ฐานเศรษฐกิจ: มองอินเดียใหม่ (ตอนที่ 107 ผลการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติระดับรัฐของอินเดีย กับผลกระทบต่อภาคธุรกิจไทย)
เมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนจนถึงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมามีการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐของอินเดียใน 5 รัฐ ได้แก่ รัฐฉัตตีสคัฒ รัฐมัธยประเทศ รัฐราชสถาน รัฐมิโซรัม และดินแดนสหภาพเดลี
การเลือกตั้งในทั้ง 5 รัฐนี้ จะไม่มีอะไรพิเศษแตกต่างไปจากการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติแห่งรัฐหรือที่รัฐธรรมนูญอินเดียเรียกว่า Legislative Assembly หรือ วิธานสภา ของรัฐทั้ง 28 รัฐในอินเดีย ที่มีรัฐบาลท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งสภานิติบัญญัตินี้เอง หากไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เป็นโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งทั่วไประดับประเทศ หรือการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร (House of the People) เรียกเป็นภาษาฮินดีว่า โลกสภา หรือ สันสัด ที่จะมีขึ้นในอีกห้าถึงหกเดือนข้างหน้า
การเลือกตั้งในทั้ง 5 รัฐนี้ ถ้าเปรียบกับการแข่งขันฟุตบอลโลกจึงน่าจะเหมือนกับการแข่งขันรอบรองชนะเลิศ เพราะเป็นการต่อสู้กันระหว่างพรรคการเมืองระดับชาติสองพรรคใหญ่ คือ พรรคคองเกรส ซึ่งเป็นรัฐบาลมาแล้วเกือบ 10 ปี และพรรค บี.เจ.พี. (ย่อมาจากชื่อเต็มว่า Bharatiya Janata Party (BJP) เขียนเป็นภาษาไทยว่า ภารเตีย ชันตา ปาร์ตี้ แปลว่า Indian People’s Party = พรรคประชาชนชาวอินเดีย) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านหลัก ก่อนที่จะต้องไปขับเคี่ยวกันอีกครั้งในการเลือกตั้งทั่วไประดับประเทศ
altราหุล คานธี ผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากคองเกรส (ซ้าย) และ นเรนทรา โมดี มุขมนตรีรัฐคุชราต ผู้ท้าชิงจาก บี.เจ.พี. (ขวา) ผลการแข่งขันในระดับรัฐครั้งนี้ออกมาเป็นอย่างไร ฝ่ายใดแพ้หรือชนะ น่าจะบ่งบอกถึงแนวโน้มความนิยมของพรรคในช่วงนี้ และถ้าทุกอย่างเป็นไปตามปกติ ก็อาจจะพอทำให้คาดเดาถึงผลการเลือกตั้งทั่วไปได้ด้วยซ้ำ
ภายหลังการนับคะแนนที่ใช้เวลาประมาณหนึ่งสัปดาห์ คณะกรรมการการเลือกตั้งอินเดีย (Election Commission) ได้ประกาศผลการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติของทั้ง 5 รัฐอย่างเป็นทางการ ดังนี้
1. รัฐฉัตตีสคัฒ มีประชากร 26 ล้านคน สมาชิกสภานิติบัญญัติ 90 คน พรรค บี.เจ.พี. ชนะได้รับเลือกตั้ง 49 คน พรรคคองเกรสได้ 39 คน ที่เหลือก็เป็นสมาชิกพรรคอื่น
2. รัฐมัธยประเทศ มีประชากร 73 ล้านคน สมาชิกสภานิติบัญญัติ 230 คน พรรค บี.เจ.พี. ชนะได้รับเลือก 165 คน พรรคคองเกรสได้ 58 คน พรรคอื่น ๆ ได้ 7 คน
3. รัฐราชสถาน มีประชากร 69 ล้านคน สมาชิกสภานิติบัญญัติ 199 คน พรรค บี.เจ.พี. ชนะได้รับเลือกตั้ง 162 คน พรรคคองเกรสเป็นรัฐบาลอยู่ได้รับเลือกเพียง 21 คน ส่วนที่เหลือก็เป็นของพรรคท้องถิ่นอื่น ๆ
4. รัฐมิโซรัม มีประชากร 1 ล้านคนเศษ สมาชิกสภานิติบัญญัติ 40 คน พรรคคองเกรสชนะได้รับเลือกตั้งจำนวน 31 คน ที่เหลือพรรคท้องถิ่นชนะ ส่วนพรรค บี.เจ.พี. ไม่ไดรับเลือกตั้งเลย
5. ในเดลีซึงรวมทั้งเดลีเก่าและเดลีใหม่ (Delhi – New Delhi) มีประชากร 13 ล้านคน สมาชิกสภานิติบัญญัติ 70 คน พรรค บี.เจ.พี. ชนะได้รับเลือกตั้ง 31 คน พรรคคองเกรสได้เพียง 8 คน พรรคน้องใหม่ชื่ออามอาดมี (แปลว่าพรรคสามัญชน) ได้รับเลือกตั้งถึง 28 คน ที่เหลือก็เป็นของพรรคอื่น ๆ
ผลการเลือกตั้งแสดงให้เห็นว่า พรรค บี.เจ.พี. ได้รับความนิยมมากกว่าพรรคคองเกรสอย่างค่อนข้างชัดเจน เห็นได้จากจำนวนส่วนแบ่งที่นั่งของ พรรคบี.เจ.พี. ที่เพิ่มขึ้นในทุกรัฐ โดยเฉพาะรัฐราชสถานและเดลีซึ่งเคยเป็นฐานเสียงของพรรคคองเกรส แต่การเลือกตั้งหนนี้ประชาชนกลับเทคะแนนให้พรรค บี.เจ.พี. อย่างท่วมท้น
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วประเทศอินเดียจำนวน 552 คนในอีกห้าหกเดือนข้างหน้าจึงน่าจับตามองว่า พรรคบี.เจ.พี. จะมีชัยชนะเหนือพรรคคองเกรสเหมือนกับที่เพิ่งชนะมาได้อย่างท่วมท้น "ในรอบรองชนะเลิศ" ใน 5 รัฐที่มีที่นั่งรวมในสภาผู้แทนราษฎรรวมกันจำนวน 72 ที่นั่ง ได้อีกหรือไม่
ปรากฏการณ์ทางการเมืองทั้งหมดนี้ จะเกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจไทยก็ตรงที่ความแตกต่างระหว่างนโยบายเศรษฐกิจของพรรคใหญ่ทั้งสองพรรค
พรรค บี.เจ.พี. ซึ่งเป็นพรรคสายกลางเอียงขวา เชื่อว่าเมื่อมีการลงทุนมากขึ้น รัฐก็จะเก็บภาษีได้มากขึ้น จะมีเงินไปพัฒนาประเทศมากขึ้น ขณะที่พรรคคองเกรสซึ่งเป็นพรรคสายกลางเอียงซ้าย มุ่งขจัดความยากจนโดยเพิ่มการใช้จ่ายด้านรัฐสวัสดิการแก่คนยากจน เพราะเชื่อว่าเมื่อคนอยู่ดีกินดีก็จะทำงานให้เศรษฐกิจเติบโตได้ดี พรรคให้ความสำคัญกับสร้างสภาพคล่องทางการเงิน (equity) และการกระจายความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังนั้น แนวคิดของแต่ละพรรคที่มีต่อพ่อค้าและนักลงทุนต่างชาติก็น่าจะต่างกัน
เอกชนไทยที่กำลังทำธุรกิจหรือมีแผนจะไปลงทุนในอินเดีย จะชื่นชอบวิธีการทำงานและนโยบายของพรรคไหน ก็คงต้องคอยเชียร์คอยลุ้นผลการเลือกตั้งทั่วไปปีหน้ากันต่อไปครับ
โดย ไพฑูรย์ สงค์แก้ว
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,907 วันที่ 22 - 25 ธันวาคม พ.ศ. 2556