ฐานเศรษฐกิจ (มองอินเดียใหม่ ตอนที่ 117: ตกหลุมรักที่นาคาแลนด์)
เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสตามเสด็จฯสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีไปยังรัฐนาคาแลนด์ ในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศอินเดียอย่างเป็นทางการ สัปดาห์นี้เลยขอถือโอกาสนำเรื่องราวเกี่ยวกับรัฐเล็กๆ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียแห่งนี้ ซึ่งต่อไปในอนาคตอันใกล้จะมีความสำคัญต่อความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับอินเดียมาเล่าสู่ท่านผู้อ่าน
รัฐนาคาแลนด์เป็น 1 ใน 7 รัฐทางภาคอีสานของอินเดีย (รัฐเหล่านี้มีชื่อเรียกเล่นๆ ว่า รัฐเจ็ดสาวน้อย ประกอบด้วยรัฐนาคาแลนด์ รัฐอัสสัม รัฐเมฆาลัย รัฐมณีปุระ รัฐตริปุระ รัฐมิโซรัมและรัฐอรุณาจัลประเทศ) มีประชากรเพียง ประมาณ 1.9 ล้านคน ส่วนใหญ่มีเชื้อสายนาคา ("นาคา" มาจากคำว่า "Naka"ในภาษาพม่า แปลว่า "ผู้ที่เจาะจมูก") เป็นเผ่าพันธุ์มองโกลอยด์ หน้าตาละม้ายคล้ายคนแถบๆ บ้านเรามากกว่าชาวอินเดียส่วนใหญ่
ชาวนาคาดั้งเดิมจนถึงปัจจุบันอยู่แยกกันเป็นเผ่า เผ่าที่สำคัญ ได้แก่ แอนกามิ (Angami)อาว (Ao)คอนยัก (Konyak)โลธะ (Lotha) และสุมิ (Sumi) แต่ละเผ่าของชาวนาคามีขนบธรรมเนียมที่ต่างกันไป รวมทั้งภาษาพูดที่แตกต่างกันไป ชาวนาคาต่างเผ่าจึงจำเป็นต้องใช้ภาษานาคามีส (Nagamese) ซึ่งเป็นภาษาที่ผสมผสานระหว่างภาษาท้องถิ่น ฮินดีและอังกฤษ รวมถึงภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางในการสื่อสารระหว่างกัน
ในแง่ความสำคัญทางเศรษฐกิจ รัฐนาคาแลนด์ยังถือว่ามีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ยังตามหลังหลายๆ รัฐในประเทศ เช่นเดียวกับรัฐอีก6 รัฐในภาคอีสานของอินเดีย เพราะตั้งแต่ช่วงที่อินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี 2490 พื้นที่แถบนี้ประสบปัญหากลุ่มการแบ่งแยกดินแดนที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลกลาง ทำให้การพัฒนาเป็นไปได้ยาก
จากการได้ไปสำรวจเมืองสำคัญๆ ของรัฐนาคาแลนด์ ไม่ว่าจะเป็นเมืองหลวงของรัฐที่ชื่อโคฮิมา (Kohima) หรือเมืองทิมปุระ (Dimapur)เมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจก็พบว่า ยังไม่มีอุตสาหกรรมการผลิตหรืออุตสาหกรรมหนักให้เห็น มีเพียงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการเกษตรที่เป็นอุตสาหกรรมหลัก
การท่องเที่ยวนาคาแลนด์ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้ให้กับรัฐและมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีก เพราะรั
ฐนาคาแลนด์ได้เปรียบเรื่องการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม มีวัฒนธรรมชนเผ่าที่หลากหลายและหาได้ยาก ที่ผ่านมารัฐบาลนาคาแลนด์ใช้สโลแกนส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐว่า "นาคาแลนด์ ดินแดนแห่งเทศกาล" (Land of Festivals)เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศให้ไปร่วมเทศกาลเฉลิมฉลองที่มีสีสันของชนเผ่าต่างๆ ที่มีขึ้นตลอดทั้งปี โดยไฮไลต์อยู่ที่งานเทศกาลนกเงือก (Hornbill Festival)ช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ทุกเผ่าในนาคาแลนด์ร่วมกันเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่
ด้านการเกษตร ชาวนาคาแลนด์ส่วนใหญ่ยังคงพึ่งพาอาชีพเกษตรกรรมในการหาเลี้ยงชีพ โดยปลูกข้าวเป็นหลัก ชาวนาคาแลนด์นิยมบริโภคข้าวสายพันธุ์คล้ายๆ บ้านเรา ต่างจากชาวอินเดียอื่นๆ ที่นิยมข้าวบาสมาติ แต่ด้วยภูมิประเทศที่เป็นภูเขา ทำให้มีข้อจำกัดในการปลูกข้าวในปริมาณมากๆ เพื่อการส่งออก
แต่พืชเศรษฐกิจที่เห็นจะมีความสำคัญของรัฐนาคาแลนด์คือไม้ไผ่ที่มีการปลูกกันอย่างกว้างขวาง (ประมาณ 2.2 แสนไร่) เดิมทีเป็นการปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ในครัวเรือน เช่น บริโภคหน่อไม้ สร้างบ้านและเฟอร์นิเจอร์ แต่ในช่วงหลังเริ่มมีการพัฒนาอุตสาหกรรมเพิ่มมูลค่าอย่างเป็นระบบ โดยนาคาแลนด์ถือเป็นรัฐแรกของอินเดียที่มีการจัดตั้งศูนย์ทรัพยากรไผ่เพื่อทำการวิจัยพันธุ์ไผ่และส่งเสริม SME ด้านไม้ไผ่
สิ่งที่จะทำให้รัฐนาคาแลนด์มีความสำคัญต่อประเทศไทยในด้านเศรษฐกิจก็คือความนิยมไทยของชาวนาคาแลนด์ ทั้งนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวไทย นิยมใช้สินค้าไทย และที่สำคัญรัฐนาคาแลนด์เป็นทางผ่านของถนนสายเอเชียเส้นทางเชื่อต่อถนน 3 ฝ่าย (Trilateral Highway)ระหว่างไทย-เมียนมาร์-อินเดีย ตามแผนส่งเสริมการเชื่อมโยงอาเซียน-อินเดีย ซึ่งหมายถึงเป็นเส้นทางการค้าที่สามารถเชื่อต่อถึงไทยได้ในอนาคต
พ่อค้านักลงทุนไทยที่ยังไม่เคยผ่านไปทางนี้ น่าจะลองแวะไปเยี่ยมเยียนรัฐนาคาแลนด์ดูบ้าง วิธีเดินทางไปรัฐนาคาแลนด์ที่สะดวกที่สุดคือบินจากกรุงเทพฯ ไปลงที่เมืองกัลกัตตาแล้วต่อเครื่องภายในประเทศไปยังเมืองทิมปุระ เชื่อผมเถอะครับ หากท่านได้ไปรัฐนาคาแลนด์สักครั้ง ท่านจะต้องตกหลุมรักผู้คนและขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวนาคาแลนด์ที่มีเอกลักษณ์และมีเสน่ห์ จนท่านจะต้องอยากกลับไปเยือนรัฐนี้อีกครั้งเหมือนผมแน่นอน ฟันธง!
โดย ประพันธ์ สามพายวรกิจ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,929 วันที่ 9 - 12 มีนาคม พ.ศ. 2557