ฐานเศรษฐกิจ (มองอินเดียใหม่ ตอนที่ 108 : อินเดียกับปฏิบัติการบุกดาวอังคารที่ต้องซูฮก)
ก่อนอื่นพวกเราทีม thaiindia.net และคอลัมน์มองอินเดียใหม่ขออวยพรปีใหม่ปีม้าให้ผู้อ่านทุกท่านมีแต่สิ่งดีๆ เข้ามาในชีวิต คิดหวังสิ่งใดขอให้สมหวังทุกประการ ก้าวไปข้างหน้าอย่างองอาจประดุจม้าอาชาไนย
สิ่งที่เรานำมาเล่าสู่ท่านในวันนี้ น่าจะพุ่งเร็วกว่าม้าตัวไหนๆ นั่นก็คือโครงการอวกาศของอินเดีย ที่ในไม่ช้าจะกลายเป็นประเทศที่สี่ต่อจากสหรัฐฯ รัสเซีย และสหภาพยุโรป ที่สามารถไปถึงดาวอังคาร ที่ห่างจากโลกของเราไป 780 ล้านกิโลเมตรได้สำเร็จ
การเดินทางครั้งนี้ของอินเดีย เริ่มต้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เมื่อองค์กรวิจัยด้านอวกาศของอินเดีย หรือ ISRO ได้ส่งยานอวกาศที่มีชื่อเล่นเดียวกับชื่อปฏิบัติการครั้งนี้ว่า "มงคลยาน" (Mangalyaan) มุ่งหน้าไปยังดาวอังคาร โดยมีเป้าหมายเพื่อสำรวจชั้นบรรยากาศและตรวจหาก๊าซมีเทนบนพื้นผิวของดาวเคราะห์สีแดง ที่นักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันเชื่อว่า มีโอกาสมากที่สุดที่จะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้
ปฏิบัติการดาวอังคารของอินเดียครั้งนี้มีความสำคัญกับอินเดียในหลายแง่มุม ประการแรก หากโครงการนี้ประสบผลสำเร็จ "มงคลยาน" สามารถไปถึงวงโคจรของดาวอังคารได้ตามกำหนด 10 เดือน อินเดียจะสร้างประวัติศาสตร์กลายเป็นประเทศแรกในเอเชียที่บุกไปถึงดาวอังคารได้สำเร็จ
แม้อินเดียจะไม่ใช่ประเทศแรกจากเอเชียที่พยายามไปดาวอังคาร ทั้งจีนและญี่ปุ่นต่างก็พยายามมาแล้วแต่ประสบความล้มเหลว ดังนั้น หากอีก 10 เดือนข้างหน้าจะมีธงอินเดียปลิวไสวที่ดาวอังคาร ในแง่การแข่งขันกับจีน อินเดียก็จะถูกมองว่าเหนือกว่าจีนในอีกหนึ่งมิติ
การที่จีนออกมาแถลงว่า ไม่ได้เคยคิดแข่งกับอินเดียและพร้อมจะร่วมมือกับอินเดียต่อไปในสาขานี้ ก็แสดงให้เห็นว่า จีนก็ติดตามอินเดียในเรื่องนี้อยู่ไม่น้อย
สิ่งที่อินเดียจะได้อีกอย่างจากโครงการอวกาศ "มงคลยาน" คือการยอมรับจากนานาประเทศว่าอินเดียมีบุคลากรและมีความสามารถที่ไม่แพ้ประเทศใดในโลก โดยเฉพาะในด้านการค้นคว้าและวิจัยทางวิทยาศาสตร์
การที่อินเดียสามารถสร้าง "มงคลยาน" ได้ด้วยตัวเอง โดยลงทุนไปกับโครงการนี้เพียง 75 ล้านดอลลาร์ ในเวลาเพียง 15 เดือน (เทียบกับโครงการ MAVEN ของนาซ่า (NASA) ที่กำลังมุ่งหน้าไปดาวอังคารเช่นกัน ที่ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี และงบประมาณ 670 ล้านดอลลาร์) กำลังจะทำให้อินเดียกลายเป็นผู้นำในการปฏิวัติการวิจัยในสาขานี้ ซึ่งจะส่งผลดีอีกมากมายในการพัฒนาประเทศอินเดียในภาพรวม
ท่ามกลางคำวิพากษ์วิจารณ์ของหลายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการที่ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลเช่นนี้ เพราะเห็นว่าน่าจะนำเงินไปใช้ประโยชน์ในการทำให้คนจนอีกหลายร้อยล้านคนมีสภาพชีวิตที่ดีขึ้น รัฐบาลอินเดียกำลังแสดงให้ทั้งโลกเห็นว่า การพัฒนาประเทศไม่จำเป็นต้องเลือกทำด้านใดด้านหนึ่ง แล้วหยุดอีกด้านไว้ แต่ควรทำควบคู่กันไปเพื่อให้เกิดความสมดุล โดยผู้นำประเทศต้องมีวิสัยทัศน์กว้างไกล มองผลระยะใกล้และไกลไปพร้อมกัน
เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา "มงคลยาน" ประสบความสำเร็จไปขั้นหนึ่ง โดยได้หลุดออกจากวงโคจรของโลก เข้าสู่เส้นทางมุ่งหน้าดาวอังคาร หลังจากโคจรรอบโลกอยู่นานหนึ่งเดือนเพื่อรวบรวมความเร็ว "มงคลยาน" จะใช้เวลาเดินทางอีก 10 เดือน หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน "มงคลยาน" จะเข้าสู่วงโคจรของดาวอังคารในวันที่ 24 กันยายน 2557 ซึ่งจะเป็นวันที่ชาวอินเดีย 1,200 ล้านคนต้องจับตามองอย่างแน่นอน
สรุปปิดท้าย ความตั้งใจของเราที่นำเรื่องนี้มานำเสนอ เพียงอยากให้เอกชนไทยเปิดตาเปิดใจให้กว้าง มองอินเดียให้ครบทุกมุมก่อนที่จะตัดสินใจ นอกจากอินเดียจะเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ปฏิเสธไม่ได้แล้ว เรายังสามารถเรียนรู้อะไรหลายอย่างได้จากเขา เพราะเขากำลังจะไปไกลถึงดาวอังคารแล้ว
พวกเราขอบคุณทุกท่านอีกครั้ง ที่ติดตามคอลัมน์ "มองอินเดียใหม่" ของเรามาตลอดทั้งปี และหวังว่าท่านจะได้ประโยชน์จากการอ่านบทความต่างๆ ไม่มากก็น้อย หากท่านมีข้อคิดเห็น ข้อติชม มีเรื่องที่ต้องการให้เรานำมาเล่าสู่จากอินเดียที่จะเป็นประโยชน์ต่อท่าน ก็ขอให้แจ้งเรามาได้ผ่านทางเว็บไซต์ thaiindia.net หรือที่อี-เมล์ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. ครับ
โดย ประพันธ์ สามพายวรกิจ
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,911 วันที่ 5 - 8 มกราคม พ.ศ. 2557