ฐานเศรษฐกิจ (มองอินเดียใหม่ ตอนที่ 103 : ต้นตำรับแชมเปญฝรั่งเศสรุกตลาดอินเดีย)
คอไวน์ทั้งหลายคงเคยได้ยินชื่อแชมเปญยี่ห้อดังที่ผลิตจากองุ่นในแคว้น Champagne-Ardenne ของฝรั่งเศส อย่าง Moet & Chandon กันมาก่อน และอาจจะยังติดภาพว่าเครื่องดื่มเลิศหรูนี้จะต้องนำเข้าจากฝรั่งเศสเท่านั้น ซึ่งเป็นผลให้ราคาพุ่งกระฉูดอย่างน่าตกใจ แต่บัดนี้ถิ่นไวน์ชั้นดีของอินเดียก็สามารถผลิตสปาร์กลิงไวน์ (ไม่ใช้ชื่อว่าแชมเปญเนื่องจากว่าไม่ได้ผลิตที่ฝรั่งเศส) ได้ในราคาย่อมเยากว่าแชมเปญนำเข้า
เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ที่ผ่านมา บริษัท Moet Hennessy Indiaฯ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของกลุ่มบรรษัทข้ามชาติแบรนด์หรู LVMH สัญชาติฝรั่งเศส (ลูกผสม Loius Vuitton กับ Moet Hennessy) ได้จัดงานเปิดตัวสปาร์กลิงไวน์แบรนด์ Chandon ที่โรงแรม Four Seasons เมืองมุมไบ เมืองศูนย์กลางการเงินและธนาคารของอินเดีย
งานนี้ บริษัทได้นำสปาร์กลิงไวน์ 2 ประเภทมาเปิดตัว ได้แก่ Chandon Brut ราคา 1,200 รูปี (ประมาณ 600 บาท) และ Chandon Brut Rose ราคา 1,400 รูปี (ประมาณ 700 บาท) ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับราคาสปาร์กลิงไวน์แบรนด์ Sula (สุลา) ของอินเดียชนิดเดียวกัน ที่ตั้งราคาขายอยู่ที่ขวดละ 950 รูปี (475 บาท) และ 1,100 รูปี (550 บาท) ตามลำดับ ก็ถือว่าสู้ได้อย่างสมศักดิ์ศรีไวน์ฝรั่ง
การที่บริษัท Moet & Chandon สามารถนำแบรนด์หรู Chandon ไปแข่งราคากับตลาดท้องถิ่นได้ ก็เป็นเพราะกลยุทธ์การนำกรรมวิธีการผลิตเดียวกับการผลิตแชมเปญในแคว้น Champagne-Ardenne ประเทศฝรั่งเศสมาใช้กับองุ่นในท้องถิ่น เช่นเดียวกับที่เคยทดลองมาแล้วที่อาร์เจนตินา แคลิฟอร์เนีย บราซิล ออสเตรเลีย บริษัทยังมีแผนจะเปิดตัว Chandon ที่จีนในปี 2557 ด้วย
สำหรับในอินเดีย บริษัท Moet Hennessy Indiaฯ ได้ทำการศึกษาวิจัยจนค้นพบว่า เมืองนาสิก (Nashik) รัฐมหาราษฏระ ทางภาคตะวันตกของอินเดีย เป็นเมืองที่สามารถปลูกองุ่นพันธุ์ Chenin blanc ซึ่งสามารถใช้แทนองุ่นพันธุ์ Pinot Noir และ Chardonnay (ซึ่งใช้ผลิตแชมเปญในฝรั่งเศสและสามารถปลูกได้ในเมืองนาสิกเหมือนกันแต่ปริมาณไม่เพียงพอ) ขณะนี้จึงมีผู้ผลิตไวน์ของอินเดียไปตั้งฐานในเมืองนาสิกหลายราย อาทิ Sula และ Reveillo
ปัจจุบัน แชมเปญยี่ห้อ Moet & Chandon ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในเมืองมุมไบและถือว่าเป็นที่รู้จักมากที่สุดในอินเดีย โดยมีคู่แข่งหลัก ได้แก่ Mumm และ Veuve-Clicquot ซึ่งเป็นสปาร์กลิงไวน์นำเข้า มีราคาสูงมาก ประมาณ 5,800 -6,500 รูปี (2,900 -3,250 บาท) ต่อขวด ขณะที่สปาร์กลิงไวน์ของอินเดียอย่าง Sula แม้มีราคาถูกกว่ามาก แต่รสชาติอาจจะยังเทียบไม่ได้กับแบรนด์ฝรั่ง
การที่อาหารกลางวันแบบบุฟเฟ่ต์วันอาทิตย์ตามโรงแรมหรูที่แถมพ่วงฟรีแชมเปญหรือสปาร์กลิงไวน์ กำลังเป็นที่นิยมในสังคมชั้นสูงของอินเดียมากขึ้นเรื่อยๆ อุปสงค์ของไวน์ชนิดนี้จึงมีเพิ่มมากขึ้นทุกปี เฉลี่ยประมาณ 20% ต่อปี ทำให้บริษัท Moet Hennessy Indiaฯ มองเห็นโอกาสทางธุรกิจ และอาศัย know-how และกรรมวิธีการผลิตของฝรั่งเศสมาใช้กับองุ่นท้องถิ่น โดยใช้ชื่อแบรนด์ Chandon ซึ่งใกล้เคียงกับแบรนด์ Moet & Chandon ที่เป็นที่รู้จักกว้างขวางในอินเดียอยู่แล้วด้วย
เห็นอย่างนี้แล้ว ผู้ผลิตไวน์ไทยที่พักหลังมีชื่อเสียงมากขึ้นในกลุ่มนักดื่มไวน์นานาชาติ โดยเฉพาะไวน์ขาวและไวน์สีกุหลาบ (โรเซ่) ก็น่าจะลองศึกษาช่องว่างในตลาดอินเดียที่น่าจะยังมีอีกเยอะ เพราะการดื่มไวน์เป็นคอนเซ็ปต์ค่อนข้างใหม่ และนับวันอินเดียก็จะมีชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อและพร้อมจะเป็นผู้ดื่มไวน์มากขึ้นเรื่อยๆ คาดว่า ภายในปี 2030 จะมีประชาชนชั้นกลางในอินเดียถึง 600 ล้านคน
หากสมาคมไทยไวน์ (Thai Wine Association) ที่ปัจจุบันมีสมาชิก 6 ราย ที่รวมถึงบริษัท Siam Wineryฯ ผู้ผลิตไวน์ยี่ห้อ Monsoon Valley และอิตัลไทย ผู้ผลิต Chateau de Loei ที่ส่งออกไวน์หลากชนิดไปยังยุโรป อเมริกาเหนือและเอเชีย หาทางใช้ชื่อเสียงที่เรามีอยู่แล้วในต่างแดนในการเจาะตลาดอินเดีย ลักษณะเดียวกับที่ Chandon ทำอยู่ ก็น่าจะพอมีลู่ทางอยู่ โดยเฉพาะใน segment ไวน์ระดับกลาง
สิ่งที่ภาครัฐน่าจะพอสนับสนุนผู้ผลิตไวน์ให้แข่งขันในต่างประเทศได้ ก็เช่นการลดภาษีหรือการส่งเสริมไวน์ไทยไปควบคู่กับอาหารไทย ซึ่งอย่างแรกน่าจะยากกว่าเพราะสังคมไทยยังมีกระแสต่อต้านสินค้าเหล้าบุหรี่ ขณะที่อย่างหลังน่าจะยังพอทำได้ เช่นที่ประเทศอังกฤษที่มีร้านอาหารไทยจำนวนมากที่เสิร์ฟไวน์ไทย จนทำให้อังกฤษเป็นประเทศที่นำเข้าไวน์ไทยมากที่สุดในขณะนี้
ขณะนี้รัฐบาลไทยเองก็มีโครงการครัวไทยสู่ครัวโลกอยู่แล้ว โดยได้จัดสรรงบประมาณให้สถานทูต สถานกงสุล ตลอดจนสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศทั่วโลกไปทำงานส่งเสริมอาหารไทยอยู่แล้ว ดังนั้น ผู้ผลิตไวน์ไทยน่าจะลองหาทางจับมือกับภาครัฐออกไปโปรโมตไวน์ไทยให้เป็นแพ็กเกจเดียวกันก็น่าจะดี
โดย กนกภรณ์ คุณวัตน์
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,899 วันที่ 24 - 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556