอเมริกา ในหนังสือเล่มล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือน กรกฎาคม 2556 (An Uncertain Glory: India and its Contractions เขียนโดยนาย Jean Drèze และนาย Amartya Sen) นายเซน สนับสนุนรูปแบบการพัฒนาประเทศที่เน้นเพิ่มงบประมาณในเรื่องการศึกษา สาธารณสุขและด้านสังคม เพื่อลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนยากจนในอินเดียซึ่งกำลังกลายมาเป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกละเลยมากขึ้น โดยได้ยกตัวอย่างประเทศที่ได้ดำเนินการในเรื่องนี้และได้ผลในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เช่น บราซิล เม็กซิโก จีน และไทย ในขณะที่นายจักดิช ภัควาติ สนับสนุนรูปแบบการพัฒนาประเทศที่เน้นปล่อยให้กลไกตลาดทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ ให้มีการเปิดเสรีด้านการค้า สนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและนำไปสู่การขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวม เมื่อ GDP เติบโตสูงก็จะมีการสร้างงานและช่วยให้คนจนมีงานทำมากขึ้น อย่างไรก็ดีไม่ว่าจะมองจากมุมไหนของทั้ง 2 ขั้ว ผมเองก็คิดว่าทั้ง 2 ท่านคงหมายถึงความสำเร็จของจีนในการดำเนินนโยบายทั้ง 2 ขั้วนั่นเอง
ผลของกระแสโลกาภิวัตน์ยิ่งทำให้เห็นอินเดียมีรูปร่างหน้าตา 3 แบบในเวลาเดียวกัน แบบที่ 1 คือทำให้บางส่วนของอินเดียกลายเป็นเมืองไฮเทคที่เจริญแล้ว เช่น เมืองบังกะลอร์ มีบริษัทชั้นนำด้าน IT และ Software Development อย่างบริษัท Infosys บริษัทนี้เพิ่งก่อตั้งมาได้ 32 ปี แต่ปัจจุบันเป็นยักษ์ใหญ่ด้านบริการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ มีรายได้ปีละกว่า 7,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีพนักงานทั่วโลก 155,000 คน พอเข้าไปข้างในแล้ว ลืมไปเลยว่าอยู่ในอินเดีย ทั้งสำนักงานไม่มีการใช้กระดาษเลย เป็น Paperless Office ไปหมด ผู้คนที่ทำงานก็ดูเป็นคนรุ่นใหม่มีความรู้ด้าน IT สูง แบบที่ 2 คือ บางส่วนของอินเดียที่ขยับมาเป็นประเทศกำลังพัฒนา มีการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคในเมืองเพื่อรองรับคนที่โยกย้ายมาจากภาคเกษตร มีโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารพาณิชย์ทันสมัย และแบบที่ 3 คือ ส่วนที่ยังถูกละเลย มีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่แย่เทียบเคียงได้กับประเทศยากจนในแอฟริกา มีปัญหาความยากจนรุนแรง และเด็กขาดอาหาร และอย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้น ทั้ง 3 แบบนี้ก็มีให้เห็นอยู่ทั่วทั้งอินเดีย
เมื่ออินเดียมีความหลากหลายสุดขั้ว ทำไมถึงยังเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างชาติ ? นักลงทุนส่วนใหญ่มองความได้เปรียบของอินเดียใน 3 เรื่อง (1) มาใช้แรงงานมีฝีมือของอินเดีย เช่นในเรื่อง IT และ software (2) มาใช้ทรัพยากรของอินเดียซึ่งมีทุกชนิด แต่ยังขาดเงินลงทุน (3) มาอาศัยตลาดภายในประเทศอินเดียซึ่งใหญ่พอๆ กับจีน ตามสถิติล่าสุดของอินเดีย จำนวนเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมาสู่อินเดีย (FDI) ระหว่างปีงบประมาณ ค.ศ. 2000 – 2013 มีทั้งสิ้น 193,283 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละของ 3 กลุ่มข้างต้นเท่ากับ 7% - 17% - 68% (อีกร้อยละ 8 คือผสมผสานระหว่าง 3 กลุ่ม)
ในขณะนี้มีบริษัทไทยเข้ามาลงทุนในอินเดียหลายรายแล้ว เช่น ด้านอสังหาริมทรัพย์ (บ้านพฤกษา) อุตสาหกรรมอาหาร (ซีพี) เฟอร์นิเจอร์ (ร้อกเวิธ) อิเล็กทรอนิกส์ (เดลต้า) การก่อสร้าง (อิตาเลียนไทย) แต่ก็จะเห็นว่า เกือบทั้งหมดยังคงมองอินเดียในฐานะตลาดที่กำลังเติบโตสูง จึงเข้ามาบุกเบิกตลาดเพื่อขายสินค้าหรือบริการ ยกเว้นร้อกเวิธที่มาใช้อินเดียเป็นฐานการผลิตเฟอร์นิเจอร์แล้วส่งไปขายยังตะวันออกกลาง นักลงทุนไทยยังมิได้มองอินเดียว่าสามารถเป็นฐานในการใช้แรงงาน IT ที่มีฝีมือ หรือทรัพยากรที่อินเดียมี เพื่อมาเสริมฐานการผลิตสินค้าหรือบริการสำหรับธุรกิจไทยที่จะต้องออกไปแข่งขันในตลาดอาเซียนหรือภูมิภาคอื่น สถานทูตไทยเคยแนะนำ ปตท.สผ. ให้มาสำรวจแหล่งพลังงานของอินเดีย แต่ก็ดูเหมือนจะยังไม่ได้รับความสนใจ
อย่างที่บอกครับว่า อินเดียมีความหลากหลาย เสน่ห์ของอินเดียจึงอยู่ที่เราเข้าใจภาพต่าง ๆ เหล่านั้นและเลือกมาใช้ประโยชน์ อย่ามองอินเดียเพียงด้านเดียวและมองข้ามโอกาสในด้านอื่นๆ ที่ยังมีความน่าสนใจอยู่
โดยสุนทร ชัยยินดีภูมิ
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,867 วันที่ 4 -7 สิงหาคม พ.ศ. 2556