ฐานเศรษฐกิจ (มองอินเดียใหม่ ตอนที่ 130: ถึงเวลาหรือยังที่ไทยจะ'มา'ไม่ใช่แค่'มอง'อินเดีย)
หลายท่านคงได้ทราบกันแล้วว่า อินเดียเพิ่งจะได้นายกรัฐมนตรีป้ายแดง นายนเรนทร โมดี อดีตมุขมนตรีของรัฐคุชราต (เทียบได้กับนายกรัฐมนตรีของรัฐที่มาจากการเลือกตั้ง) ซึ่งได้เคยมีผลงานปฏิรูปรัฐคุชราตจนมีความโดดเด่นเกินหน้ารัฐอื่นๆ ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม ประกอบกับภาพลักษณ์ความเป็นคนมือสะอาด จนทำให้พรรคบีเจพีของนายโมดีชนะการเลือกตั้งถล่มทลาย
แต่อันที่จริงแล้ว การชนะการเลือกตั้งของนายโมดียังเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น เพราะระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งนายโมดีได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะแก้ไขปัญหาของประเทศในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาคอร์รัปชัน เศรษฐกิจที่ตกต่ำ ดังนั้น จากนี้ไป จึงเป็นช่วงสำคัญที่นายโมดีจะพิสูจน์ให้ฐานเสียงของตนได้เห็นว่าจะสามารถทำตามคำสัญญาต่างๆ ได้มากน้อยเพียงใด ท่ามกลางความคาดหวังอย่างมากจากประชาชน
แม้ขณะนี้ประชาชนกำลังตั้งตารอการแถลงนโยบายอย่างเป็นทางการของรัฐบาลโมดี 1 ที่จะออกมาในรูปแบบการประกาศแผนงบประมาณประจำปีในช่วงเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ ชาวอินเดียก็ได้รับฟังแผนการบริหารประเทศเบื้องต้นแล้วจากถ้อยแถลงของ นายประณับ มุขะร์ชี (Pranab Mukherjee) ประธานาธิบดีอินเดีย ต่อหน้าสภาผู้แทนราษฎร (โลกสภา) และวุฒิสภา (ราชสภา) เมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยตามธรรมเนียมถ้อยแถลงนี้จะถือเป็นภาพกว้างของสิ่งที่จะตามมาในการแถลงนโยบายในเดือนกรกฎาคม โดยมีประเด็นด้านเศรษฐกิจที่เอกชนไทยควรจับตามอง ดังนี้
1. กระตุ้นการเติบโต ด้วยอัตราการเจริญเติบโตจีดีพีที่ต่ำกว่า 5% ติดกัน 2 ปี และภาษีที่เก็บได้ก็ลดลง รัฐบาลชุดนี้มุ่งที่จะพัฒนาเศรษฐกิจให้มีอัตราการเติบโตสูงอีกครั้ง โดยควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ดึงดูดการลงทุน สร้างงาน และสร้างความเชื่อมั่นภายในและต่างประเทศด้วย
2. เร่งควบคุมอัตราเงินเฟ้อ อินเดียประสบภาวะเงินเฟ้อสูงเกือบ 10% มาเกือบ 2 ปี ซึ่งได้ดึงให้อัตราดอกเบี้ยสูงตามไปด้วย ส่งผลลบต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รัฐบาลนายโมดีจะเน้นการปรับปรุงด้านอุปทาน (supply side) ของผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตรหรือการแปรรูปทางการเกษตร ป้องกันการกักตุนสินค้าและตลาดมืด และจะปฏิรูประบบการกระจายสินค้าด้วย
3. เร่งการสร้างงาน รัฐบาลนี้จะเร่งส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเป็นหลัก (labour intensive) และขยายโอกาสการจ้างงานในภาคการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมด้านการเกษตร เพื่อให้อัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้นในอัตรา 8% ต่อปีเพื่อรองรับจำนวนประชากรในวัยทำงาน
4. เพิ่มการลงทุนในภาคการเกษตร โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรและเทคโนโลยีทางการเกษตร เพื่อเพิ่มความสามารถในการผลิต การแปรรูปผลผลิต และการกระจายสินค้า
5. ปรับระเบียบกฎเกณฑ์และสร้างบรรยากาศการลงทุน ปฏิรูประบบภาษีให้ง่ายแต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้คาดการณ์ได้ โปร่งใส และยุติธรรม ไม่เป็นอุปสรรคแต่นำไปสู่การลงทุน การประกอบธุรกิจ และการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ และจะนำระบบ Goods and Service Tax (GST) มาใช้ทั่วประเทศ นอกจากนั้น จะดำเนินนโยบายส่งเสริมการลงทุน รวมถึงการลงทุนทางตรง ในสาขาที่จะเพิ่มการสร้างงานและสินทรัพย์
6. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน จัดทำโครงการพัฒนาสำหรับอีก 10 ปี และในชั้นแรกจะพัฒนาระบบราง โดยดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง สร้างโครงข่ายเชื่อมต่อการขนส่ง โดยเฉพาะสำหรับสินค้าที่เน่าเสียได้ ขยายระบบรางให้ครอบคลุมรัฐในแถบภูเขา (Hilly States) และภาคอีสาน และปรับปรุงระบบความปลอดภัยของรถไฟให้ทันสมัย นอกจากนั้น จะเพิ่มการเชื่อมโยงทางอากาศระหว่างเมืองขนาดเล็ก พัฒนาท่าเรือที่มีอยู่แล้วและสร้างท่าเรือขึ้นใหม่ และจะเชื่อมท่าเรือกับพื้นที่ห่างไกลด้วยถนนและรถไฟ
7. ฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรม ให้มีความสามารถในการแข่งขันด้วยทักษะของแรงงาน ขนาดของอุตสาหกรรม และความรวดเร็วในการทำงาน โดยจะสร้างเขตลงทุนและอุตสาหกรรมระดับมาตรฐานสากล โดยเฉพาะบริเวณระเบียงอุตสาหกรรมและการขนส่ง และสร้างระบบ single window นอกจากนั้น เพื่อส่งเสริมการส่งออก จะทำให้ขั้นตอนการทำงานง่ายขึ้น เพื่อลดเวลาและต้นทุนการผลิต
8. ความมั่นคงทางพลังงาน จะมีนโยบายพลังงานแห่งชาติ โดยเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน ทรัพยากรบุคคล และเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้า ขยายพันธกิจด้านพลังงานแสงอาทิตย์ และเชื่อมโยงท่อขนส่งก๊าซ นอกจากนั้น จะปฏิรูปสาขาถ่านหินให้ดึงดูดการลงทุนมากขึ้น และพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์เพื่อการใช้สอยของภาคพลเรือน
9. สร้างเมืองใหม่ 100 เมืองให้ทันสมัยระดับโลก โดยเน้นการรักษาความสะอาดและสุขอนามัย และเมื่อถึง ปี 2565 (สถาปนาสาธารณรัฐครบ 75 ปี) ทุกครอบครัวจะมีบ้านอยู่อาศัย พร้อมน้ำ-ไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมง
10. การท่องเที่ยว จะเริ่มโครงการ 50 เส้นทางการท่องเที่ยว โดยเน้นการท่องเที่ยวเชิงศาสนา ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในแหล่งแสวงบุญของทุกศาสนา
จากนโยบายทั้ง 10 ข้อนี้จะเห็นได้ว่า ชาวอินเดีย โดยเฉพาะภาคธุรกิจ เกษตรกรรม และผู้ที่อยู่ในหมู่บ้านห่างไกล คงจะไม่ผิดหวังที่ให้คะแนนเสียงกับพรรคบีเจพี หากรัฐบาลนี้จะสามารถดำเนินนโยบายได้สำเร็จทั้งหมด สำหรับภาคเอกชนไทย น่าจะถึงเวลาแล้วที่จะ “มา” ไม่ใช่แค่ “มอง” อินเดีย โดยอาจพิจารณาสาขาโครงสร้างพื้นฐาน การเกษตรและการแปรรูปผลผลิตด้านการเกษตร การกระจายสินค้า พลังงานหมุนเวียน และการท่องเที่ยว โดยผู้ที่สนใจสามารถสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.thaiindia.net
พจมาศ แสงเทียน
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,958 วันที่ 19 - 21 มิถุนายน พ.ศ. 2557