ฐานเศรษฐกิจ (มองอินเดียใหม่ ตอนที่ 125: พลังงานใหม่และพลังงานทดแทน)
จำนวนประชากรและเศรษฐกิจของอินเดียเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการพลังงานในอินเดียเพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบัน อินเดียใช้พลังงานมากเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา จีน และรัสเซีย ในขณะที่ผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากเป็นอันดับ 4 ของโลก เชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของอินเดีย คือ ถ่านหิน (59%) รองลงมาได้แก่ พลังน้ำ (17%) พลังงานทดแทน (12%) ก๊าซธรรมชาติ (9%) นิวเคลียร์ (2%) และน้ำมัน (1%)
ด้วยอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่อุปทานที่ผลิตได้ในประเทศไม่เพียงพอ อินเดียจึงประสบปัญหาขาดแคลนพลังงานมายาวนาน แม้รัฐบาลพยายามนำเข้าถ่านหิน น้ำมัน และพลังงานอื่นๆ จากต่างประเทศแล้ว ก็ยังมีการประเมินกันว่า คนอินเดียกว่า 300 ล้านคนยังคงไม่มีไฟฟ้าใช้ และประชากรในชนบทประมาณ 1 ใน 3 และในเมืองประมาณ 6% ยังคงขาดแคลนไฟฟ้า ส่วนผู้ที่เข้าถึงไฟฟ้าก็ยังไม่ได้รับกระแสไฟฟ้าที่สม่ำเสมอ เนื่องจากปัญหา อาทิ ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกมีไม่เพียงพอและราคามีภาวะผันผวนสูง โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้ามีไม่เพียงพอ มีการสูญเสียของกระแสไฟฟ้าระหว่างการขนส่ง และการที่รัฐบาลควบคุมค่าไฟฟ้า ทำให้ผู้ผลิตขาดทุนและขาดแรงจูงใจในการผลิตและเพิ่มกำลังการผลิต
เมื่อพิจารณาถึงปัญหาด้านพลังงานของอินเดียและจากข้อเท็จจริงที่ว่า ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมัน เป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป (Non-renewable resources) ส่งผลให้การสรรหาแหล่งพลังงานกลายเป็นเรื่องท้าทาย และทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ รัฐบาลอินเดียจึงเริ่มส่งเสริมและพัฒนาพลังงานทางเลือก และในปี 2549 ได้จัดตั้งกระทรวงพลังงานใหม่และพลังงานหมุนเวียน (Ministry of New and Renewable Energy - MNRE) MNRE ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือก เพื่อปรับปรุงสถานการณ์ด้านพลังงานของอินเดีย ซึ่งรวมถึงการสรรหาและพัฒนาแหล่งพลังงานในหลากหลายรูปแบบ อาทิ พลังงานน้ำ ลม นิวเคลียร์ แสงอาทิตย์ ความร้อนใต้พิภพ และกระแสคลื่นในทะเล ปัจจุบัน อยู่ระหว่างแผนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับประจำปี 2554-60
เพื่อส่งเสริมการลงทุนในสาขาพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือก รัฐบาลอินเดียได้สร้างแรงจูงใจ อาทิ นโยบายยกเว้นภาษี และให้การลดหย่อนอื่นๆ และเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ รัฐบาลอินเดียเปิดกว้างให้มีการลงทุนจากต่างชาติได้ถึง 100% ทำให้ปัจจุบัน มีการลงทุนในสาขานี้กว่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี และระหว่างปี 2555-56 อินเดียผลิตพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือกได้คิดเป็น 12.5% ของพลังงานที่ผลิตได้ในประเทศทั้งหมด โดยที่ภาคเอกชนไทยมีศักยภาพในด้านนี้ ก็อาจพิจารณาลงทุนในสาขาพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือกในอินเดียเป็นทางเลือกไว้ด้วย
โดยที่ขณะนี้ อินเดียอยู่ระหว่างการเลือกตั้งทั่วไป และในอีกไม่เกิน 1 สัปดาห์จากนี้ (วันที่ 16 พ.ค.) ชาวอินเดียจะได้รู้ผลการเลือกตั้งดังกล่าว ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนที่แล้ว หลายฝ่ายจึงเริ่มให้ความเห็นเกี่ยวกับนโยบายด้านพลังงานของอินเดียในอนาคต ว่าจะเป็นอย่างไรภายใต้รัฐบาลใหม่ ซึ่งเป็นที่คาดหวังกันอย่างกว้างขวางว่า พรรค บี.เจ.พี. (Bharatiya Janata Party - BJP) จะได้รับชัยชนะ และนายนเรนทร โมดี (Narendra Modi) หัวหน้าพรรค บี.เจ.พี. และมุขมนตรีรัฐคุชราต จะได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่
หากพรรค บี.เจ.พี. ชนะการเลือกตั้งจริง ก็เป็นที่น่าจับตามองว่า นายโมดีจะสามารถก้าวผ่านปัญหาด้านพลังงานของอินเดียได้อย่างที่ทำมาแล้วกับรัฐคุชราตระหว่างการเป็นมุขมนตรีหรือไม่ หลายท่านคงยังไม่ทราบว่า ในขณะที่ประเทศอินเดียประสบปัญหาขาดแคลนพลังงานเรื้อรัง รัฐคุชราตกลับผลิตพลังงานได้เพียงพอสำหรับการใช้งาน มีพลังงานเหลือใช้และส่งออกไปยังรัฐข้างเคียงด้วย เนื่องจากนายโมดีได้ส่งเสริมสาขาพลังงานทางเลือกและพลังงานหมุนเวียนอย่างจริงจัง และได้พัฒนาหน่วยงาน Gujarat Energy Development Agency (GEDA) ภายใต้ MNRE ให้มีชื่อเสียงในแง่อื่นๆ มากกว่าหน่วยงานที่ได้ชื่อว่าพัฒนาหม้อหุงข้าวพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับประชาชนเมื่อปี 2522 ปัจจุบัน รัฐคุชราตมีอัตราการเติบโตของกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือก 10.5% ซึ่งคาดว่าจะต่อเนื่องไปจนถึงปี 2563 ด้วยการเพิ่มกำลังการผลิต 34.86 กิกะวัตต์ทุกปี จากพลังงานแสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และกระแสน้ำ
GEDA เป็นกำลังสำคัญที่ทำให้รัฐคุชราตเป็นที่รู้จักในหมู่บริษัทข้ามชาติ และสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้มากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ด้วยประเด็นหลักคือ มีพลังงานเพียงพอสำหรับความต้องการภายในรัฐและเหลือส่งออกไปยังรัฐข้างเคียง และประเด็นรองต่างๆ อาทิ รัฐบาลคุชราตมีนโยบายเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ ความพร้อมในสาขาโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ด้านการคมนาคม มีสนามบิน 11 แห่ง มีทางหลวง รางรถไฟ ท่าเรือรอบชายฝั่ง 1.6 พันกิโลเมตร ซึ่งยาวหนึ่งในสามของชายฝั่งอินเดียทั้งหมด มีท่อส่งก๊าซเชื่อมทั่วทุกภาคของรัฐ มีเขื่อนพลังน้ำสามารถบริหารจัดการตามความต้องการได้ ฯลฯ
โดย พจมาศ แสงเทียน
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,947 วันที่ 11 - 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2557