ฐานเศรษฐกิจ (มองอินเดียใหม่ ตอนที่ 131: เมื่อ'ราชาแห่งท้องถนน'สัญชาติอินเดียถึงเวลาต้องลาจาก)
ท่านผู้อ่านที่เคยเดินทางมาท่องเที่ยวในอินเดียโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆอย่างนิวเดลี มุมไบ หรือกอลกัตตา ท่านจะต้องสะดุดตากับรถแท็กซี่คันเล็กๆน่ารัก รูปทรงเป็นรถโบราณสีเหลืองคาดดำหรือสีดำคาดเหลืองแล้วแต่ว่าเป็นแท็กซี่ของเมืองไหน หรือถ้าเป็นสีขาวสะอาดทั้งคันก็มักจะเป็นรถประจำตำแหน่งของข้าราชการระดับสูงของอินเดียที่เห็นวิ่งอยู่ทั่วไปตามท้องถนน จนอดสงสัยไม่ได้ว่ารถรูปทรงโบราณเหล่านี้เป็นรถยี่ห้ออะไร มีวิ่งอยู่บนท้องถนนมาตั้งแต่สมัยอังกฤษปกครองอินเดียอยู่หรือเปล่า แล้วทำไมถึงมีอายุยืนยาวขนาดนี้
ด้วยความสงสัยใคร่รู้ของผม ก็เลยซอกแซกไปเสาะหาคำตอบมาจนได้ว่ารถรูปทรงโบราณดังกล่าว คือ รถยี่ห้อแอมบาสเดอร์ (Ambassador) ซึ่งเป็นรถของอินเดียที่ผลิตในประเทศอินเดียนี่เอง และเป็นรถยนต์ยี่ห้อแรกที่ผลิตในประเทศอินเดียมาตั้งแต่ปี 2501 โดยบริษัทฮินดูสถาน มอเตอร์ส ของอินเดีย ซึ่งใช้รูปแบบของรถ Morris Oxford Series III ที่ผลิตโดยบริษัท Morris Oxford Limited ประเทศอังกฤษที่ผลิตอยู่ระหว่างปี 2499-2502 มาเป็นต้นแบบและได้รับความนิยมจากคนอินเดียเป็นอย่างมากจนได้รับสมญานามว่า "ราชาแห่งท้องถนน" และได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยมีโรงงานผลิตอยู่ที่เมืองอุตตรพารา ใกล้เมืองกอลกัตตา ในรัฐเบงกอลตะวันตก
รถยนต์ยี่ห้อแอมบาสเดอร์นี้ได้มีการพัฒนาและปรับปรุงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่รุ่นแรกที่มีชื่อรุ่นว่า Mark I ต่อมาจนถึงรุ่นถัดๆไป คือ Mark II, Mark III, Mark IV, Ambassador Nova ฯลฯ ตามลำดับมาอีกหลายรุ่นจนถึงรุ่นล่าสุดของปีที่แล้วคือ รุ่น Ambassador Encore ทั้งนี้ ต้องขอเรียนว่าตำนานของรถยนต์ยี่ห้อนี้ไม่ธรรมดาเลยทีเดียวเพราะดำรงอยู่คู่กับประเทศอินเดียมาเป็นเวลานานโดยท่านยาวะหรา เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดียก็ใช้รถยี่ห้อนี้และมีบุคคลสำคัญคนอื่นๆใช้ตามจนกลายเป็นรถยอดนิยมของอินเดียมาตั้งแต่บัดนั้น หรือจนถึงปัจจุบันบุคคลที่มีชื่อเสียงของอินเดียหลายรายก็ล้วนแล้วแต่ครอบครองหรืออย่างน้อยก็เคยเป็นเจ้าของรถยนต์แอมบาสเดอร์กันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นนางโซเนีย คานธี หรือดาวค้างฟ้าของวงการภาพยนตร์อินเดียอย่างเฮม่า มาลินี เป็นต้น
แต่หนทางของ "ราชาแห่งท้องถนน" ก็ไม่ได้ราบรื่นสวยงามปูด้วยกลีบกุหลาบ โดยจากที่เคยผลิตออกมาจำหน่ายได้ปีละประมาณ 24,000 คันในช่วงทศวรรษ 1970-80 ยอดจำหน่ายก็ได้ลดลงเหลือเพียงปีละประมาณ 6,000 คันในช่วงประมาณปี 2543-2553 และในปี 2554 บริษัทสามารถจำหน่ายได้เพียง 2,500 คันเท่านั้นเอง โดยบริษัทมีผลประกอบการขาดทุนในปีงบประมาณ 2554-55 ประมาณ 300 ล้านรูปี
แต่จริงๆแล้วบริษัทถูกผลกระทบจากการแข่งขันของรถยนต์ยี่ห้อ Suzuki Maruti ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของญี่ปุ่นมาตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 80 แล้ว ผนวกกับการเข้าตลาดอินเดียของรถยนต์ยี่ห้อต่างๆระดับโลกหลังปี 2534 เป็นต้นมา ทำให้สถานการณ์ของบริษัทยิ่งย่ำแย่ลงไปเรื่อยๆ จนปัจจุบันสำหรับปีงบประมาณ 2556-57 บริษัทสามารถจำหน่ายรถยนต์ได้เพียง 2,200 คัน จากจำนวนยอดจำหน่ายรถยนต์ส่วนบุคคลทั้งประเทศอินเดียในปีงบประมาณเดียวกันจำนวน 1.8 ล้านคัน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่น้อยมากๆ เปรียบเสมือนเข็มเพียงเล่มเดียวในมหาสมุทรเลยทีเดียว
บริษัทฮินดูสถาน มอเตอร์สฯ จึงไม่สามารถจะทนแบกรับภาระหนี้สินได้อีกต่อไป จนต้องประกาศหยุดการผลิตรถยนต์ที่โรงงาน ณ เมืองอุตตรพารา ใกล้เมืองกอลกัตตาไปอย่างไม่มีกำหนดเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา และนั่นก็คือ บทอวสารของ "ราชาแห่งท้องถนน" สัญชาติอินเดียผู้ยิ่งใหญ่หลังจากโลดแล่นอยู่บนถนนมาเกือบ 60 ปี
และนี่ก็เป็นตัวอย่างที่เห็นชัดๆของจุดจบที่เกิดจากการไม่ปรับตัวของอุตสาหกรรม ที่อุตสาหกรรมอื่นๆของอินเดียคงต้องดูไว้เป็นอุทาหรณ์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมค้าปลีกที่ยังไม่ยอมปรับตัวซะที...แหม่ ว่าจะไม่พาดพิงใครแล้วเชียวนา
อดุลย์ โชตินิสากรณ์
สคร. ณ เมืองมุมไบ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,961 วันที่ 29 มิถุนายน - 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2557