ฐานเศรษฐกิจ: มองอินเดียใหม่ (ตอนที่ 92 ทีมประเทศไทยใส่เกียร์เดินหน้าแก้ปัญหาเอกชนไทยในอินเดีย)
ทีมประเทศไทยใส่เกียร์เดินหน้าแก้ปัญหาเอกชนไทยในอินเดีย
เมื่อพูดถึงบทบาทหน้าที่ของทีมประเทศไทยในอินเดีย การแก้ไขปัญหาที่เอกชนไทยประสบในการทำธุรกิจในอินเดีย ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญลำดับต้นๆ
เมื่อครั้งที่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินทางไปเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม 2555 ท่านก็ได้รับฟังปัญหาของเอกชน และได้ฝากให้ทีมประเทศไทยทั้งในอินเดียและที่กรุงเทพฯ หาแนวทางสนับสนุนภาคเอกชนอย่างเต็มที่
นั่นจึงเป็นที่มาของแนวคิดการจัดตั้งคณะทำงานเพื่ออำนวยความสะดวกการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนไทยในอินเดีย เพื่อบูรณาการการทำงานของภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีบีโอไอ กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นเจ้าภาพหลัก
บัดนี้ คณะทำงานดังกล่าวได้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาอย่างเป็นทางการแล้ว โดยมีทูตไทยประจำอินเดีย ในฐานะหัวหน้าทีมประเทศไทยในอินเดีย เป็นประธาน ประกอบด้วยผู้แทนหน่วยราชการในอินเดียที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนไทยที่ประกอบธุรกิจในอินเดียทั้งหมด
สำนักงานบีโอไอประจำเมืองมุมไบ ที่เพิ่งเปิดตัวไปสดๆ ร้อนๆ เมื่อเดือนมิถุนายน เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะทำงานนี้ และถือเป็นหัวแรงหลักในการขับเคลื่อนคณะทำงาน ซึ่งมีหน้าที่รวบรวมปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจในอินเดียจากภาคเอกชนไทย เพื่อนำไปหาแนวทางแก้ไข
คณะทำงานได้เริ่มทำงานกันไปแล้ว ด้วยการจัดการประชุมครั้งที่ 1 ไปเมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่เมืองมุมไบ โดยมีตัวแทนทีมประเทศไทยในอินเดีย รวมถึงภาคเอกชนไทย เช่น บริษัท อิตาเลียนไทย ฯ การบินไทย และธนาคารกรุงไทยเข้าร่วมถกปัญหาที่ภาคเอกชนประสบอยู่
เรื่องแรกที่เป็นเรื่องค่อนข้างเร่งด่วนคือ ความยากลำบากในการขอวีซ่าจากสถานทูตอินเดียในไทยไปทำงานหรือติดต่อธุรกิจในอินเดีย ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาความล่าช้าและไม่แน่นอน ทำให้กระทบต่อธุรกิจของเอกชนไทย
เรื่องนี้ แม้ทีมประเทศไทยที่กรุงเทพฯ นำโดยกระทรวงการต่างประเทศจะกำลังเร่งเจรจากับสถานทูตอินเดีย เพื่อเริ่มระบบวีซ่าเร่งด่วน (fast track) สำหรับบริษัทไทยที่เข้าเกณฑ์ ตามเจตนารมณ์ที่นายกรัฐมนตรีของทั้ง 2 ประเทศประกาศไว้เมื่อเดือนพฤษภาคมศกนี้ ที่ประชุมคณะทำงานเห็นพ้องกันว่า ต้องการเห็นหลักเกณฑ์และวิธีการยื่นคำร้องและระยะเวลาพิจารณาที่ชัดเจน ที่สำคัญที่สุดคือบุคคลที่ติดต่อได้ของสถานทูตอินเดียในกรณีที่คำร้องติดขัด จึงจะเป็นการแก้ปัญหาที่เป็นระบบอย่างแท้จริง
เรื่องที่ 2 คือ การแก้ปัญหาให้เอกชนไทยที่ทำงานในอินเดียที่ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพของอินเดียจำนวนมากและมีปัญหาการขอรับเงินคืนเมื่อต้องย้ายกลับประเทศไทย สิ่งที่ภาครัฐของไทย โดยสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กำลังเร่งทำเพื่อแก้ปัญหานี้ คือการจัดทำความตกลงประกันสังคมกับอินเดีย ซึ่ง สปส. เตรียมเสนอร่างความตกลงให้ฝ่ายอินเดียพิจารณาภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งคณะทำงานก็ได้ขอให้ทีมประเทศไทยในเมืองไทยให้ช่วยกันติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า
เรื่องสุดท้ายที่คณะทำงานได้หารือกัน ได้แก่ การจัดหาที่ดินอุตสาหกรรมให้กับภาคเอกชนที่ต้องการไปลงทุนในอินเดีย ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องของภาคเอกชนที่ประสบปัญหาการหาที่ดินในอินเดียเพื่อสร้างโรงงาน เรื่องนี้ ทีมประเทศไทยในอินเดียได้ไปทำการบ้านมาแล้ว โดยได้ไปบุกเบิก 2 รัฐที่มีศักยภาพ ได้แก่ รัฐคุชราต และรัฐมัธยประเทศ ซึ่งเป็นรัฐที่ผู้นำพร้อมให้การสนับสนุนเอกชนไทยที่รวมเป็นกลุ่มก้อน (cluster) ไปลงทุน ตอนนี้ก็รอเพียงให้เอกชนแสดงความจำนงมา ทีมประเทศไทยในอินเดียก็พร้อมพาคณะไปสำรวจและเจรจาพาที
ก็เรียกได้ว่าคณะทำงานเพื่ออำนวยความสะดวกการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนไทยในอินเดียนี้ก็ได้ผลักดันงานในส่วนที่ทีมประเทศไทยในอินเดียจะทำได้แล้ว ที่เหลือก็ต้องฝากไว้กับทีมประเทศไทยที่กรุงเทพฯ ที่จะช่วยผลักดันให้หน่วยงานต่างๆ ในไทยเร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยเหลือเอกชนไทยให้สามารถไปทำธุรกิจในอินเดียได้คล่องตัวมากขึ้น
โดย ประพันธ์ สามพายวรกิจ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,876 วันที่ 8 - 11 กันยายน พ.ศ. 2556