ฐานเศรษฐกิจ: มองอินเดียใหม่ ตอนที่ 134 (เมื่อช้างสารปะทะมังกร โลกทั้งโลกต้องจับตามอง)
การประชุมสุดยอดประเทศ BRICS ครั้งที่ 6 ที่ประเทศบราซิล
การหารือทวิภาคีระหว่างนายนเรนทร โมดี นายกรัฐมนตรีป้ายแดงของอินเดียกับนายสี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีจีน เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2557 ก่อนการประชุมสุดยอดบริกส์ ครั้งที่ 6 หรือ BRICS Summit 2014 ที่บราซิลเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นที่เมือง Fortaleza หลังจบการแข่งขันฟุตบอลโลกหมาดๆ เป็นข่าวดังด้วยประโยคเด็ดของนายสี จิ้น ผิงที่ว่า "เมื่ออินเดียกับจีนมาพบกัน ทั้งโลกต้องจับตามอง"
ประโยคนี้น่าจะมีความหมายเป็นนัยว่า ในกลุ่ม BRICS 5 ประเทศตลาดเกิดใหม่รายใหญ่ ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ มีประชากรรวมกันคิดเป็นสัดส่วน 42% ของประชากรโลก และมีมูลค่าเศรษฐกิจ 1 ใน 5 ของเศรษฐกิจโลก มีการค้าระหว่างประเทศรวมกัน 6.14 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเกือบ 17% ของการค้าโลก จีนและอินเดียดูจะมีอำนาจต่อรองสูงที่สุด เพราะเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง 2 ประเทศแรกในกลุ่ม ตามลำดับ
ดังนั้น ผลการประชุมสุดยอดบริกส์ ครั้งที่ 6 ที่ออกมา จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ทั้งโลกจับตามอง ขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งที่ทั้งจีนและอินเดียต่างมีผลประโยชน์มหาศาลอยู่ด้วย จึงหนีไม่พ้นที่จะมีการต่อรองเพื่อให้ 2 พี่ใหญ่ของกลุ่มไม่น้อยหน้าใคร เช่น การจัดตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งใหม่ (New Development Bank - NDB) เพื่อเป็นแหล่งเงินกู้สำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาในด้านต่างๆ ในกลุ่ม BRICS ที่สรุปท้ายจะมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่นครเซี่ยงไฮ้ แต่คนอินเดียจะดำรงตำแหน่งประธานคนแรกเป็นเวลา 6 ปี ต่อด้วยบราซิลและรัสเซีย
ธนาคาร NDB จะมีเงินทุนเริ่มต้น 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการสมทบในจำนวนเท่าๆ กันของประเทศสมาชิก คาดกันว่า NDB จะสามารถเปิดให้บริการเงินกู้กับประเทศในกลุ่ม BRICS ได้ภายในอีก 2 ปี หรือภายในปี 2559 ซึ่งเชื่อแน่ว่า จีนและอินเดียจะเป็นลูกค้ารายใหญ่ เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยังเดินเครื่องต่อไม่หยุด
แม้แต่ประเด็นการการจัดตั้งกองทุนสำรอง (Contingent Reserve Arrangement) มูลค่า 100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจีนจะเป็นผู้สมทบรายใหญ่ที่สุด จำนวน 4.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามด้วยบราซิล จีน และอินเดีย ประเทศละ 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และอีก 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯจากแอฟริกาใต้
การแบ่งสันปันส่วนเงินกองทุนนี้ก็ต้องมีสูตรที่คิดพิเศษ คือจีนจะสามารถขอใช้ในจำนวนครึ่งหนึ่งของกองทุนได้ แอฟริกาใต้สามารถขอใช้ในจำนวน 2 เท่าของเงินสมทบ หรือ 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่บราซิล จีน และอินเดียสามารถใช้ได้เพียงเท่ากับจำนวนเงินที่สมทบ โดยหวังว่า NDB และกองทุนสำรองดังกล่าว จะเป็นทางเลือกให้กับประเทศต่างๆ ในการขอกู้เงิน จากธนาคารโลก (World Bank - WB) หรือธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank - ADB) รวมถึงกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund - IMF) และถือเป็นการคานอิทธิพลของเงินดอลลาร์สหรัฐฯในการค้าโลกด้วย
ในส่วนของอินเดีย ได้หยิบยกหลายประเด็นที่น่าสนใจระหว่างการประชุมสุดยอดบริกส์ ครั้งที่ 6 เริ่มจากอินเดียสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนในระดับประชาชนระหว่างประเทศในกลุ่ม BRICS โดยเฉพาะในระดับเยาวชน และเสนอให้มีการจัดตั้งกลุ่มนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ โรงเรียนสอนภาษา และการเรียนการสอนทางไกล เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้ รวมถึงเสนอให้ร่วมกันพิจารณาจัดตั้งมหาวิทยาลัยบริกส์ เพื่อเชื่อมโยงมหาวิทยาลัยในประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICS
นอกจากนี้อินเดียยังเสนอให้กลุ่ม BRICS พิจารณาจัดทำความร่วมมือในด้านต่างๆ อาทิ สุขภาพ การศึกษา เกษตรกรรม การจัดการทรัพยากร และการพัฒนาเมือง และเสนอให้ประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICS มีบริการสุขภาพในราคาย่อมเยา จัดทำความร่วมมือระหว่างวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน
กลุ่ม BRICS อาจจัดตั้งกลไกเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยี ในสาขาต่างๆ อาทิ เทคโนโลยีพลังงานสะอาด การใช้ดาวเทียมเพื่อให้การรักษาสุขภาพและการศึกษาที่มีคุณภาพสามารถเข้าถึงได้ ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการจัดการภัยพิบัติ และความร่วมมือด้านการกีฬา
แต่ไฮไลต์ของการประชุมบริกส์ครั้งนี้คงหนีไม่พ้นการพบหารือระหว่างนายโมดีและนายสี จิ้น ผิง เพราะเป็นการพบกันครั้งแรกหลังจากที่นายโมดีเข้ารับตำแหน่งนายกฯ อินเดีย โดยทั้ง 2 ฝ่ายเห็นควรให้รักษาความถี่ของการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับสูง ซึ่งภายใน 6 สัปดาห์หลังการเข้ารับตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีโมดี มีการเยือนในระดับสูงระหว่างกันแล้วถึง 3 ครั้ง ประธานาธิบดีจีนยังมีกำหนดเยือนอินเดียในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ ขณะที่นายกรัฐมนตรีโมดีได้ตอบรับคำเชิญเยือนจีนของประธานาธิบดีจีนด้วยแล้ว จึงถือเป็นสัญญาณว่า ความสัมพันธ์อินเดีย-จีนที่ทั่วโลกจับตามองน่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น
อีกเรื่องที่เป็นประเด็นร้อน ก็คือการที่ประธานาธิบดีจีนเชิญนายกรัฐมนตรีโมดีเยือนจีนเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอด APEC ในหัวข้อ Partnership and Connectivity ที่จีนมีกำหนดเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่อินเดียได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว หลังจากอินเดียพยายามมานานที่จะมีส่วนร่วมกับกรอบความร่วมมือนี้
ไม่เฉพาะความสัมพันธ์ด้านการเมืองเท่านั้น นายโมดีและนายสี จิ้น ผิง ยังได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการที่อินเดียเชิญจีนไปลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งล่าสุด ระหว่างการเยือนจีนของรองประธานาธิบดีอินเดียในช่วงก่อนหน้า มีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการสร้างนิคมอุตสาหกรรมในอินเดีย ขณะที่จีนก็โปรยคำหวานเชิญอินเดียเข้าไปร่วมมือในสาขาบริการซึ่งเป็นสิ่งที่อินเดียต้องการมาตลอด
ทั้งหมดนี้เป็นสัญญาณที่ชัดเจนมากว่า ความสัมพันธ์อินเดีย-จีนกำลังก้าวสู่หน้าประวัติศาสตร์ใหม่ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้สึกแห่งความเป็นพี่น้องและพร้อมจะร่วมมือกันในทุกด้าน เห็นทีช้างสารจะจับมือกับมังกรมากกว่าที่จะต่อกรกัน ดังนั้น โลกทั้งโลก (รวมทั้งไทย) คงต้องหันมามองว่า จะเข้าไปมีเอี่ยวกับความสัมพันธ์ของประเทศยักษ์ใหญ่ของโลกนี้ได้อย่างไร
โดย พจมาศ แสงเทียน
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,967 วันที่ 20 - 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2557