ฐานเศรษฐกิจ (มองอินเดียใหม่ ตอนที่ 126: สลัมมุมไบ ขุมกำลังที่ไม่อาจมองข้าม)
ชุมชนแออัดหรือที่เราและชาวอินเดียเรียกกันอย่างติดปากว่า “สลัม”เป็นคำที่ยืมมาจากภาษาฝรั่งหมายถึงพื้นที่ที่ผู้อยู่อาศัยเผชิญความยากจนทั้งทางทรัพย์และโอกาสและมีความเป็นอยู่ที่ลำบากในพื้นที่แออัด
สำหรับคนไทย เราคุ้นเคยกันดีกับภาพลักษณ์ของชุมชนแออัด ที่เป็นแหล่งที่มาของปัญหาสังคมต่างๆ อันเนื่องมาจากสภาพบีบบังคับทางเศรษฐกิจ แต่นั่นก็เป็นเพียงการมองจากแง่มุมเดียวเท่านั้น แต่สำหรับสลัมในเมืองมุมไบ รัฐมหาราษฏระ ประเทศอินเดียนั้น สลัมยังเป็นที่อยู่อาศัยของคนที่เป็นกำลังสำคัญของเศรษฐกิจ
ในภาพรวม ผู้อาศัยในชุมชนแออัดในเมืองมุมไบน่าจะแบ่งได้เป็น3 กลุ่มหลัก ได้แก่
(1) ชาวอินเดียที่อพยพมาจากเมืองหรือรัฐอื่นๆ ในอินเดีย เช่นรัฐราชาสถานและรัฐอุตตรประเทศไปตั้งรกรากจากชั่วคราวเป็นค้างคืน และจากค้างคืนกลายเป็นถาวร เพื่อแสวงหาโอกาสลืมตาอ้าปากในมหานครศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของอินเดีย
(2) ชนพื้นถิ่นรัฐมหาราษฏระ(Maharashtra) หรือที่เรียกว่า ชาวมาราตี (Marathi) ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวประมงและปัจจุบันก็ยังคงมีชุมชนแออัดชาวมาราตีที่ประกอบอาชีพประมงเป็นหลักอยู่ตามริมชายฝั่งเมืองมุมไบ
(3) ผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางและต้องการค่าที่พัก ตลอดจนเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงาน ทั้งนี้เพราะค่าเช่าที่พักในเขตเมืองของอินเดียสูงมาก เมื่อเทียบกับรายได้เฉลี่ยทั่วไปของมนุษย์เงินเดือน ห้องพักในสลัมจึงเป็นทางเลือกที่พอจะช่วยให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้
สลัมกลางเมืองมุมไบอาจจะมีภาพลักษณ์ต่างจากที่เราเคยประสบ คือมีกำลังซื้อไม่ธรรมดาครับ เห็นได้จากจานรับสัญญาณเคเบิลทีวีมีเกือบทุกครัวเรือน ผู้ให้บริการ (ก็คนในสลัมที่ผันตัวมาเป็นผู้ประกอบการ) กลายเป็นเสี่ยใหญ่ทรงอิทธิพล สลัมบางแห่งก็มีร้านขายทองและเครื่องประดับอัญมณีให้เห็น
สลัมชื่อดังของมุมไบมีหลายที่เช่น สลัมสนามบิน (Andheri Slum) ที่ยิ้มรับผู้เดินทางมาเยือนตั้งแต่เครื่องยังไม่แตะพื้นด้วยขนาดพื้นที่อันดับ 2 ของเอเชีย สลัมลานซักผ้ากลางแจ้ง (DhobiGhat) ที่หลายโรงแรมใช้บริการและสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อย่างมากมาย และที่โด่งดังอันดับ 1 ขนาดได้ปรากฏโฉมในภาพยนตร์ฝั่งฮอลลีวูดที่ประสบความสำเร็จท่วมท้นอย่าง SlumdogMillionaire ก็คือสลัมที่เคยรั้งตำแหน่งที่ 1 ของเอเชีย/โลกด้านขนาดนามว่า “ดาราวี” (Dharavi)
แม้จะมีการประมาณการโดยหลายหน่วยงานว่า มุมไบมีประชากรที่อาศัยในชุมชนแออัดกว่าร้อยละ 50-60ของประชากรในเมืองซึ่งมีราวๆ 10-20ล้านคน (ตัวเลขแล้วแต่สำนัก) ดูเหมือนว่าจะมีคนยากจนจำนวนมาก แต่สลัมดาราวีแห่งเมืองมุมไบไม่ทำให้เสียชื่อมหานครเซี่ยงไฮ้แห่งอินเดีย (คนอินเดียเขาว่ากัน)
สลัมใหญ่ๆ อย่างดาราวีเป็นเสมือนเมืองอีกเมืองซ้อนทับอยู่ในมุมไบทีเดียว นอกจากกำลังซื้อที่ไม่ธรรมดาแล้ว ยังมีกำลังผลิตมหาศาลจากแรงงานที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดนั้น จนได้รับการเรียกขานว่าเป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดย่อม ซึ่งปั้นเศรษฐีเงินล้านมาแล้วนักต่อนัก
ปัจจุบันเวลาผ่านดาราวี เราจะเห็นดาราวีเป็นแหล่งขายสินค้าเครื่องหนัง (แท้) ราคาย่อมเยาแหล่งใหญ่โดยผลิตมาจากภายในดาราวีเองอุตสาหกรรมการผลิตภายในคูหาอื่นๆเช่น เครื่องครัว ผลิตภัณฑ์จากโลหะเสื้อผ้า ขนมขบเคี้ยว (เช่น มัน/ผัก หั่นเป็นแว่นแล้วนำไปทอด) ยา ฯลฯ หากจะกล่าวว่ามีทุกอย่างก็คงจะไม่เกินจากความจริงนัก กิจการบางเจ้าผลิตป้อนตลาดต่างประเทศและตลาดระดับบนภายในประเทศเป็นการเฉพาะ ซึ่งแม้รายได้จะลดลงเนื่องจากผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปลายปี ค.ศ. 2008 แต่ก็สามารถทำรายได้กว่า 100 ล้านรูปีต่อปี
นอกจากนี้ยังมีธุรกิจอีกหลายประเภทที่ปั้นเศรษฐีหลักล้านรูปีขึ้นมาแต่คนเหล่านี้เป็นจำนวนน้อยที่ย้ายตัวเองและครอบครัวออกจากสลัมไม่ว่าจะด้วยเพราะความเคยชิน คุ้นเคย หรือผูกพันกับสถานที่นี้ ซึ่งผู้อยู่อาศัยหลายคนรู้สึกว่าเป็นหัวใจของมุมไบ
ในจำนวนประชากรในสลัมทั่วเมืองมุมไบกว่า 5 - 10 ล้านคนส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่มีฐานะดี มีกำลังซื้อระดับที่สามารถส่งบุตรหลานไปศึกษาต่อในประเทศยอดนิยม เช่นอังกฤษได้ อีกทั้งยังมีขุมกำลังการผลิตจากแรงงานที่หลั่งไหลมาจากพื้นที่รอบนอกเมืองมุมไบ สร้างกำลังการผลิตต้นทุนตํ่าสร้างข้อได้เปรียบในตลาด
เรื่องราวของสลัมในเมืองมุมไบนี้ชี้ให้เราเห็นอีกครั้งว่า อินเดียมีขุมทรัพย์แห่งโอกาสซ่อนเร้นอยู่ทุกหนทุกแห่ง อยู่ที่เราจะเปิดใจมองอินเดียใหม่หรือไม่ เพราะอินเดียได้เปลี่ยนไปจากภาพเก่าๆ ที่เราคุ้นเคยในอดีต และยังมีอะไรให้เราเรียนรู้และค้นหาอยู่อีกมาก
โดย สรยศ กิจภากรณ์
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมือง มุมไบ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,949 วันที่ 18 - 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2557