ฐานเศรษฐกิจ (มองอินเดียใหม่ ตอนที่ 100 : ต่างชาติชะลอการลงทุนในอินเดีย รอความชัดเจนหลังเลือกตั้งปีหน้า)
เมื่อสัปดาห์ก่อน ธนาคารโลก หรือ เวิลด์แบงก์ ได้ออกรายงานประจำปีที่รัฐบาลและเอกชนทุกประเทศตั้งตารอคอย ได้แก่ รายงาน Doing Business 2014 ซึ่งเป็นการสำรวจและจัดอันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจใน 189 ประเทศทั่วโลก
ผลการจัดอันดับปีนี้ น่าจะทำให้รัฐบาลอินเดียต้องเป็นกังวลอยู่ไม่น้อย เพราะอันดับ Ease of Doing Business ของอินเดียหล่นไป 3 ขั้น จากที่ 131 ไปเป็น 134 ที่สำคัญ อินเดียพี่ใหญ่แห่งเอเชียใต้ที่ใครต่อใครมองว่าจะเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกในอนาคต กลับมีอันดับรั้งท้ายเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค
จากผลการสำรวจพบว่า การจะเริ่มทำธุรกิจในอินเดียสักอย่างหนึ่งโดยเฉลี่ย ต้องมีขั้นตอนถึง 12 ขั้นตอน ใช้เวลา 26 วัน และมีค่าใช้จ่ายถึง 43.4% ของรายได้ต่อหัวของประชากร เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของทุกประเทศอยู่ที่ 7 ขั้นตอน 25 วันและ 32% คงไม่ต้องพูดถึงประเทศที่ได้อันดับสูงสุดอย่างสิงคโปร์ ฮ่องกง และนิวซีแลนด์ ที่มีขั้นตอนเพียง 1 ขั้น ใช้เวลาครึ่งวัน โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ
แน่นอน รายงานฉบับนี้ น่าจะมีผลต่อความรู้สึกของนักลงทุนต่างชาติ ที่กำลังสนใจจะเข้าไปลงทุนหรือเข้าไปลงทุนแล้วในประเทศอินเดียไม่น้อย เพราะเป็นรายงานที่จัดทำโดยธนาคารโลก จึงมีความน่าเชื่อถืออยู่ในตัว และอาจมีอิทธิพลถึงขั้นทำให้เอกชนต่างชาติถึงกับชะลอหรือถอนการลงทุนจากอินเดียเลยก็เป็นได้
ในช่วงที่ผ่านมา ก็เริ่มเห็นการชะลอการลงทุนของต่างชาติในอินเดียเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อยู่แล้ว โดยข่าวที่ออกมาในสื่ออินเดียรายงานว่า บริษัทต่างชาติหลายแห่งกำลังทบทวนแผนการลงทุนในอินเดียกันเป็นการใหญ่ โดยเหตุผลหลักๆ หนีไม่พ้นสิ่งที่สะท้อนอยู่ในรายงานของเวิลด์แบงก์ที่ว่า ก็คือความยากลำบากและไม่แน่นอนของขั้นตอนและระยะเวลาที่ใช้ในการขอใบอนุญาตต่างๆ
อย่างบริษัทสำรวจและขุดเจาะน้ำมันรายใหญ่ลูกครึ่งอังกฤษ-ออสเตรเลีย BHP Billiton ที่ล่าสุดเพิ่งประกาศถอนตัวจากโครงการสำรวจและขุดเจาะน้ำมัน 9 จาก 10 แห่ง ที่บริษัทได้รับสัมปทานมาจากรัฐบาลอินเดียในช่วงปี 2008-2010 โดยบริษัทหุ้นส่วน JV ของ BHP สัญชาติอินเดีย GVK ได้ออกมาชี้แจงเหตุผลว่า เนื่องจากติดขัดการขออนุญาตจากกระทรวงกลาโหมของอินเดีย
ที่เป็นข่าวใหญ่ไม่แพ้กันก็คือ Wal-mart เจ้าพ่อค้าปลีกของสหรัฐฯ ที่จ่อรอรัฐบาลอินเดียเปิดเสรีค้าปลีกหลายแบรนด์อยู่นาน โดยหวังที่จะเข้าไปค้าปลีกในอินเดียแบบเต็มตัวด้วยแบรนด์ Wal-mart หลังจากร่วมหุ้นกับบริษัทอินเดียมาพักใหญ่ แต่ก็รอแล้วรอเล่า รัฐบาลอินเดียก็ยังไม่มีทีท่าแน่ชัด จนในที่สุด Wal-mart ก็รอไม่ไหว ถอนตัวออกจากการร่วมหุ้นและโบกมือบ๊ายบายอินเดียไปเรียบร้อย
นี่ยังไม่นับรวมบริษัท Posco ของเกาหลีและ ArcelorMittal ธุรกิจเหล็กรายใหญ่สัญชาติเกาหลีและลักเซมเบิร์ก ตามลำดับ ที่ประกาศยกเลิกแผนก่อสร้างโรงงานเหล็กในอินเดีย มูลค่ารวมกันหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยอ้างเหตุผลการติดขัดระบบราชการเช่นกัน
ที่น่าแปลกใจก็คือ แม้ในช่วงปีที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียพยายามเร่งเดินหน้าส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติเพื่อหวังให้มีเม็ดเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัว มีการประกาศเพิ่มเพดานการลงทุนของต่างชาติในสาขาต่างๆ แต่กลับไม่สามารถแก้ปัญหาติดขัดขั้นตอนในระบบราชการที่เป็นอุปสรรคสำคัญของนักลงทุนได้เต็มที่ แม้จะเป็นการลงทุนในสาขาที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของอินเดียอย่างมากอย่างน้ำมันและเหล็กก็ตาม
กูรูผู้รู้หลายท่านทั้งในและนอกวงการได้ลองวิเคราะห์ดูแล้ว มีความเห็นว่า การที่อินเดียกำลังจะเข้าสู่ช่วงการเลือกตั้งทั่วไปในต้นปีหน้ามีผลทำให้อะไรหลายๆ อย่างต้องชะลอตัว ทั้งในแง่ของการเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎระเบียบที่มีความละเอียดอ่อนของรัฐบาลอินเดีย หรือแม้แต่เอกชนต่างชาติเองก็เลือกที่จะรอให้มีการเลือกตั้งก่อน เพราะยังไม่แน่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหรือไม่ และจะมีผลต่อนโยบายการลงทุนของต่างชาติมากน้อยเพียงใด
เรื่องนี้คงเป็นหนังยาวที่ต้องติดตามกันต่อไปอีกสักพัก ขอแนะนำให้เอกชนไทยที่กำลังสนใจหรือมีแผนที่จะเข้าไปลงทุนในอินเดีย หรือที่เข้าไปแล้วและอยากจะลงทุนเพิ่ม ให้ติดตามรายงานและบทวิเคราะห์สถานการณ์ ทั้งทางคอลัมน์มองอินเดียใหม่ และเว็บไซต์ thaiindia.net อย่างใกล้ชิด ให้ได้ข้อมูลรอบด้านก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนในอินเดียในช่วงนี้
โดย ประพันธ์ สามพายวรกิจ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,893 วันที่ 3 - 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556