ฐานเศรษฐกิจ (มองอินเดียใหม่ ตอนที่ 101 : ซิลิคอนแวลลีย์แห่งอินเดีย กับอุตฯไอทีและอิเล็กทรอนิกส์ไทย)
หลายท่านคงเคยได้ยินชื่อเมืองบังคาลอร์กันมาบ้างแล้ว เมืองนี้อยู่ในรัฐกรณาฏกะทางภาคใต้ของอินเดีย ซึ่งมีฉายาที่รู้กันทั่วไปในแวดวงไอทีว่า "ซิลิคอนแวลลีย์แห่งอินเดีย" เพราะเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมไอทีของอินเดีย ที่ต่างชาติได้เข้าไปลงทุนใช้เป็นฮับการผลิตสินค้าและให้บริการด้านไอทีมากมาย
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้รัฐกรณาฏกะได้รับฉายาดังกล่าว นอกจากอุตสาหกรรมไอทีที่มีความโดดเด่นแล้ว ยังมีอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่คอยช่วยหนุนกันและกัน ปัจจุบัน 80 จาก 120 บริษัทออกแบบดีไซน์ไมโครชิปของอินเดียตั้งโรงงานอยู่ในรัฐกรณาฏกะ เพราะรัฐนี้มีความได้เปรียบด้านต้นทุนค่าแรงฝีมือและบุคลากรด้านเทคนิค เมื่อเทียบกับรัฐอื่นๆ ในอินเดีย
ที่สำคัญ เมืองบังคาลอร์เป็นศูนย์กลางด้านการค้นคว้าและวิจัย (R&D) ด้านซอฟต์แวร์ ที่ช่วยเกื้อกูลอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นอย่างดี ศูนย์การออกแบบและผลิตระบบอิเล็กทรอนิกส์ของอินเดีย (Indian Electronics System Design and Manufacturing : ESDM) ก็กำลังเตรียมจัดตั้ง EDSM 7 แห่งในรัฐกรณาฏกะภายในปี ค.ศ. 2020 เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมดังกล่าว
การขยายตัวของอุตสาหกรรมไอทีของรัฐกรณาฏกะยังคงเดินหน้า เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รัฐบาลของรัฐได้ประกาศโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมหลักของรัฐ 19 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 148,180 ล้านรูปี หรือประมาณ 75,000 ล้านบาท ได้รับการตอบรับอย่างดีจากบริษัทอินเดียยักษ์ใหญ่ โดยเฉพาะในสาขาไอที ไม่ว่าจะเป็น Infosys, Wipro และ Cognizant Technology
เฉพาะโครงการลงทุนของบริษัท Infosys และ Wipro มีมูลค่าการลงทุนรวมกันถึง 43,980 ล้านรูปี หรือประมาณ 22,000 ล้านบาท สร้างงานได้ 23,302 อัตรา โดยรัฐบาลจะขอให้โครงการไอทีเหล่านี้ขยายไปตั้งในพื้นที่อื่นๆ นอกเหนือจากบังคาลอร์ เช่น เมือง Maysore, Bagalkot, Belgaum, Bijapur, Dakshina Kanada, Dharwad, Kolar, Koppal, Ramangara และ Tumkur เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้การลงทุนกระจุกตัวอยู่เฉพาะในเขตเมืองบังคาลอร์ ซึ่งมีความหนาแน่นอยู่แล้ว
สำหรับการลงทุนในสาขาไอทีและอิเล็กทรอนิกส์ในภาพรวม รัฐบาลกรณาฏกะมีนโยบายให้สิทธิประโยชน์พิเศษแก่นักลงทุนอยู่แล้ว มีหน่วยงานกำกับดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ แบบ Single-window agency มีรัฐมนตรีด้านไอทีของรัฐเป็นประธานกำกับหน่วยงานดังกล่าวโดยตรง
สิทธิประโยชน์พิเศษที่นักลงทุนสาขานี้จะได้รับ มีทั้งมาตรการทางภาษีที่มีการให้ส่วนลด โดยคำนวณจากจำนวนเงินที่ลงทุน ยิ่งลงทุนมาก ยิ่งได้ลดภาษีมาก รวมทั้งยังมีการลดภาษีมูลค่าเพิ่มในบางส่วน การลดภาษีอากรแสตมป์ 50% ลดค่าไฟฟ้าและภาษีอสังหาริมทรัพย์ แถมมีมาตรการจูงใจทางการเงินอีกมากมาย
การส่งเสริมการลงทุนไอทีและอิเล็กทรอนิกส์ยังเป็นกลยุทธ์ของรัฐกรณาฏกะ ที่ต้องการดึงดูดบริษัทที่ลงทุนในสาขานี้อยู่แล้วในเมืองไฮเดอราบาด รัฐอานธรประเทศ แต่กำลังคิดย้ายที่ตั้งเพราะปัญหาการเมืองภายในที่กำลังร้อนระอุ จากการที่รัฐบาลกลางต้องการแยกรัฐอานธรประเทศออกเป็น 2 รัฐ (รัฐอานธรประเทศและรัฐเตลังกานา)
ขณะนี้บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านไอทีถึง 4 แห่งจากไฮเดอราบาดได้แจ้งความประสงค์ขอย้ายไปดำเนินธุรกิจในรัฐกรณาฏกะแทนแล้ว รัฐบาลรัฐกรณาฏกะก็มั่นใจว่านโยบายออกมาตรการจูงใจพิเศษเพิ่มเติมใหม่เหล่านี้จะส่งผลทำให้อุตสาหกรรมไอทีของรัฐเติบโตได้มากขึ้นกว่าเดิม
สถิติการส่งออกสินค้าและบริการไอทีของรัฐปีที่ผ่านมามีมูลค่าสูงถึง 1.35 แสนล้านรูปี หรือประมาณ 6 หมื่นล้านบาท และคาดว่าภายในปี ค.ศ. 2020 จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 4 แสนล้านรูปี หรือ 2 แสนล้านบาท และจะเกิดการสร้างงานในสาขานี้จากเดิม 9 แสนคนเป็น 2 ล้านคน ในอีก 7 ปีข้างหน้าอย่างแน่นอน
นอกจากนโยบายในระดับรัฐแล้ว รัฐบาลกลางของอินเดียยังกำลังมีโครงการยกระดับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนานใหญ่เชื่อมโยงเมืองสำคัญต่างๆ ของรัฐภาคใต้ของอินเดีย ภายใต้โครงการ Mumbai–Bangalore-Chennai-Andhra Pradesh Business Corridor ซึ่งจะเชื่อมโยงเครือข่ายด้านการคมนาคม ขนส่งระหว่าง 4 รัฐชั้นนำด้านอุตสาหกรรมของอินเดีย ซึ่งจะทำให้การไหลเวียนของธุรกิจเป็นไปอย่างคล่องตัวและมีมูลค่าสูงขึ้น
โครงการนี้ จะมีการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานมากมายมหาศาล รัฐบาลอินเดียก็ได้เคยเชิญชวนนักลงทุนไทยที่เชี่ยวชาญงานสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ เข้ามาลงทุนในโครงการดังกล่าวแล้ว
สาธยายมาถึงเพียงนี้ เอกชนไทยที่สนใจลงทุนในอินเดียในสาขานี้ น่าจะลองศึกษาเพิ่มเติม หรือ ลองติดต่อหน่วยงานภาครัฐของไทยในอินเดียที่ดูแลด้านนี้ ไม่ว่าจะเป็นสถานทูตหรือสถานกงสุล หรือบีโอไอ ซึ่งขณะนี้มีผู้แทนไปประจำอยู่ที่เมืองมุมไบ พร้อมอำนวยความสะดวกเอกชนไทยเต็มที่อยู่แล้ว
โดย ธัชไท ถมังรักษ์สัตว์
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,895 วันที่ 10 - 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556