ฐานเศรษฐกิจ: มองอินเดียใหม่ (ตอนที่ 98 Incredible India ท่องแดนมหัศจรรย์อินเดีย)
อินเดียมีความมหัศจรรย์ เป็น Incredible India มากกว่ามุมมองด้านการท่องเที่ยวที่ผู้ตั้งสโลแกนนี้ คือการท่องเที่ยวแห่งอินเดีย (India Tourism) ตั้งใจไว้แต่เดิมจริง ๆ
มองอินเดียใหม่สัปดาห์นี้ อยากนำท่านผู้อ่านท่องอินเดีย เพื่อชมความมหัศจรรย์นี้ที่คนอินเดียจำนวนมากภาคภูมิใจ โดยเฉพาะในแง่มุมความสำเร็จของการปฏิวัติการเกษตรและปฏิรูปเศรษฐกิจของอินเดียในช่วงกว่า 40 ปีที่ผ่านมา
เชื่อหรือไม่ว่า ในช่วง ปี 2483-2513 (ค.ศ. 1940-1970) ยังมีคนอินเดียต้องประสบทุพภิกขภัยขาดแคลนอาหารถึงขั้นเสียชีวิตจำนวนไม่น้อยในแต่ละปี รัฐบาลอินเดียสมัยนั้นต้องใช้วิธีนำเข้าอาหาร โดยเฉพาะข้าวสาลี เพื่อมาเลี้ยงประชาชน
แต่เมื่อปี 2513 รัฐบาลอินเดียภายใต้การนำของนางอินทิรา คานธี ได้เริ่มการปฏิวัติเกษตรกรรม หรือที่ทั่วโลกเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Green Revolution ส่งผลให้อินเดียสามารถผลิตอาหารเลี้ยงพลเมืองได้ทั่วประเทศ ที่น่าทึ่งคือปัจจุบันอินเดียสามารถผลิตข้าวเลี้ยงประชากรมากกว่า 1,200 ล้านคนได้ แล้วยังเหลือข้าวพอส่งออกไปขายในต่างประเทศได้ด้วย
การปฏิรูปเศรษฐกิจของอินเดียก็น่าอัศจรรย์ไม่แพ้กัน
นรสิงห์ ราว หลังจากดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมแบบปิดมาตลอด ตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี 2490 อินเดียเริ่มการปฏิรูปเศรษฐกิจ (Economic Reform หรือ Economic Liberalization) เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2534 ในสมัยที่นายนรสิงห์ ราว (ชื่อท่านในภาษาฮินดีเป็นแบบนี้ ไม่ใช่ นรสิมหา ราว หรือ Narasimha Rao แบบที่เขียนจากภาษาอังกฤษหรอกครับ) เป็นนายกรัฐมนตรี และนายมันโมหัน สิงห์ (ชื่อท่านนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของอินเดียอ่านแบบฮินดีอีกนั่นแหละ ไม่ใช่ มานโมหัน ซิงห์ หรืออะไรอื่นทั้งนั้นครับ เพราะคำว่า สิงห์ แปลว่า ราชสีห์ ไม่ใช่ ซิงห์ ซึ่งไม่มีความหมาย) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อินเดียประสบภาวะวิกฤติทางการเงินอย่างหนัก คือมีเงินตราต่างประเทศน้อยมาก (balance of payment crisis) จนต้องขอกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งก็ให้กู้แต่มีเงื่อนไขหลายประการ รวมถึงต้องปฏิรูประบบเศรษฐกิจด้วย
พอเลือกที่จะเดินเส้นทางปฏิรูประบบเศรษฐกิจแล้ว นายมันโมหัน สิงห์ ก็ต้องทำงานหนัก เพื่อเปิดให้มีการค้าขายกับต่างประเทศ เปิดให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในอินเดียได้ ผ่อนปรนกฎระเบียบด้านการค้าการลงทุนเพื่อให้การดำเนินธุรกิจทำได้ง่ายขึ้น แปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ใหญ่ ๆ ที่ขาดทุน เป็นต้น
การปฏิรูประบบเศรษฐกิจดังกล่าวส่งผลดีให้เห็นอย่างน่าชื่นใจเรื่อยมาและดีที่สุดในปี 2550 เมื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP growth rate) ของอินเดียมีถึง 9% แม้ว่าในปี 2555-56 จีดีพีโตเพียง 4% ก็ตาม แต่คนอินเดียโดยรวมมีกินมีใช้กันมากขึ้น เมื่อปี 2555 คนอินเดียมีรายได้ต่อหัว (GDP per capita - PPP) คนละ 3,829 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่าตัว จากปี 2534 ก่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจ ซึ่งรายได้เฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ประมาณ 900 ดอลลาร์สหรัฐฯ
การปฏิวัติเกษตรกรรมที่เริ่มในปี 2513 ส่งผลให้อินเดียสามารถผลิตอาหารเลี้ยงพลเมืองได้ทั่วประเทศ เมื่ออินเดียเริ่มเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ ธุรกิจไทยเราโดยเฉพาะอย่างยิ่งยักษ์ใหญ่หลายบริษัทก็ได้รับอานิสงส์ จึงเริ่มเข้าไปลงทุนในอินเดีย กลุ่มซีพีเป็นบริษัทแรกๆ ที่เข้าไปเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน แล้วก็มีบริษัทน้อยใหญ่ไม่ต่ำกว่า 20 รายตามเข้าไป ทำธุรกิจหลากหลาย ตั้งแต่ร้านอาหาร การโรงแรม การบิน ไปจนถึงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อย่างการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และการก่อสร้าง
และผลจากการปฏิรูปเศรษฐกิจนี้เองที่ทำให้ปัจจุบันอินเดียมีทุนมากพอสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลายอย่าง เช่น เมื่อปี 2555 มีการก่อสร้างถนนสายหลัก 4 เลน เชื่อมเมืองใหญ่ทั้ง 4 มุมประเทศอินเดีย คือ เดลี เจนไน มุมไบ และกัลกัตตา ก็เสร็จสมบูรณ์หลังจากใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 10 ปี ขณะนี้ ก็กำลังมีการก่อสร้างเพิ่มเส้นทางรถไฟใต้ดินในกรุงนิวเดลีและสร้างรถไฟลอยฟ้าทั้งในกรุงนิวเดลีและในเมืองใหญ่ ๆ ของอินเดีย
คนอินเดียส่วนใหญ่ต่างภูมิใจมากกับความก้าวหน้าและการพัฒนาที่นำความสะดวกสบายมาให้ตนอันเป็นผลมาจากการปฏิรูปเศรษฐกิจ กล่าวโดยสรุปก็คือทำให้อินเดียร่ำรวยขึ้น
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า เมื่อมองออกพ้นไปจากความสำเร็จดังกล่าวแล้ว ก็ยังเห็นความยากลำบากของคนอินเดียอีกจำนวนมาก ที่รัฐบาลอินเดียไม่ว่าจะนำโดยพรรคไหน ก็คงต้องหาทางแก้ไขกันต่อไป
แต่สำหรับธุรกิจไทยแล้ว การพัฒนาทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดของอินเดีย น่าจะทำให้อินเดียกลายเป็นแดนสวรรค์สุวรรณภูมิที่ยังมีโอกาสให้เอกชนไทยเข้าไปไขว่คว้าได้อีกมาก
โดย ไพฑูรย์ สงค์แก้ว
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,889 วันที่ 20-23 ตุลาคม พ.ศ. 2556