ฐานเศรษฐกิจ : มองอินเดียใหม่ (ตอนที่ 121 - อาหารแปรรูปในอินเดีย โอกาสแบบเห็นๆ ของเอกชนไทย)
เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้เขียนมีโอกาสได้ไปสำรวจตลาดผลไม้ในเมืองกัลกัตตา (เมืองหลวงของรัฐเบงกอลตะวันตก ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ซึ่งเป็นส่วนที่อยู่ใกล้กับไทยมากที่สุด) ก็ได้พบว่าประเทศอินเดียก็มีผลไม้วางจำหน่ายให้เลือกรับประทานกันหลากหลายพันธุ์ไม่ใช่น้อย
ด้วยความหลากหลายทางภูมิประเทศและภูมิอากาศ ทำให้อินเดียมีทั้งผลไม้ฤดูหนาว เช่น แอปเปิล สตรอเบอร์รี่ หรือผลโทงเทงฝรั่ง (cape gooseberry) ซึ่งอินเดียขายถูกกว่าบ้านเราเกินครึ่ง และผลไม้ฤดูร้อน ได้แก่ มะม่วงสุก ซึ่งมีนับร้อยพันธุ์ อาทิ Alphonso และ Gulabkhas มีกลิ่นและรสสัมผัสต่างจากมะม่วงบ้านเรา แถมยังมีสับปะรด แตงโม และทับทิม ซึ่งเป็นผลไม้ขึ้นชื่อที่คนไทยมักซื้อหากลับไปเป็นของฝากเนื่องจากมีผลขนาดที่ใหญ่กว่าที่หาซื้อได้ในไทย
แต่สิ่งที่ทำให้ผู้เขียนแปลกใจระหว่างการออกสำรวจตลาดครั้งนี้ก็คือ ตามชั้นวางสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านค้าปลีกแทบไม่มีผลไม้กระป๋องที่ผลิตในอินเดียขายเลย ผลไม้กระป๋องที่มีวางจำหน่ายจำพวกสับปะรดหั่นแว่น ลูกพีชในน้ำเชื่อมก็มาจากประเทศฟิลิปปินส์และมาเลเซียเสียส่วนใหญ่ ขณะที่ถั่วบรรจุกระป๋องและน้ำผลไม้กระป๋องก็มาจากไทย
จากการสอบถามคนท้องถิ่นจึงได้ทราบว่า สาเหตุที่ยังไม่มีการผลิตผลไม้แปรรูปกันมากนักในกัลกัตตาก็เป็นเพราะชาวกัลกัตตาส่วนใหญ่ยังนิยมบริโภคผลไม้ที่ผ่านการแปรรูปตามกระบวนการถนอมอาหารแบบพื้นบ้านภารตะ เช่น การอบแห้งหรือผสมเครื่องเทศก่อนนำไปดองในขวดโหล ซึ่งก็มีวางจำหน่ายทั่วไปตามร้านค้า จึงไม่ต้องพูดถึงมาตรฐานบรรจุภัณฑ์และสุขอนามัยที่ยังไม่มีการจัดการเป็นระบบ
แต่ที่ผ่านมาก็ได้มีความพยายามของผู้ประกอบการและสมาคมหอการค้าหลายแห่งในรัฐเบงกอลตะวันตกและรัฐโอริสสาที่มองเห็นโอกาส ได้เคยเสนอขอมีความร่วมมือกับเอกชนไทยเพื่อรับการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการแปรรูปผลไม้ โดยเฉพาะการนำผลไม้ที่ออกผลงอกงามตลอดปีในทั้ง 2 รัฐไปบรรจุกระป๋อง ซึ่งจะช่วยให้สามารถเก็บรักษาผลไม้ไว้ได้นาน
โอกาสที่ว่านี้ ก็มาจากปัญหาผลผลิตทางเกษตรเน่าเสียที่อินเดียประสบอยู่ทุกวันนี้ และการขาดอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร เช่น การบรรจุกระป๋องผลผลิตทางการเกษตร ทำให้ในปีหนึ่งๆ มีผลผลิตทางการเกษตรของอินเดียจำนวนมากต้องเน่าเสียไปโดยไม่เกิดคุณค่า
จากข้อมูลของกระทรวงอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารพบว่า อินเดียสามารถผลิตผักผลไม้ที่เป็นอาหารได้จำนวนถึง 205 ล้านตันต่อปี เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากจีน ทว่าผักผลไม้ที่ผลิตได้กลับถูกนำมาแปรรูปเพียงแค่ 6% เท่านั้น
ความพยายามของภาคเอกชนอินเดียที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปในอินเดียทำให้สมาคมหอการค้าและอุตสาหกรรมอินเดีย (ASSOCHAM) คาดการณ์ว่า ภายในปี 2558 อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปของอินเดียจะเพิ่มมูลค่าขึ้นเป็น 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับไทยซึ่งเรียกได้ว่าเป็นผู้ผลิตอาหารแปรรูปรายใหญ่ของโลก นี่จึงเป็นโอกาสที่จะเข้าไปเติมเต็มช่องว่างของตลาดนี้ในอินเดีย
ปัจจัยที่ทำให้เอกชนไทยควรพิจารณาหาช่องเข้าไปลงทุนด้านอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารในอินเดียก็คือ
1. ขนาดตลาดมหึมา ประชากรกว่า 1.2 พันล้านคน โดยสถาบัน McKinsey คาดการณ์ว่า ภายในปี 2568 อินเดียจะกลายเป็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่อันดับ 5 ของโลก
2. รสนิยมการบริโภคของชาวอินเดียสมัยใหม่ที่มีกำลังซื้อมากขึ้นและเปิดกว้างต่ออาหารรูปแบบใหม่ๆ เช่น ในเมืองกัลกัตตา มีร้านอาหารต่างชาติทยอยมาเปิดมากขึ้น พร้อมกับอาหารและเครื่องปรุงจากต่างประเทศที่มาคู่กัน
3. ผลผลิตการเกษตรที่มีอย่างเหลือเฟือ ผักผลไม้มีให้เลือกสรรมากมายและบางชนิดมีรสชาติอร่อยเข้มข้น รัฐเบงกอลตะวันตกรัฐเดียวปลูกมันฝรั่งเป็นจำนวนถึง 30% ของทั้งประเทศ (ไม่น่าประหลาดใจที่บริษัท Frito-Lay เข้ามาเปิดโรงงานผลิตมันฝรั่งทอดกรอบในเมือง Howrah) รองลงมาคือสับปะรด 27% ข้าว 16% กล้วย 12%
4. ค่าแรงที่ถูกกว่าประเทศอุตสาหกรรมอื่นที่จะช่วยให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง
5. ที่ตั้งที่เป็นยุทธศาสตร์ที่ทำให้อินเดียสามารถเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศที่ 3 ได้ ทั้งสู่ยุโรปผ่านตะวันออกกลาง รวมไปถึงแอฟริกา
ที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงปัจจัยเบื้องต้น ผู้ที่สนใจเข้าไปทำธุรกิจหรือลงทุนในอินเดียในด้านนี้จริงๆ ควรคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศที่ส่งผลต่อการเพาะปลูก ระบบการขนส่ง เพดานการลงทุนจากต่างชาติในสาขานี้ กระบวนการทางกฎหมายที่มีความซับซ้อน กฎระเบียบด้านการลงทุนที่แตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ และการมีหุ้นส่วนอินเดียที่เชื่อถือได้ ฯลฯ
ท่านผู้อ่านที่สนใจสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเข้าไปลงทุนด้านอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารในอินเดียได้ที่เว็บไซต์ http://103.247.98.218/~mofpi/ ซึ่งจัดทำขึ้นโดยเฉพาะโดยรัฐบาลอินเดียเพื่อส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในสาขาดังกล่าว
โดย ภัทธิรา เจียมปรีชา
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตา
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,937 วันที่ 6 - 9 เมษายน พ.ศ. 2557