ฐานเศรษฐกิจ: มองอินเดียใหม่ (ตอนที่ 96 สูตรลับไม่เฉพาะของชาดาร์จิลิ่ง)
ผู้อ่านหลายคนคงเคยชมภาพยนตร์การ์ตูนเรื่อง Kung Fu Panda ที่โป แพนด้าตัวเอกของเรื่องจับพลัดจับผลูได้เป็น "นักรบมังกร" โดยที่ไม่เคยเรียนกังฟูมาก่อนเหมือนกับศิษย์เอกคนอื่นๆ ในสำนัก
หลังฝึกฝนอย่างหนัก นักรบมังกรจะได้เปิดอ่านคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของสำนัก ที่มีสูตรลับเฉพาะสำหรับการเป็นนักรบมังกรที่สมบูรณ์เขียนอยู่ แต่จริงๆ แล้วไม่ได้เขียนอะไรในนั้น เป็นเพียงเงาของคนเปิดอ่านสะท้อนออกมาจากคัมภีร์
การ์ตูนเรื่องนี้ สื่อให้ผู้ชมเห็นว่า ไม่มีเคล็ดลับวิเศษหรือตัวช่วยชั้นเลิศอะไรที่จะเป็นทางลัดไปสู่ความสำเร็จเป็น "นักรบมังกร" ที่แท้จริง นอกจากความพยายามพัฒนาศักยภาพของตัวเอง
ปรัชญาเรื่องนี้ ใช้ได้เหมือนกันกับการผลิตชาดาร์จิลิ่ง ชาดีที่หลายคนอาจจะไม่รู้จัก แต่คอชาชั้นครูยกนิ้วให้ว่าเป็นชาคุณภาพเลิศ
ชาเป็นเครื่องดื่มในชีวิตประจำวันที่ฝังรากลึกในอินเดีย ชานมใส่เครื่องเทศหรือ จัย (Chai) เป็นเครื่องดื่มสำหรับการต้อนรับผู้มาเยือน และดื่มทั่วไปในวงเสวนาเพิ่มอรรถรสกับเพื่อนและญาติมิตร
อินเดียเป็นหนึ่งใน 69 ประเทศในโลกที่ผลิตชา และเป็นประเทศผู้ผลิตและบริโภคชาอันดับต้นๆ ชาอินเดียที่โด่งดังจะมาจาก 2 แหล่ง คือ ชาอัสสัมและชาดาร์จิลิ่ง
ชาอัสสัม ใช้พันธุ์ชาของตัวเอง ปลูกบนพื้นที่ในรัฐอัสสัมที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุลึกลงไปในดินกว่า 10 นิ้ว ผู้ผลิตชาที่นั่นจึงสามารถสร้างผลิตชาปริมาณมากๆ เพราะมีความพร้อมของสภาพแวดล้อม จัยที่คนอินเดียชอบจิบ ก็มักจะใช้ชาอัสสัม
ในขณะที่ชาดาร์จิลิ่งที่ใช้พันธุ์ชาจีน ปลูกบนพื้นที่ที่มีชั้นแร่ธาตุในดินลึกเพียง ½ นิ้ว การจะแข่งขันกับชาอัสสัมที่มีต้นทุนทางธรรมชาติดีกว่า จึงเป็นไปไม่ได้ ที่นี่จึงเน้นเรื่องคุณภาพการผลิตแทนปริมาณ
ไร่ Makaibari ที่เมือง Kurseong ในเขตดาร์จิลิ่งของรัฐเบงกอลตะวันตก เป็นตัวอย่างของการผลิตชาด้วยวิธีทางธรรมชาติ ปลอดสารเคมี และคำนึงถึงความสมดุลในระบบนิเวศ รวมถึงความสัมพันธ์อันดีกับชุมชนโดยรอบที่เป็นแรงงานของไร่
โรงงานชา Makaibari เป็นโรงงานชาแห่งแรกของโลก ก่อตั้งโดยตระกูล Banerjee ตั้งแต่ปี ค.ศ.1859 ปัจจุบันนาย Rajah Banerjee ที่ยังแข็งแรงในวัยหกสิบเศษ เป็นเจ้าของโรงงาน
Mr.Banerjee ใช้วิธีคงกลไกธรรมชาติให้อยู่ร่วมกับไร่ชาอย่างสมดุล ที่ดินทั้งหมดของไร่กว่า 1,672 เอเคอร์ ถูกนำมาใช้เป็นพื้นที่ปลูกชาเพียง 550 เอเคอร์ ส่วนที่เหลือยกให้ป่าและสิงสาราสัตว์รวมถึงเสือได้อาศัย
Makaibari ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง แต่ใช้กลไกธรรมชาติของแมลงและสัตว์ควบคุมกันเอง การอบใบชาใช้พลังงานชีวภาพ นาย Banerjee ยังใช้ปุ๋ยอินทรีย์และตัดเศษพืชมาคลุมดินในไร่ เพื่อรักษาความชุ่มชื้นของหน้าดินเอาไว้ ไม่ต้องรดน้ำพุ่มชาบ่อยๆ
คนงาน 650 คน ที่มีอายุระหว่าง 18-60 ปี ใน Makaibari ทำงานกับนาย Banerjee ด้วยความผูกพัน บางคนทำงานด้วยความชำนาญมามากกว่า 30 ปี
Makaibari เรียกแรงงานเหล่านี้ว่าสมาชิกชุมชน กิจการโฮมสเตย์ ( Homestay) ของไร่ที่มักจะมีชาวต่างชาติมาพักอาศัย บางคนขออยู่ต่อเพื่อช่วยเหลือให้บริการสุขภาพให้คนเหล่านี้
สูตรลับของชาดาร์จิลิ่งจึงเป็นการผลิตชาด้วยคุณภาพ เอาใจใส่ และพิถีพิถันทุกขั้นตอน โดยคำนึงถึงธรรมชาติและความสมดุลเป็นเรื่องหลัก
Mr.Banerjee ให้ความสำคัญกับเอกลักษณ์ของชาที่นี่ เพราะต้นทุนธรรมชาติสู้แหล่งอื่นไม่ได้ และก็ประสบความสำเร็จ เพราะตราประกันคุณภาพอย่าง Fairtrade หรือ Japan Agricultural Standard (JAS) ก็ให้การรับรอง
สำหรับMr.Banerjee เอกลักษณ์จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีการสร้างสมรรถภาพ (Capacity-building) บวกกับความเข้าใจและรู้จักตนเอง รวมถึงสร้างความรับรู้ของคุณค่าสินค้าให้กับลูกค้า (awareness)
Mr.Banerjee ศึกษาเรื่องชามาทั้งชีวิต อุทิศและทุ่มเททำงานอย่างหนัก จนสามารถสร้างองค์ความรู้ในเรื่องการผลิตชาเป็นของตัวเอง
สูตรลับของชาดาร์จิลิ่งที่ไร่ Makaibari ก็คือ ความเข้าใจในข้อจำกัดของตัวเอง และหาความแตกต่างในสิ่งที่ทำขึ้นมาด้วยความเอาใจใส่เกินร้อย
เมื่อถามถึงเรื่องชาไทย นาย Banerjee ซึ่งเคยไปบรรยายที่เชียงราย แหล่งปลูกชาสำคัญของไทย เล่าว่า อากาศและภูมิประเทศทางภาคเหนือของไทยสมบูรณ์กว่าดาร์จิลิ่ง เหมาะกับการปลูกชาอย่างยิ่ง แต่วิธีการปลูกชาที่ไทยยังไม่ถูกทาง
การผลิตที่คำนึงถึงสมดุลทางธรรมชาติและความยั่งยืนแบบ Makaibari อาจเป็นสูตรลับไม่เฉพาะสูตรหนึ่งที่ผู้ผลิตชาไทยสามารถเอาไปประยุกต์ใช้ เพื่อพัฒนาคุณภาพและกระบวนการผลิต
ไม่แน่ ชาไทยอาจจะมีโอกาสก้าวเป็นชาระดับโลก เป็น "นักรบมังกร" เหมือนกับชาดาร์จิลิ่งก็ได้
โดย คณิน บุญญะโสภัต
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,885 วันที่ 6-9 ตุลาคม พ.ศ. 2556