ฐานเศรษฐกิจ: มองอินเดียใหม่ (ตอนที่ 95 - รูปี รูเปีย กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย)
นอกเหนือจากชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากเป็นอันดับ 1 แล้ว นักท่องเที่ยวชาวอินเดียก็เป็นอีกชาติที่นิยมเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย จากสถิติปี 2555 นักท่องเที่ยวชาวอินเดียติด 1 ใน 10 นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนไทยมากที่สุด โดยอยู่ที่อันดับ 6 ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวมากกว่า 1 ล้านคน
สถิติดังกล่าวไม่เป็นที่น่าแปลกใจ เพราะประเทศไทยถือเป็นจุดหมายการเดินทางในต่างประเทศอันดับ 1 ของชาวอินเดีย จำนวนนักท่องเที่ยวอินเดียที่เดินทางมาไทยสูงกว่าที่เดินทางไปประเทศอื่นทั่วโลก โดยเฉพาะสิงคโปร์ที่เคยเป็นแชมป์มายาวนาน โดยนอกจากการไปเที่ยวชมวัดวาอารามที่กรุงเทพฯ และชายหาดอันสวยงามที่พัทยาแล้ว ชาวอินเดียยังชื่นชอบการช็อปปิ้งยิ่งกว่าอื่นใด
แต่การจะรักษาอันดับ 1 ในใจนักท่องเที่ยวชาวอินเดียถือเป็นเรื่องที่ท้าทายขึ้นทุกทีและคนไทยทุกคนต้องช่วยกัน โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมา ค่าเงินรูปีอ่อนค่าลงอย่างมากทำให้การเดินทางมาท่องเที่ยวและจับจ่ายซื้อสินค้าในประเทศไทยที่เคยมีราคาถูกกว่าในอินเดีย กลับมีราคาแพงขึ้น และอาจทำให้ประเทศไทยเสียตำแหน่งแดนสวรรค์สำหรับการช็อปปิ้งของชาวอินเดียได้
ในปี 2552 (ค.ศ.2009 ดังแผนภูมิประกอบ) อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินรูปีกับเงินบาทอยู่ที่ประมาณ 1 รูปีต่อ 0.8 บาท แต่ในช่วงเวลาเพียง 4 ปี เงินรูปีอ่อนค่าไปถึง 40% มาอยู่ที่ประมาณ 1 รูปีต่อ 0.5 บาท และผันผวนอย่างมากในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 (ค.ศ. 2013) ซึ่งแน่นอน ทำให้เงินรูปีมีค่าน้อยลงในไทย การใช้จ่ายในไทยต้องใช้เงินรูปีมากขึ้นสำหรับจำนวนเงินบาทที่เท่าเดิม
แม้รัฐบาลอินเดียเองจะไม่ได้นิ่งนอนใจ ทำการเปลี่ยนตัวผู้ว่าการธนาคารแห่งอินเดียคนใหม่ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงจบปริญญาเอกจากสถาบันชั้นนำของโลกอย่าง MIT และออกนโยบายด้านการเงินใหม่ๆ เพื่อเร่งแก้ปัญหาค่าเงิน แต่ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะแก้ไขได้อย่างเบ็ดเสร็จรวดเร็วเพียงพอ
แต่ในขณะที่หลายคนอาจมองว่า วิกฤติเงินรูปีอ่อนค่านี้น่าจะกระทบต่อการท่องเที่ยวไทยอย่างจัง และจำนวนนักท่องเที่ยวอินเดียน่าจะลดลงอย่างทันตาเห็น สถิติชาวอินเดียที่มายื่นขอวีซ่าที่สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตา ในรอบเดือนมกราคม-สิงหาคมที่ผ่านมา กลับแสดงให้เห็นว่าไม่ได้เป็นไปตามตรรกะนั้น เพราะจำนวนผู้มาขอวีซ่าเพิ่มขึ้นถึง 34% จากช่วงเดียวกันของปี 2555
เหตุผลที่ผลกระทบเงินรูปีอ่อนค่ากลับตาลปัตรก็คือ สำหรับนักท่องเที่ยวอินเดียระดับพรีเมียม ประเทศไทยยังคงเป็นสวรรค์ของการใช้ชีวิตหรูหรา การช็อปปิ้งสินค้าแบรนด์เนมที่มีราคาถูกกว่าที่อินเดีย แถมยังได้ Vat Refund คืนจากรัฐบาลไทยอีกต่างหาก แม้ค่าเดินทางและค่ากินอยู่จะแพงขึ้นสักหน่อย แต่ก็ไม่มีผลกับขนหน้าแข้งของชาวอินเดียร่ำรวยกลุ่มนี้สักเท่าไหร่
นอกจากนี้ ประเทศไทยก็ยังได้อานิสงส์จากเงินรูปีอ่อนค่า นักท่องเที่ยวระดับซูเปอร์พรีเมียม ซึ่งปกติจะนิยมการเดินทางท่องเที่ยวในยุโรปหรืออเมริกา เปลี่ยนแผนหันมาท่องเที่ยวใกล้บ้านเพื่อประหยัดทรัพย์กันใหญ่
ตอนนี้ก็คงอยู่ที่เราเองว่าจะพลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้เพียงใด หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคเอกชน ผู้ประกอบการไทยคงต้องเร่งชูประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวสุดหรู (แต่ราคาเป็นกันเอง) กับนักท่องเที่ยวพรีเมียมชาวอินเดียกลุ่มนี้ให้ได้
ภาครัฐอาจนำด้วยการมีแคมเปญโปรโมตลักชัวรีไทยแลนด์ ออกมาตรการมาดึงดูดนักช็อปแบรนด์เนมด้วยการลดและอำนวยความสะดวกด้านภาษี ขณะที่ภาคเอกชนก็ต้องปรับจูนธุรกิจให้ตรงกับความต้องการของมหาราชาชาวอินเดียเหล่านี้ ที่นอกจากการปฏิบัติด้วยอย่างราชา พวกเขายังคาดหวังการบริการด้วยรอยยิ้ม และการให้เกียรติจากเราด้วย
เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้ ก็จะเข้าสู่ฤดูกาลแห่งเทศกาลสำคัญของอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลปูจาหรือดิวาลี ซึ่งเป็นช่วงวันหยุดยาวแบบเดียวกับเทศกาลสงกรานต์บ้านเรา ชาวอินเดียจำนวนมากนิยมเดินทางไปพักผ่อนต่างประเทศและจับจ่ายใช้สอยกันอย่างหนักหน่วง จึงน่าจะเป็นโอกาสสำคัญที่เราจะรุกจับกลุ่มนักท่องเที่ยวอินเดียระดับบนให้อยู่หมัด สร้างความประทับใจแบบไม่รู้ลืม เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาดการท่องเที่ยวหรูหราและสร้างแบรนด์ Luxury Thailand ในสายตานักท่องเที่ยวอินเดียให้จงได้
โดย ภาณุภัทร ชวนะนิกุล
ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,883 วันที่ 29 กันยายน - 2 ตุลาคม พ.ศ. 2556