ฐานเศรษฐกิจ: มองอินเดียใหม่ (ตอนที่ 93: วิกฤตเศรษฐกิจกับเทศกาลเฉลิมฉลองของอินเดีย)
วิกฤติเศรษฐกิจกับเทศกาลเฉลิมฉลองของอินเดีย
ช่วงนี้ประเทศไหนๆก็ประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกสะเก็ดด้วยกันทั้งนั้นไม่ว่าประเทศใหญ่หรือประเทศเล็ก เพราะโลกเราทุกวันนี้ติดต่อเชื่อมโยงกันหมด ยิ่งถ้าประเทศใหญ่เกิดเป็นไข้หวัดขึ้นมาเมื่อไหร่ แค่ไอแคกๆ 2-3 ทีก็สามารถทำให้เชื้อไข้หวัดแพร่กระจายติดต่อกันไปได้ทั้งโลกเหมือนอย่างตอนนี้กันเลยทีเดียว
ยิ่งประเทศอินเดียแล้วยิ่งไปกันใหญ่ เพราะไหนจะเจอเชื้อไข้หวัดติดต่อมาจากภายนอกแล้วก็ยังต้องมาผจญกับโรคร้ายภายในตัวอีกต่างหาก จนในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาอาการของอินเดียดูไม่ค่อยดีนัก ถ้าเป็นนักมวยก็ต้องบอกว่าเริ่มออกอาการ ประเภทชกไปมองหน้าพี่เลี้ยงไปกันเลยทีเดียว เพราะจากตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆที่เปิดเผยออกมาโดยรัฐบาลอินเดียเองดูจะพลาดเป้าไปหมด อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจก็อยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมาย
โดยล่าสุดกระทรวงการคลังอินเดียได้ประกาศตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2556-57 (1 เมษายน-30 มิถุนายน 2556) อยู่ในระดับแค่ 4.2% เท่านั้น ซึ่งเป็นผลมาจากภาคการผลิตที่ถดถอยลงและเริ่มจะลามไปยังภาคบริการซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของอินเดียอีกด้วย รวมไปถึงปัญหาเงินเฟ้อซึ่งอยู่ที่อัตราเกิน 5% แต่ปัญหาสำคัญในขณะนี้ของรัฐบาลอินเดียคือ การอ่อนค่าและความไร้เสถียรภาพของเงินรูปีซึ่งในปีงบประมาณปัจจุบัน (2556-57) ได้อ่อนค่าลงเกือบ 20% แล้ว โดยมีบางช่วงค่าเงินรูปีร่วงทะลุ 68 รูปีต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เลยทีเดียว
แต่ท่ามกลางวิกฤติก็ย่อมมีโอกาสเสมอ ด้วยความที่เงินรูปีในช่วงที่ผ่านมาอ่อนค่าลงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ เลยส่งผลให้อินเดียสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลโดยมูลค่าการส่งออกของอินเดียในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเป็นมูลค่า 26.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้น 13% ในขณะที่การนำเข้าในเดือนเดียวกันลดลงเหลือมูลค่า 37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือลดลง 0.68% โดยรายการสินค้าสำคัญที่มีการนำเข้าลดลงอย่างมหาศาลคือ ทองคำ ซึ่งลดลงจาก 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนกรกฎาคม เหลือเพียง 650 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น ส่งผลให้อินเดียมีสถานะขาดดุลการค้าต่ำที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าการขาดดุลการค้าในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา 10.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งส่งผลช่วยลดแรงกดดันต่อปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่เป็นปัญหาอมตะนิรันดร์กาลของอินเดียอีกด้วย
แล้วอยู่ดีๆก็มีพระเอกขี่ม้าขาวมาช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้นอีก โดยเมื่อวันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา ธนาคารกลางของอินเดียได้แต่งตั้ง Mr. Raghuram Rajan ขึ้นเป็นผู้ว่าการธนาคารกลางคนที่ 23 แทนMr. D. Subbarao ที่เพิ่งพ้นตำแหน่งไปหลังจากได้รับการต่ออายุมา 5 ปี
ทันทีที่เข้ารับตำแหน่ง ผู้ว่าการธนาคารกลางคนใหม่ได้แถลงนโยบายพร้อมกับมาตรการต่างๆโดยเน้นที่จะทำให้เงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้าประเทศได้ง่ายขึ้น ซึ่งก็ถูกอกถูกใจแฟนนานุแฟนเป็นอย่างยิ่ง ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ดีดตัวขึ้นรับทันทีพร้อมกับค่าเงินรูปีก็แข็งค่าขึ้นและมีเสถียรภาพอยู่ในระดับ 63-64 รูปีต่อดอลลาร์สหรัฐฯ มาประมาณ 1 สัปดาห์แล้ว แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากการที่สหรัฐอเมริกาตัดสินใจชะลอการบุกซีเรียด้วย อย่างว่าแหละครับบทจะดีขึ้นมาอะไรๆก็ดีไปหมดแบบพรวดพราดเลยทีเดียว
ตอนนี้ก็ต้องมาลุ้นกันต่อว่าอาการเริ่มสร่างไข้ของเศรษฐกิจอินเดียนี้จะต่อเนื่องยาวนานไปสักแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ ถ้าอาการสร่างไข้เริ่มต้น ณ จุดนี้ ผมคิดว่าน่าจะเป็นจังหวะที่ดีมากๆ เนื่องจากตั้งแต่วันที่ 9 กันยายนเป็นต้นมา เริ่มเป็นช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองสำคัญของอินเดียแล้ว คือ เทศกาลคเณศจตุรถี หรือวันกำเนิดของพระพิฆเนศต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 18 กันยายนซึ่งเป็นวันอนันตจตุรถี อันเป็นวันที่จะมีการอัญเชิญเทวรูปพระพิฆเนศแห่ลงสู่แม่น้ำและทะเล หลังจากนั้นก็จะตามมาด้วยเทศกาลนวราตรีที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 5 ตุลาคมเป็นเวลา 9 วัน และจะตามมาด้วยเทศกาลดุชเซห์รา และเทศกาลสำคัญที่สุดในช่วงวันที่ 3-7 พฤศจิกายน คือ เทศกาลดิวาลีซึ่งวันแรกของเทศกาลนี้จะเป็นวันธันธีระ (Dhanteras) ซึ่งถือเป็นวันสำคัญที่ผู้คนจะออกมาซื้อทองคำกันเพื่อเป็นสิริมงคล
พอหมดเทศกาลของอินเดียก็จะตามมาด้วยเทศกาลคริสต์มาสและเทศกาลปีใหม่ต่อไป ซึ่งเทศกาลเฉลิมฉลองทั้งหมดนี้น่าจะทำให้คนอินเดียอยู่ในอารมณ์อยากจับจ่ายใช้สอยเพราะต้องซื้อของขวัญเพื่อมอบให้กันในเทศกาลสำคัญเหล่านี้อยู่แล้วตามประเพณี
ก็ขอภาวนาและหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเศรษฐกิจอินเดียคงจะดีวันดีคืนฟื้นไข้หายสนิทเสียที อย่างน้อยจากนี้ไปจนถึงสิ้นปีก็ยังพอมีความหวังว่าเทศกาลเฉลิมฉลองสำคัญเหล่านี้จะกระตุ้นให้คนอินเดียลุกขึ้นมาจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้น เราก็จะได้ส่งออกสินค้าจากประเทศไทยมาให้คนอินเดียเขาได้จับจ่ายกันได้มากขึ้นเท่านั้นเอง...ไม่ได้เห็นแก่ตัวแต่ประการใด
โดย อดุลย์ โชตินิสากรณ์
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองมุมไบ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,879 วันที่ 15 - 18 กันยายน พ.ศ. 2556