ฐานเศรษฐกิจ (มองอินเดียใหม่ ตอนที่ 115: เครื่องสำอางธรรมชาติในอินเดีย)
ไม่น่าเชื่อ...เดี๋ยวนี้คนไทยนิยมใช้เครื่องสำอางอินเดีย ท่านผู้อ่านอ่านไม่ผิดหรอกครับ ตอนนี้คนไทยกำลังนิยมใช้เครื่องสำอางยี่ห้อ Himalaya ของอินเดียกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งผมสันนิษฐานว่าน่าจะเริ่มต้นมาจากความนิยมของคนไทยกลุ่มที่เดินทางไปแสวงบุญ ณ ดินแดนพุทธภูมิก่อนที่จะแพร่หลายแบบปากต่อปากไปในวงกว้างว่าเครื่องสำอางดังกล่าวคุณภาพดีแต่ราคาย่อมเยา คือประมาณว่าใช้ดีจึงบอกต่ออะไรทำนองนั้น จนทำให้ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางดังกล่าวที่อินเดียขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
เวลามีคณะนักท่องเที่ยวหรือคณะนักแสวงบุญจากประเทศไทยแวะไปเยือน โดยสินค้ายอดนิยมสำหรับกลุ่มคนไทยก็จะเป็นประเภทครีมทาหน้าต้านรอยเหี่ยวย่น ไนท์ครีม ครีมทาใต้ตาสำหรับแก้ผิวหนังบริเวณใต้ตาดำคล้ำ เจลล้างหน้า ครีมกันแดด ครีมพอกหน้า ครีมทาหน้าขาว รวมไปถึงยาสีฟัน โดยเฉพาะยาสีฟันนี่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เรียกว่าถ้าคณะจากประเทศไทยแวะเข้าร้าน Himalaya เมื่อไร ก็เป็นอันต้องซื้อยาสีฟันกันจนหมดร้านทุกที
อันนี้ยังไม่รวมถึงที่มีพ่อค้ารุ่นใหม่หัวใสทำ Presale รับสั่งซื้อเครื่องสำอางยี่ห้อนี้กันทาง Facebook อีกต่างหากนะครับ ประเด็นที่น่าสนใจคือ ทำไมคนไทยจึงกล้าใช้เครื่องสำอางจากอินเดีย ทั้งๆ ที่ภาพลักษณ์อินเดียสำหรับคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยดีนัก คำตอบก็คือเครื่องสำอางยี่ห้อดังกล่าวเป็นเครื่องสำอางที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติตามหลักอายุรเวชที่เราเรียกกันว่าเครื่องสำอางธรรมชาตินั่นเอง ซึ่งกระแสความนิยมเรื่องเครื่องสำอางธรรมชาติกำลังมาแรงอยู่ในขณะนี้
จริงๆ แล้วเครื่องสำอางธรรมชาติในอินเดียไม่ได้มีเฉพาะยี่ห้อ Himalaya เท่านั้น แต่ยังมีผู้เล่นอีกหลายรายที่แข่งขันกันอยู่ในตลาดอินเดีย
จากข้อมูลของบริษัทวิจัยตลาด Feedback ได้มีการแบ่งกลุ่มผู้เล่นในตลาดอินเดียไว้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่มียอดขายเกิน 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ผลิตสินค้าเครื่องสำอางธรรมชาติราคาย่อมเยาจำนวนมากจำหน่ายผ่านเน็ตเวิร์กทั่วประเทศอินเดีย โดยมีอยู่ 4 บริษัท คือ บริษัท Biotique, บริษัท Himalaya Drug Company, บริษัท Shahnaz Hussain และบริษัท VLCC
กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มบริษัทขนาดกลางที่มียอดขายอยู่ระหว่าง 10-80 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ผลิตและจำหน่ายสินค้าเครื่องสำอางธรรมชาติระดับกลางถึงระดับสูง จำหน่ายผ่านสปาและร้านเสริมสวย โดยมีอยู่ 7 ราย ได้แก่ บริษัท Lotus, บริษัท Blossom Kochhar, บริษัท Fab India, บริษัท Forest Essentials, บริษัท The Body Shop เป็นต้น และกลุ่มสุดท้ายเป็นกลุ่มบริษัทขนาดเล็ก มียอดขายต่ำกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี เป็นผู้ผลิตรายเล็กแต่ส่วนใหญ่จะเป็นผู้นำเข้า มีอยู่ 40 กว่าราย เช่น บริษัท Banjara, บริษัท Dhatri Herbal, บริษัท Indulekha เป็นต้น
ในปีงบประมาณ 2556 ที่ผ่านมา อินเดียผลิตเครื่องสำอางธรรมชาติเป็นมูลค่า 1,407 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีการส่งออก 182 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และบริโภคภายในประเทศ 1,225 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ ในด้านการส่งออก อินเดียมีตลาดส่งออกที่สำคัญที่สุดคือ ตลาดสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติมากที่สุด โดยบริษัท Shanaz กับบริษัท Himalaya เป็น 2 บริษัทที่มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดในการส่งออกจากประเทศอินเดีย
สำหรับการบริโภคภายในประเทศซึ่งมีมูลค่าถึง 1,225 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีงบประมาณ 2556 มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยประมาณปีละ 12% แต่เมื่อเทียบเฉพาะมูลค่าการบริโภคภายในประเทศสำหรับสินค้าเครื่องสำอางธรรมชาติของปีงบประมาณ 2556 กับปีงบประมาณ 2555 พบว่ามีการขยายตัวถึง 18% โดยมูลค่าการบริโภคภายในประเทศของปีงบประมาณ 2555 อยู่ที่ 1,038 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ส่วนสินค้าเครื่องสำอางธรรมชาติของอินเดียที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ เครื่องสำอางที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาผิวพรรณหรือที่เราเรียกว่า Skin Care ทั้งนี้ ในด้านการจัดจำหน่ายส่วนใหญ่ถึง 80% เป็นการจัดจำหน่ายโดยผ่านช่องทางค้าปลีก ส่วนที่เหลือเป็นการจัดจำหน่ายในระบบขายตรงถึงผู้บริโภค
อ่านมาถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านอาจจะรู้สึกว่าอุตสาหกรรมเครื่องสำอางธรรมชาติของอินเดียดูแล้วเข้มแข็งเหลือเกิน แล้วอย่างนี้เครื่องสำอางธรรมชาติของไทยจะสู้เขาได้หรือนี่ ก็ขอตอบตรงนี้เลยว่าโอกาสยังมีอยู่ครับเพราะตลาดอินเดียเป็นตลาดที่มีความหลากหลายและมีหลายมิติ และที่สำคัญก็คือ ชื่อ "Thailand" ยังเป็นตรารับรองคุณภาพสินค้าจากประเทศไทยในตลาดอินเดียได้เป็นอย่างดี เพราะคนอินเดียมีความรัก ความชื่นชม และความนิยมอะไรๆ จากประเทศไทยอยู่เป็นอย่างมาก ก็ขอฟันธงเลยว่าสินค้าเครื่องสำอางธรรมชาติจากประเทศไทยยังมีโอกาส แต่ต้องเจาะเข้าตลาดคนมีสตางค์ของอินเดียที่ภาษาการตลาดเรียกว่า Niche Marketนั่นแหละครับ
โดย อดุลย์ โชตินิสากรณ์
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,925 วันที่ 23 - 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557