ฐานเศรษฐกิจ: มองอินเดียใหม่ (ตอนที่ 97 เอฟทีเอไทย-อินเดีย : โยคะแลกนวดไทย ใครได้ ใครเสีย)
ช่วงนี้ การเจรจาเขตการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ ระหว่างไทยกับประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างอินเดีย กลับมาเป็นข่าวในสื่ออินเดียกันอีกครั้ง
ครั้งนี้ หนังสือพิมพ์อินเดียฉบับหนึ่งพาดหัวข่าว "อินเดียเสนอแลกโยคะกับนวดไทย" พร้อมรายงานว่า รัฐบาลอินเดียมีไอเดียจะเสนอไทยให้ยกเว้นภาษีสำหรับผู้ให้บริการโยคะชาวอินเดียในไทย แลกกับการยกเว้นภาษีให้กับธุรกิจนวดของคนไทยในอินเดีย
ข่าวนี้หากเป็นจริง ก็น่าจะเป็นความประสงค์ดีของฝ่ายอินเดียที่อยากเห็นการเจรจาเอฟทีเอที่คั่งค้างมานานโดยเฉพาะในภาคบริการ เดินหน้าต่อไปและบรรลุผลได้ในเร็ววัน ตามเจตนารมณ์ของผู้นำทั้งสองประเทศที่ประกาศไว้ร่วมกันที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายไทยก็คงต้องพิจารณาให้ดี ว่าผลประโยชน์ไทยในเรื่องนี้อยู่ตรงไหน ประเด็นหลักไม่น่าจะอยู่ที่ว่า เราจะได้อะไรจากโยคะอินเดีย แต่น่าจะอยู่ที่ธุรกิจบริการนวดไทยว่าจะได้ประโยชน์มากน้อยเพียงใด หากมีการแลกเปลี่ยนนี้เกิดขึ้น
จากประสบการณ์ในอินเดียกว่า 2 ปีของผู้เขียน คงต้องบอกว่า ธุรกิจนวดและสปาโดยคนไทยในอินเดียยังไม่ครึกครื้นเท่าไรนัก เมื่อเทียบกับในประเทศอื่นๆ
แม้จะมีร้านนวด"ไทย" ผุดให้เห็นไปทุกหนทุกแห่ง แต่ส่วนใหญ่ยังดำเนินการโดยคนอินเดีย นวดโดยคนอินเดีย
เหตุผลหลักที่ทำให้ผู้ประกอบการหรือพนักงานนวดไทยยังไม่ค่อยเข้าไปในอินเดีย ก็คือการขาดความสนใจในประเทศอินเดียเป็นทุนเดิม ไม่ว่าจะเป็นเพราะขาดความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโอกาสธุรกิจในอินเดีย หรือ ยังมีทัศนคติเก่าๆ มองอินเดียแบบเดิมๆ
นอกจากนี้ นโยบายปกป้องงานให้หนุ่มสาวชาวอินเดียที่กำลังพรั่งพรูเข้าสู่ตลาดแรงงานท้องถิ่นของรัฐบาลอินเดียก็เป็นอุปสรรคไม่น้อย
การกำหนดรายได้ขั้นต่ำแรงงานต่างชาติสูงถึง 25,000 ดอลลาร์ (750,000 บาท) ต่อปี ทำให้ผู้ประกอบการหรือผู้ให้บริการนวดไทยไม่สามารถเข้าไปแข่งขันในตลาดอินเดียได้สะดวก ต้องยอมหลีกทางให้พนักงาน "นวดไทย" จากภาคอีสานของอินเดีย ที่หน้าตาละม้ายคล้ายคนไทย ค่าแรงถูกกว่า แต่ฝีมือการนวดอาจผิดไปจากต้นตำรับ
แต่สิ่งที่ควรต้องคำนึงถึงอีกอย่าง นอกจากผลประโยชน์ด้านธุรกิจ คือปัญหาการลักลอบเข้าไปให้บริการนวดไทยแบบผิดกฎหมาย รวมถึงการลักลอบค้าประเวณีในอินเดีย ซึ่งเริ่มมีให้เห็นมากขึ้น
จากข้อมูลของกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ พบว่า อินเดียกำลังเป็นเป้าหมายใหม่ของขบวนการค้ามนุษย์ที่หลอกลวงหญิงไทยไปทำงานนวดสปาและค้าประเวณีอย่างเป็นระบบ
สถิติการให้การช่วยเหลือแก่หญิงไทยกลุ่มดังกล่าวของสถานทูตและสถานกงสุลในอินเดีย เป็นเครื่องยืนยันได้
ที่ผ่านมาหน่วยงานเหล่านี้ได้รับการร้องขอความช่วยเหลือมากขึ้น ทั้งกรณีที่ลักลอบเข้าไปทำงานนวดด้วยวีซ่าท่องเที่ยว ผ่านเอเยนต์เถื่อนที่ได้ยินมาปากต่อปาก แต่มาแล้วกลับไม่ได้ค่าจ้างตามที่ตกลง (ปากเปล่า) ไว้ บ้างก็ทนรับสภาพการทำงานในอินเดียไม่ไหว รวมถึงที่ถูกจับข้อหาค้าประเวณีก็มีให้เห็นมากขึ้นเช่นกัน
แต่นวดไทยใช่ว่าจะไม่มีโอกาสในอินเดียเสียทีเดียว มีพนักงานนวดไทยจำนวนหนึ่งที่ฉลาดเลือก สมัครทำงานในสปาตามโรงแรมหรู หรือบริษัทยักษ์ใหญ่ของอินเดียที่มีสปาไว้คอยบริการพนักงานตนเอง
บริษัทเหล่านี้ นอกจากจะเชื่อถือได้แล้ว ยังให้ค่าจ้างคุ้มเหนื่อย (บางรายเดือนละเกือบแสนบาท) มีสวัสดิการดูแลอย่างดี ที่สำคัญคือมีการทำสัญญาถูกต้องตามกฎหมาย
การแลกนวดไทยกับโยคะอินเดียจึงไม่ใช่สมการที่ง่ายอย่างที่คิด มีทั้งผลดี ผลเสีย ผู้ได้ ผู้เสีย หากฝ่ายอินเดียเสนอไอเดียนี้จริงตามข่าว ฝ่ายไทยก็คงต้องทำการบ้านอีกมาก
ทั้งเรื่องการกระตุ้นความสนใจของผู้ประกอบการไทย การขอให้ฝ่ายอินเดียผ่อนปรนกฎระเบียบที่ยังเป็นอุปสรรค การเข้าถึงตลาดที่มีคุณภาพ และที่สำคัญ การหาแนวทางไม่ให้เอฟทีเอนี้เป็นดาบสองคม ส่งเสริมขบวนการที่ไม่น่าอภิรมย์ให้ได้รับผลประโยชน์
ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องที่ทีมเจรจาฝ่ายไทยจะต้องพิจารณาและต่อรองกับฝ่ายอินเดีย เพื่อให้ไทยได้ผลประโยชน์มากที่สุด และเกิดความเสียหายน้อยที่สุด
แต่หากท้ายสุด ธุรกิจบริการนวดไทยยังไม่ใช่เป้าหมาย ก็ยังมีงานบริการสาขาอื่นๆ ที่ไทยมีศักยภาพในอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว สุขภาพ การบิน และการก่อสร้าง ที่ทีมเจรจาสามารถส่งเสริมและใช้เป็นเครื่องมือต่อรองของฝ่ายไทยได้อีก
โดย ประพันธ์ สามพายวรกิจ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,887 วันที่ 13-16 ตุลาคม พ.ศ. 2556