ฐานเศรษฐกิจ (มองอินเดียใหม่ ตอนที่ 116: อินเดีย ทะเลแห่งโอกาสที่พลาดไม่ได้)
ด้วยขนาดของพื้นที่อันกว้างใหญ่ไพศาลรวมถึงจำนวนประชากรที่มากมาย และเหตุผลอีกหลายประการ ทำให้อินเดียวันนี้เป็นเป้าหมายการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ
ล่าสุด World Economic Forum รายงานดัชนีความสามารถในการแข่งขันใน Global Competitiveness Report 2013-2014 ผลปรากฏว่า อินเดียเป็นประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันเป็นอันดับที่ 60 จาก 144 ประเทศ ซึ่งถือเป็นหลักฐานสำคัญที่ยืนยันได้ว่าอินเดียเป็นประเทศที่ก้าวกระโดดไปเป็นเป้าหมายการลงทุนมากขึ้นเรื่อยๆ
ปัจจัยที่ทำให้อินเดียได้เปรียบคู่แข่งมีทั้งต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าประเทศอื่น แรงงานฝีมือดีมีคุณภาพและความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษ เทคโนโลยีที่ทันสมัย และที่สำคัญรัฐบาลที่สนับสนุนด้านการค้า การลงทุนและการทำวิจัยและพัฒนา (R&D) อย่างจริงจัง จนทำให้มีบริษัทต่างชาติกว่า 100 แห่งไปตั้งศูนย์ R&D Center ในอินเดีย เช่น พานาโซนิค แอร์บัส เฟซบุ๊ก และ LinkedIN
แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อินเดียกลายมาอยู่ในเรดาร์การลงทุนของโลก คือการที่รัฐบาลอินเดียมีเป้าหมายชัดเจนที่ต้องการส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติในหลายภาคส่วน ประกอบกับการที่มีกลุ่มชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อในประเทศมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น คนกลุ่มนี้มีรายได้มากพอที่จะเพิ่มปริมาณการซื้อสินค้าอุปโภคและบริโภคให้สูงขึ้น โดยกลุ่มธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตสูงขึ้นในแต่ละปี เช่น ยานยนต์ คอมพิวเตอร์ เครื่องมือสื่อสาร เครื่องอุปโภคบริโภค ฯลฯ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างผลกำไรอย่างงดงามให้กับบริษัทต่างชาติ
Hindustand Uniliver (HUL) เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในสาขาสินค้าอุปโภคบริโภค รายรับเพิ่มขึ้น ขณะที่บริษัท GlaxoSmithKline หรือ GSK บริษัทยาและเวชภัณฑ์รายใหญ่สัญชาติอังกฤษ สามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดแบบก้าวกระโดดจาก 14.8% เป็น 67.28 %
นโยบายของรัฐบาลอินเดียเกี่ยวกับการลงทุนจากต่างชาติ หรือ FDI ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2534 ภายใต้ Foreign Exchange Management Act (FEMA) มีส่วนทำให้เศรษฐกิจของอินเดียเริ่มมีสีสันและมีความคึกคักมากขึ้น โดยในปี 2012-2013 ได้มีการลงทุนจากต่างชาติเป็นจำนวนกว่า 2.24 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งในสาขาการท่องเที่ยวและบริการ อุตสาหกรรมยา เคมีภัณฑ์
ในส่วนของอุตสาหกรรมค้าปลีกมีความเคลื่อนไหวที่น่าตื่นเต้น คือซูเปอร์มาร์เก็ตยักษ์ใหญ่สัญชาติอังกฤษอย่างเทสโก้ (Tesco) มีแผนจะร่วมมือกับบริษัทในเครือทาทา (Tata Group) เตรียมลงทุนมูลค่าสูงถึง 1.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่นาฬิกาแบรนด์หรูสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์อย่าง Jaeger-LeCoultre ก็เริ่มเข้าไปลงทุนในตลาดค้าปลีกในอินเดียแบบเต็มรูปแบบเช่นกัน
World Investment Report ของ UN Conference on Trade and Development (UNCTAD) ได้รายงานว่า นโยบาย FDI ของอินเดียนั้นสามารถดึงดูดบริษัทต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในระหว่างช่วงมกราคม-พฤศจิกายน 2013 เป็นมูลค่าสูงถึง 2.67 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯเลยทีเดียว
จะเห็นได้ว่าอินเดียเป็นตลาดที่มีศักยภาพและเหมาะแก่การลงทุน อย่างไรก็ตาม อินเดียถือเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางอัตลักษณ์ ภาษาและวัฒนธรรมสูงมาก ดังนั้นผู้ประกอบการควรยึดหลัก Glocalisation หรือ การผสานความเป็นท้องถิ่น (Local) กับความเป็นสากล (Global) เข้าด้วยกัน โดยเคารพในความหลากหลาย ในการนำข้อมูลมาปรับใช้
นักลงทุนควรสร้างโมเดลธุรกิจที่เหมาะสมกับธุรกิจของตนในบริบทของตลาดการค้าแบบอินเดียแต่แฝงไว้ด้วยความเป็นสากล เน้นกลยุทธ์การพัฒนาสินค้าของตนให้ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเป้าหมายในพื้นที่ให้มากที่สุดเพื่อสร้างผลกำไรให้กับทางบริษัท
ในปัจจุบันกฎหมายของอินเดียได้เปิดกว้างให้ผู้ประกอบการสามารถเลือกลงทุนด้วยตนเองเต็มรูปแบบหรือร่วมลงทุนกับคู่ค้าชาวอินเดียก็ได้ การมีหุ้นส่วนเจ้าถิ่นจะช่วยในเรื่องการเข้าใจกลไกการตลาดและทำให้การดำเนินงานต่างๆ สามารถทำได้ง่ายและสะดวกขึ้น
ถึงจุดนี้น่าจะพอสรุปได้ว่า อนาคตการลงทุนในอินเดียของบริษัทข้ามชาติยังสดใส เต็มไปด้วยโอกาส แต่ผู้ที่สนใจไปลงทุนต้องศึกษาให้รอบคอบ หาหุ้นส่วนที่ไว้ใจได้ ก็น่าจะมีโอกาสเข้าไปแหวกว่ายในทะเลแห่งโอกาสได้ไม่ยาก
กมลชนก แซ่เล้า
นปร.รุ่น 6
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,927 วันที่ 2 - 5 มีนาคม พ.ศ. 2557