ฐานเศรษฐกิจ (มองอินเดียใหม่ ตอนที่ 99 : เรื่องหอมๆในอินเดีย)
ท่านผู้อ่านอย่าเพิ่งเข้าใจผิดนะครับว่าผมจะเขียนเกี่ยวกับเรื่องน้ำหอมหรือของหอมใดๆ ในอินเดีย หรืออย่าได้คิดคาดเดาเป็นอันขาดว่าที่อินเดียนี่ช่างมีกลิ่นหอมเย้ายวนเหลือเกินอะไรประมาณนั้น แต่เรื่องหอมๆ ที่ผมจะเล่าให้ฟังในวันนี้เป็นหอมจริงๆ ครับ มาเป็นหัวๆ เลย
เรื่องหอมที่อินเดียนี่ผมหมายถึงหัวหอมที่ภาษาฝรั่งเขาเรียกว่า Onion นี่แหละครับ แต่ที่อินเดียหัวหอมจะมีสีออกแดงคล้ำเกือบทั้งหมดตั้งแต่ขนาดเล็กๆ ที่บ้านเราเรียกว่าหอมแดง หรือ Shallot ไปจนถึงขนาดใหญ่ที่บ้านเราเรียกว่าหอมหัวใหญ่ ซึ่งหอมหัวใหญ่ที่มีสีแดงเหล่านี้ทำให้เรียกไม่ถูกเหมือนกันว่าจะเรียกว่าหอมหัวใหญ่แดง หรือจะเรียกว่าหอมแดงหัวใหญ่ดี แต่เพื่อความสะดวกผมขอเรียกว่าหอมหัวใหญ่แดงแล้วกัน
สำหรับหอมแดงขนาดเล็กที่เรียกว่า Shallot ในประเทศอินเดียก็มีหลากหลายสายพันธุ์และยังมีรูปทรงคล้ายคลึงกับหอมหัวใหญ่แดง เพียงแต่มีขนาดเล็กกว่า โดยทั่วไปหอมแดง (Shallot) จะมีขนาดเล็กรูปทรงกลมไปจนถึงทรงรี (Torpedo Shallot) ในขณะที่หอมหัวใหญ่แดงจะมีขนาดใหญ่กว่าและมีรูปทรงกลม ทั้งนี้ ในสถิติของรัฐบาลอินเดียก็ไม่ได้แยกหอมแดง (Shallot) ออกมาโดยเฉพาะ แต่จะรวมอยู่ภายใต้หมวดหัวหอม (Onion) เป็นหัวหอมขนาดเล็ก (Small Onion) ภายใต้ชื่อที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ที่เพาะปลูก เช่น หอมแดงที่เรียกว่า Rose Onion หรือ Krishnapuram Onion จะปลูกในตำบลโกลาร์ รัฐกรณฏกะ และตำบลกูฑัปปา รัฐอานธรประเทศ ส่วนหอมแดงที่เรียกว่า Podisu และ Shallot จะปลูกในรัฐทมิฬนาฑู รัฐมหาราษฎระ และเขตพอนดิเชอร์รี่ เป็นต้น
คนอินเดียนิยมรับประทานหอมแดง (Shallot) และหอมหัวใหญ่แดง (Red Onion) โดยใช้เป็นส่วนผสมสำคัญในอาหารหลายอย่าง รวมทั้งนิยมนำมาดองหรือนำมาหั่นสดๆสำหรับรับประทานเป็นเครื่องเคียงกันอย่างแพร่หลาย จนสามารถกล่าวได้ว่าอาหารอินเดียทุกมื้อจะต้องมีเครื่องเคียงเป็นหอมแดงดองหรือหอมแดงสดเสิร์ฟมาพร้อมกับน้ำจิ้มชนิดต่างๆด้วยทุกครั้ง
ส่วนอินเดียตอนใต้จะนิยมนำหอมแดงมาหั่นเป็นฝอยแล้วเจียวกับน้ำมันเพื่อนำไปใส่ในข้าวต้มหรือซุปและจะนิยมบริโภคหอมแดงมากกว่าหอมหัวใหญ่แดง เนื่องจากหอมแดงจะให้รสชาติเข้มข้นกว่าและหวานกว่า อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปผู้บริโภคอินเดียจะไม่ค่อยเห็นความแตกต่างระหว่างหอมแดง (Shallot) กับหอมหัวใหญ่แดง (Red Onion) ที่มีขนาดเล็ก เนื่องจากหัวหอมทั้ง 2 ชนิดมีลักษณะคล้ายคลึงกันมากและสามารถนำมาใช้ทดแทนกันได้ เช่น ในรัฐมหาราษฎระจะเรียกทั้งหอมแดงและหอมหัวใหญ่ว่า Kanda ยกเว้นเฉพาะในอินเดียตอนใต้เท่านั้นที่ผู้บริโภคจะแยกหอมแดง (Shallot) ออกจากหอมหัวใหญ่ (Onion) อย่างชัดเจน โดยหอมแดงที่ผู้บริโภคทางตอนใต้ของอินเดียนิยมมากที่สุด คือ หอมแดงขนาดเล็กประมาณเท่านิ้วมือเท่านั้นเอง
หัวหอมซึ่งประกอบไปด้วยหอมชนิดต่างๆ ตั้งแต่หอมแดงไปจนถึงหอมหัวใหญ่แดงเป็นส่วนประกอบสำคัญของอาหารอินเดียในทุกเมนู เนื่องจากเป็นพืชที่มีประโยชน์อย่างมากต่อร่างกาย โดยเป็นแหล่งแร่ธาตุและสารอาหารที่จำเป็นสำหรับมนุษย์ ได้แก่ โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส แคลเซียม แมกนีเซียม และวิตามินซี หัวหอมจึงเป็นส่วนประกอบสำคัญที่จะขาดหายไปจากเมนูอาหารอินเดียไม่ได้อย่างเด็ดขาด ถึงขนาดมีแม่บ้านชาวอินเดียออกมาให้สัมภาษณ์ในรายการโทรทัศน์ว่า ถ้าปราศจากหัวหอมแล้ว ก็ไม่สามารถปรุงอาหารอินเดียได้ ถึงขนาดนั้นกันเลยทีเดียว
เมื่อหัวหอมมีความสำคัญซะขนาดนี้ รัฐบาลอินเดียจึงต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิดพยายามไม่ให้เกิดผลกระทบต่อทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรผู้ปลูกหอม ผู้ค้าและผู้บริโภค ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากไม่น้อยเพราะพืชผลเกษตรมักจะขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศเป็นหลัก ถ้าปีไหนฝนฟ้าเป็นใจก็จะได้ผลผลิตดีและมากเพียงพอ แต่ถ้าดินฟ้าอากาศดีเกินไปผลผลิตล้นตลาดส่งผลให้ราคาตก เกษตรกรก็เดือดร้อนเพราะจะมีรายได้ลดลง แต่ถ้าปีไหนดินฟ้าอากาศไม่เป็นใจ ผลผลิตออกมาสู่ตลาดไม่มาก ราคาหอมในตลาดก็จะสูงขึ้น เกษตรกรอาจจะดีใจ แต่ผู้บริโภคเดือดร้อน
อย่างในปีนี้ ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาราคาหอมในประเทศอินเดียเพิ่มขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์หรือแทบจะกล่าวได้ว่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์เลยก็ว่าได้ โดยราคาขายปลีกหอมได้ขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 90-110 รูปี (45-55 บาท) แล้ว ตอนนี้ก็เลยวุ่นกันไปทั้งประเทศ และได้กลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองไปเรียบร้อยแล้ว โดยพรรคฝ่ายค้านโจมตีว่ารัฐบาลบริหารจัดการไม่ได้ ทำให้มีการกักตุนสินค้าโดยพ่อค้าคนกลาง หอมก็เลยมีราคาแพงเกินเหตุ รัฐบาลก็อธิบายว่าเป็นเพราะฤดูมรสุมปีนี้ฝนตกยืดเยื้อ ผลผลิตหอมเลยออกมาช้า
การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก็ทำได้โดยให้มีการนำเข้าหอมมาจากอัฟกานิสถาน จีน ปากีสถาน และอียิปต์ โดยกลุ่มผู้ค้าคาดว่าภายในอีก 2 สัปดาห์สถานการณ์น่าจะกลับสู่ภาวะปกติ เนื่องจากหมดฝนและมีแสงแดดเพียงพอที่หอมจะให้ผลผลิตได้
ก็คงต้องลุ้นกันต่อไปว่าวิกฤตการณ์เรื่องหอมในอินเดียจะลงเอยอย่างไร แต่ถ้าจบไม่ได้ภายในระยะเวลาอันสั้นก็รับรองว่าด้านการเมือง เรื่อง "หอม" คงจะไม่หอมเหมือนชื่อซะแล้ว
โดย อดุลย์ โชตินิสากรณ์
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มุมไบ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,891 วันที่ 27-30 ตุลาคม พ.ศ. 2556