ฐานเศรษฐกิจ: มองอินเดียใหม่ (ตอนที่ 91 เอฟทีเอไทย/อาเซียน-อินเดีย เอกชนไทยต้องรีบใช้สิทธิ)
เอฟทีเอไทย/อาเซียน-อินเดีย เอกชนไทยต้องรีบใช้สิทธิ
เผลอแผล็บเดียว วันที่ 1 กันยายนนี้ ก็จะครบ 7 ปีบริบูรณ์พอดีที่ความตกลงเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอไทย-อินเดียเริ่มมีผลบังคับใช้ ทำให้ภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างไทยกับอินเดีย 82 รายการใน Early Harvest Scheme (EHS) ลดเหลือร้อยละศูนย์ (รายละเอียดดูได้จากเว็บไซต์กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ www.thaifta.com)
ที่ผ่านมา ถือว่าเอกชนไทยได้ใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอฉบับนี้ค่อนข้างเต็มที่ จากข้อมูลของกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในปี 2555 มีการใช้สิทธิเอฟทีเอไทย-อินเดียในการส่งออกไปอินเดียเป็นมูลค่าถึงเกือบ 700 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 70% ของมูลค่าสินค้าส่งออกที่ได้รับสิทธิ
สินค้าสำคัญที่ไทยใช้สิทธิส่งออกไปอินเดีย ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ เครื่องประดับเพชรพลอยทำด้วยโลหะมีค่า เม็ดพลาสติก (โพลิคาร์บอเนต) อะลูมิเนียมเจือ และเม็ดพลาสติก (อิพอกไซด์เรซิน) เป็นต้น
แต่ความกระตือรือร้นของผู้ส่งออกไทยดูเหมือนจะเป็นหนังคนละเรื่อง เมื่อพูดถึงการใช้สิทธิตามความตกลงเอฟทีเออาเซียน-อินเดีย (AIFTA) ซึ่งมีผลใช้บังคับไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553
จากสถิติในปี 2555 มีการขอใช้สิทธิเอฟทีเออาเซียน-อินเดียโดยเอกชนไทย แม้จะเป็นมูลค่าถึง 1.4 พันล้านดอลลาร์ แต่คิดเป็นเพียง 29% ของมูลค่าสินค้าส่งออกที่ได้รับสิทธิทั้งหมด โดยสินค้าที่มีการใช้สิทธิผ่านช่องทางนี้ได้แก่ เครื่องยนต์ดีเซล โพลิเมอร์ โทลูอีน แอร์คอมเพรสเซอร์ ผ้าใบยางรถ เอทีลีน ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ และเครื่องรับวิทยุ เป็นต้น
เหตุผลที่เอกชนไทยยังใช้ประโยชน์จากเอฟทีเออาเซียน-อินเดียน้อยเมื่อเทียบกับเอฟทีเอไทย-อินเดีย คงไม่น่าจะเป็นเพราะเอกชนไทยไม่รู้ว่าเรามีสิทธิ แต่อาจจะเป็นเพราะรูปแบบและความซับซ้อนของการใช้สิทธิ หรือระบบการทยอยลดภาษีแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้เป็น 0% แบบรวบหมดในคราวเดียวก็เป็นได้
ตามความตกลงอาเซียน-อินเดีย ไทยถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศอาเซียน 4 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย ที่จะได้รับสิทธิภาษี 0% จากอินเดีย สำหรับ 70% ของรายการสินค้า ตั้งแต่ 31 ธันวาคม 2556 และจะกลายเป็น 80% ปลายปี 2559 ขณะที่ประเทศอาเซียนที่เหลือจะได้รับสิทธินี้ในปี 2561
แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด เอกชนไทยที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิตามเอฟทีเอที่ไทยมีกับอินเดีย หรือคิดรีๆ รอๆ ให้โอกาสมาถึง คงต้องคอยจับตาเรื่องนี้เป็นพิเศษ เพราะขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจและการเมืองของอินเดียกำลังผันผวนจนอาจมีผลกระทบต่อความตกลงเอฟทีเอกับต่างประเทศ
เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ก็มีข่าวแว่วๆ ออกมาว่า กระทรวงการคลังอินเดียกำลังคิดที่จะทบทวนความตกลงเอฟทีเอกับหลายประเทศ รวมถึงกับไทยและอาเซียนด้วย เพราะที่ผ่านมาอินเดียขาดดุลการค้ากับเรามาโดยตลอด ทำให้อินเดียขาดดุลบัญชีเดินสะพัดขนาดหนัก
ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของอินเดียนับวันก็ยิ่งทวีความรุนแรง จนทำให้รัฐบาลอินเดีย ซึ่งต้องเร่งทำคะแนนก่อนการเลือกตั้งทั่วไปต้นปีหน้า ต้องพยายามหาทางเยียวยาแก้ไขอย่างเร่งด่วน
โดยมาตรการที่รัฐบาลอินเดียให้ความสำคัญเป็นพิเศษ คือการพยายามลดการนำเข้าสินค้าราคาแพงอย่างน้ำมันและทองคำ โดยอย่างหลังมีความเป็นไปได้ที่จะส่งผลกระทบต่อเอฟทีเอไทย-อินเดีย ในหมวดสินค้าเครื่องประดับทองคำ ที่ตอนนี้กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่อาจบานปลายถึงขั้นต้องถอดสินค้ารายการนี้ออกจากความตกลงเอฟทีเอไทย-อินเดียเลยก็เป็นได้
ดังนั้น ในช่วงที่เอฟทีเอไทย-อินเดีย และอาเซียน-อินเดีย ยังคงเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ส่งออกของไทยอยู่ เอกชนควรใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น เพราะการที่ธนาคารโลกคาดการณ์ไว้ว่า อินเดียจะเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 1 ใน 5 ของโลกในปี 2563 แสดงให้เห็นว่า โอกาสทางการค้าของไทยคงไม่ไปไหนไกลเกินดินแดนภารตะแห่งนี้แน่นอน
โดย ประพันธ์ สามพายวรกิจ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,875 วันที่ 1 - 4 กันยายน พ.ศ. 2556