ฐานเศรษฐกิจ (มองอินเดียใหม่ ตอนที่ 106 : 'นม'ในอินเดีย)
"นม" เป็นสิ่งสำคัญอย่างมากถึงมากที่สุดสำหรับชาวอินเดีย เนื่องจากชาวอินเดียส่วนใหญ่ไม่รับประทานเนื้อสัตว์หรือที่เรารู้จักกันในชื่อว่า "มังสวิรัติ" ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ประชากรอินเดียส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดูและมีบางส่วนที่นับถือศาสนาเชน ซึ่งแม้ว่าจะมีจำนวนไม่มากนักแต่ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่รับประทานอาหารมังสวิรัติแบบเข้มงวดยิ่งกว่าชาวฮินดูเสียอีก เมื่อกลุ่มผู้บริโภคมังสวิรัติเหล่านี้รับประทานเนื้อสัตว์และไข่ไม่ได้ นมจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเนื่องจากนมเป็นแหล่งโปรตีนที่มีราคาไม่แพง หาซื้อง่ายและมีสารอาหารหลายอย่างที่ร่างกายมนุษย์ต้องการ แต่ที่สำคัญที่สุด นมเป็นแหล่งโปรตีนจากสัตว์เพียงแหล่งเดียวที่ทั้งศาสนาฮินดูและศาสนาเชนอนุญาตให้ผู้นับถือศาสนาดังกล่าวบริโภคได้
จากการสำรวจอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2549 พบว่าประชากรที่เป็นมังสวิรัติหรือไม่บริโภคเนื้อสัตว์และไข่ในอินเดียมีอยู่ประมาณ 31% ส่วนที่ไม่บริโภคเนื้อสัตว์แต่บริโภคไข่มีอยู่ประมาณ 9% โดยรวมแล้วก็จะมีประชากรที่ไม่บริโภคเนื้อสัตว์อยู่ในสัดส่วนประมาณ 40% ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งมีความจำเป็นต้องบริโภคนมและผลิตภัณฑ์นมเป็นหลักเพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารโดยเฉพาะโปรตีนอย่างเพียงพอ ในขณะที่กลุ่มประชากรอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้เป็นมังสวิรัติในอินเดียก็ยังต้องการบริโภคนมและผลิตภัณฑ์นมด้วยเช่นกัน นมจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในสังคมอินเดียชนิดที่เรียกว่าต้องบริโภคนมและผลิตภัณฑ์นมกันตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอนเลยทีเดียว
อาหารและเครื่องดื่มของชาวอินเดียส่วนใหญ่จะมีส่วนผสมของนมหรือผลิตภัณฑ์นมอยู่ด้วยเสมอไม่ว่าจะเป็นชาร้อนที่ใส่ใบชาลงไปต้มในนมสด หรือไอศกรีมอินเดียแสนอร่อยที่เรียกว่า "กุลฟี่" รวมถึงเนยใสที่เรียกว่า "กี" หรือ "ฆี" ที่คนอินเดียนิยมนำไปประกอบอาหารหรือราดไปบนข้าวหรือโรตีก่อนรับประทาน และเมนูอื่นๆอีกมากมายที่ต้องใช้นมและผลิตภัณฑ์นมเป็นส่วนประกอบสำคัญ เรื่อง "นม" จึงเป็นเรื่องสำคัญของคนอินเดียเสมอ
แต่ถึงแม้ว่าคนอินเดียจะบริโภคนมและผลิตภัณฑ์นมกันอย่างแพร่หลายขนาดนี้ก็ไม่ต้องกลัวว่าปริมาณนมในประเทศจะไม่เพียงพอสำหรับการบริโภค เพราะอินเดียเป็นประเทศผู้ผลิตนมและผลิตภัณฑ์นมอันดับต้นๆของโลกอยู่แล้ว ปริมาณนมจึงยังมีเพียงพอสำหรับการบริโภคภายในประเทศทั้งในรูปนมสดและผลิตภัณฑ์นม แถมยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมากอีกด้วย
ตลาดนมและผลิตภัณฑ์นมที่อยู่ในระบบในประเทศอินเดียในปัจจุบันมีขนาดประมาณ 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 3 แสนล้านบาท แต่คาดว่าจะมีการขยายตัวกว่า 2 เท่าตัวเป็น 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเกือบ 7.5 แสนล้านบาทภายในปี 2563 โดยสินค้าที่จะเป็นตัวผลักดันให้ตลาดขยายตัวอย่างมากมายขนาดนี้จะไม่ใช่น้ำนมแล้ว แต่จะเป็นผลิตภัณฑ์นมใหม่ๆที่มีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา น้ำนมเป็นสินค้าที่มีสัดส่วนสูงถึง 70% ของตลาดนมและผลิตภัณฑ์นมทั้งหมด แต่ปัจจุบันสัดส่วนตลาดได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว โดยน้ำนมมีสัดส่วนลดลงเหลือเพียง 66% และมีแนวโน้มที่จะลดลงอีก ในขณะที่ผลิตภัณฑ์นมมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 34% โดยประกอบไปด้วยผลิตภัณฑ์นมที่มีมูลค่าเพิ่ม 21% เนยใส 8% และนมผง 5% ตามลำดับ
นอกจากนี้ จากการสำรวจของสำนักงานการสำรวจตัวอย่างแห่งชาติของอินเดียล่าสุด พบข้อมูลที่น่าสนใจมากว่า คนอินเดียในพื้นที่ชนบทมีสัดส่วนการใช้จ่ายเงินสำหรับนมและผลิตภัณฑ์นมคิดเป็น 8% ของค่าใช้จ่ายด้านอาหาร ซึ่งสูงกว่าของคนอินเดียในเมืองที่มีสัดส่วน 7% โดยคนอินเดียในพื้นที่ชนบทกลับมีความต้องการบริโภคนมและผลิตภัณฑ์นมสูงกว่าคนอินเดียในเมือง ทั้งนี้ คณะกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์นมแห่งชาติของอินเดียคาดว่า ความต้องการนมในตลาดอินเดียในปี 2660 จะมีปริมาณ 180 ล้านตัน เทียบกับปัจจุบันที่มีปริมาณ 128 ล้านตัน ซึ่งนั่นหมายความว่าจะต้องเพิ่มปริมาณการผลิตให้ได้เฉลี่ยปีละ 5 ตันเป็นเวลา 15 ปี จึงจะสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้
เมื่อตลาดใหญ่ซะขนาดนี้ มีหรือยักษ์ใหญ่ข้ามชาติอย่าง Nestle, Danone, Fonterra, Kraft และ Schreiber จะมองข้ามโอกาสทองนี้ไปง่ายๆ อันนี้ก็ต้องขอเรียนว่ายักษ์ใหญ่ข้ามชาติเหล่านี้ได้เข้าไปทำมาหากินอยู่ในอินเดียนานแล้ว โดยปัจจุบันให้ความสนใจกับผลิตภัณฑ์นมที่มีสัดส่วน 34% มากกว่าน้ำนมที่มีสัดส่วน 66% แต่ก็ต้องต่อสู้กับยักษ์ใหญ่เจ้าถิ่น คือ Gujarat Co-operative Milk Marketing Federation หรือ GCMMF เจ้าของแบรนด์ Amul อันเลื่องชื่ออันดับ 1 ของอินเดียที่ดำเนินการในรูปสหกรณ์อย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการจัดจำหน่ายและการส่งออกเลยทีเดียว
"นมอินเดีย" ยี่ห้อ Amul จึงน่าจะเป็นตัวอย่างของความสำเร็จที่อุตสาหกรรม "นมไทย" น่าจะเรียนรู้และนำไปพัฒนาต่อไปได้ เอาไว้สำเร็จเมื่อไหร่ค่อยไปบุกตลาดอินเดียกัน
โดย อดุลย์ โชตินิสากรณ์
ผู้อำนวยการ สคร. ณ เมืองมุมไบ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,905 วันที่ 15 - 18 ธันวาคม พ.ศ. 2556