ฐานเศรษฐกิจ (มองอินเดียใหม่ ตอนที่ 133: หรืออินเดียจะไปบอลโลกก่อนไทย)
สัปดาห์นี้ทีม thaiindia.net ขอเกาะกระแสฟุตบอลโลก ด้วยการนำเรื่องราวเกี่ยวกับความนิยมกีฬาฟุตบอลในประเทศอินเดียมาเล่าสู่กันฟัง
ฟุตบอลถือได้ว่าเป็นกีฬาที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอินเดีย โดยเฉพาะในหมู่คนอินเดีย "รุ่นใหม่" ถึงแม้ว่า กีฬาคริกเก็ต (cricket) จะยังคงเป็นกีฬาอันดับ 1 ในดวงใจของชาวอินเดียทุกรุ่นทุกวัยก็ตาม แต่ฟุตบอลถือเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 2 เลยทีเดียว
สถาบันวิจัยตลาดนีลเส็น (Nielsen) ได้ทำการสำรวจเมื่อปี 2553 พบว่า มีชาวอินเดียถึง 47% ที่ติดตามชมการแข่งขันฟุตบอลและคิดว่าตนเป็น "แฟนฟุตบอล" ซึ่งจะว่าไปแล้วก็คงคล้าย ๆ คนไทยที่แม้ว่าทีมฟุตบอลประจำชาติจะยังไปไม่ถึงบอลโลก แต่ก็ยังคงเต็มใจเชียร์ทีมประเทศอื่น ๆ ที่เป็นทีมในดวงใจ และนอกฤดูบอลโลกก็จะนิยมติดตามการแข่งขันฟุตบอลสโมสรของยุโรป โดยเฉพาะของอังกฤษเป็นอย่างมาก
แต่อย่าเพิ่งเข้าใจผิด ฟุตบอลไม่ได้เป็นกีฬาใหม่สำหรับอินเดีย ทหารอังกฤษในสมัยที่ปกครองอินเดียได้นำกีฬาฟุตบอลเข้าไปสู่อินเดียตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 และทีมฟุตบอลอินเดียเองเคยเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลกเมื่อปี 2493 ที่บราซิลแต่ก็ไม่ได้เข้าแข่งในที่สุดเพราะในสมัยนั้นยังขาดงบประมาณในการเดินทางไกลไปร่วมแข่งขันยกทีม
ปัจจุบัน สหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ (Federation Internationale de Football Association) หรือ ฟีฟ่า (FIFA) ได้จัดอันดับให้ทีมอินเดียอยู่ที่อันดับ 154 ขณะที่ทีมไทยอยู่ที่อันดับ 149 เพราะฉะนั้นก็เรียกได้ว่า ชั้นเชิงบอลของอินเดียอาจไม่ต่างจากเรามากเท่าไหร่
กีฬาฟุตบอลได้รับความนิยมเป็นพิเศษที่ เมืองกัลกัตตา ทางตะวันตกของอินเดียและตามเมืองอื่น ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้แถบนี้เป็นตลาดสำคัญที่สุดของธุรกิจที่ใช้ฟุตบอลเป็นเครื่องมือการตลาด
ที่เมืองมุมไบ ที่เป็นเมืองใหญ่และรวยที่สุดในอินเดีย ถึงแม้จะมีผู้เล่นคริกเก็ตเป็นจำนวนมากที่จะเห็นเล่นอยู่ตามสนามสาธารณะหรือแม้กระทั่งบนท้องถนน แต่กีฬาฟุตบอลก็เริ่มได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างดาราบอลลีวูดชายหลายคน เช่น Aamir Khan, Salman Khan และ Abhishek Bachchan ยังมักจะหาเวลาว่างไปเล่นฟุตบอลที่สนามฟุตบอลเล็ก ๆ ย่าน Bandra ของเมืองมุมไบ แถมยังมีร้านขายเสื้อและอุปกรณ์ฟุตบอลของทีม Manchester United ที่ห้างสรรพสินค้าชั้นนำของเมืองมุมไบ รวมทั้ง ร้าน United Sports Bar & Grill ถึง 4 สาขาในเมืองมุมไบ
ถ้าจะวัดความนิยมฟุตบอลของชาวอินเดียก็คงจะวัดได้จากการชมฟุตบอลโลกครั้งนี้ทางทีวีของชาวอินเดีย จากข้อมูลพบว่ามีชาวอินเดียกว่า 100 ล้านคนเปิดช่อง Sony Sixซึ่งเป็นช่องเคเบิลช่องเดียวที่ได้รับลิขสิทธิ์ถ่ายทอดการแข่งขันบอลโลกทุกนัดในอินเดีย เพิ่มขึ้นจากการแข่งขันบอลโลกคราวก่อนถึงเกือบ 40 ล้านคน
และถ้ายิ่งเปรียบเทียบกับความคลั่งกีฬาคริกเก็ตของคนอินเดีย ซึ่งปีล่าสุด การแข่งขัน International Cricket Council หรือ ICC T20 World Cup ที่ถือว่าเป็นรายการใหญ่สุดของโลก มีผู้ชมชาวอินเดียประมาณ 120 ล้านคน ซึ่งสูงจำนวนคนที่ชมฟุตบอลโลกไม่มากนักโดยสัดส่วน แต่ต้องคำนึงว่า หากการถ่ายทอดสดแมตช์ฟุตบอลจากบราซิลไม่ได้เป็นช่วงเวลาเช้าตรู่ของอินเดีย ก็น่าจะมีคนดูฟุตบอลโลกมากกว่านี้
แต่ถ้าจะวัดกันเป็นตัวเงินแล้ว ค่าโฆษณาช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลกยังต่างจากคริกเก็ตอยู่หลายขุม โดยมีราคาอยู่ที่ 2.75 แสนรูปี (ประมาณ 1.54 แสนบาท) / 10 วินาที ขณะที่คริกเก็ต โดยเฉพาะการแข่งลีก Indian Premier League หรือ IPL เหนาะๆ อยู่ที่แค่ 5 แสนรูปี (เกือบ 3 แสนบาท)/ 10 วินาที ยังไม่นับว่า การแข่งขันฟุตบอลแต่ละนัดจะมีเวลาสำหรับโฆษณาเพียงแค่ 800- 900 วินาทีเท่านั้นหรือเพียง 1 ใน 3 ของคริกเก็ต
อย่างไรก็ตาม คาดว่ากีฬาฟุตบอลจะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอินเดียแน่นอน และอาจจะเทียบรุ่นกับคริกเก็ตได้ในอีก 15 ปีข้างหน้า หากมีปัจจัยกระตุ้น เช่น การนำนักฟุตบอลระดับโลกมาแข่งขันที่อินเดีย อย่างเมื่อปี 2554 ที่ Lionel Messi ทีมชาติอาร์เจนตินาของทีมบาร์ซ่า ได้เดินทางมาร่วมแข่งฟุตบอลนัดกระชับมิตรระหว่างอาร์เจนตินากับเวเนซุเอลา ที่เมืองกัลกัตตา มีผู้เข้าชมการแข่งขันถึง 8 หมื่นคน
ล่าสุด อินเดียยังได้รับเลือกให้เป็นประเทศเจ้าภาพการแข่งขัน FIFA U-17 World Cup ในปี 2560 ซึ่งเป็นการแข่งขันฟุตบอลโลกระดับเยาวชน จัดขึ้นทุก ๆ 2 ปี โดยจะมีการแข่งขันใน 6 เมืองทั่วอินเดีย ซึ่งขณะนี้มีเมืองเข้ารอบสุดท้ายแล้ว 8 เมือง ได้แก่ นิวเดลี ปูเน่ มุมไบ ปานาจี กัว บังกะลอร์ กัลกัตตา โคชิและกูวาฮาติ ซึ่งก็น่าจะทำให้ฟุตบอลเป็นที่นิยมขึ้นไปอีก
นอกจากปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นความนิยมกีฬาฟุตบอลที่ได้กล่าวถึงแล้ว สโมสรฟุตบอลต่างประเทศยังสนใจเปิดโรงเรียนสอนฟุตบอลในอินเดียเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย โดยเมื่อปี 2554 Liverpool เป็นสโมสรแรกที่ได้เปิดคอร์สสอนฟุตบอลให้แก่นักเรียนโรงเรียน Genesis Global School โรงเรียนเอกชนชื่อดังชานเมืองนิวเดลี และล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ ก็ได้เปิดโรงเรียน LFC International Football Academy - DSK Shivajians ที่เมืองปูเน่
ส่วนเมืองมุมไบก็ไม่น้อยหน้า สมาคมโรงเรียนสอนฟุตบอลอินเดียร่วมกับ Brasil Futebol Academia (BFA) จะเปิดคอร์สสอนการเล่นฟุตบอลสไตล์บราซิลที่สนามฟุตบอลCooperage ย่าน Colaba หลังจากที่ประสบความสำเร็จมาแล้วที่เมืองกัลกัตตาและรัฐกัวแล้ว
เห็นอย่างนี้แล้ว เอกชนไทยคงไม่เพียงมองอินเดียเป็นแค่โอกาสทางธุรกิจที่เกี่ยวกับกีฬาอย่างคริกเก็ตและฟุตบอล แต่คงจะเห็นอินเดียกำลังก้าวมาเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของไทยในโซนเอเชียในการแย่งชิงตั๋วไปฟุตบอลโลกกับเราในอนาคตแน่นอน
โดย กนกภรณ์ คุณวัฒน์
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,965 วันที่ 13 - 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2557