ฐานเศรษฐกิจ: คอลัมน์มองอินเดียใหม่ (ตอนที่ 136 ฟาสต์ฟูดในอินเดียแรงดีไม่มีตก)
ผมอยู่อินเดียมาเกือบจะ 3 ปีแล้วครับ ทุกครั้งที่กลับมาประเทศไทยไม่ว่าจะมาปฏิบัติราชการหรือมาธุระส่วนตัวก็มักจะถูกเพื่อนๆ หรือคนรู้จักถามเสมอว่า "อยู่อินเดียกินอาหารแขกได้มั้ย" บ้างก็ถามว่า "อยู่เมืองแขกกินแต่โรตีเบื่อมั้ย" หรือหนักกว่านั้นก็ถามถึงขนาดว่า "อาหารแขกกลิ่นเครื่องเทศเหม็นมากมั้ย" ก็ว่ากันไปต่างๆนานา
ทุกครั้งผมก็ต้องตอบและอธิบายให้ทุกคนเข้าใจว่าอาหารอินเดียไม่ได้แย่ขนาดนั้น ที่อร่อยมากๆก็มี และอาหารอินเดียก็ไม่ได้มีแต่โรตีกับแกงเท่านั้น แต่ที่สำคัญคือ ตอนนี้อินเดียเขาพัฒนาไปมากแล้ว อาหารการกินสะดวกสบายและมีให้เลือกหลากหลาย โดยเฉพาะอาหารจานด่วนหรือที่เราเรียกทับศัพท์กันว่า "ฟาสต์ฟูด" ก็มีให้เลือกเกือบทุกแบรนด์แล้ว เพียงแต่ว่าเมนูอาจจะแตกต่างไปจากบ้านเราบ้าง คือ อย่าหวังว่าจะได้ลิ้มรสแฮมเบอร์เกอร์เนื้อวัวเป็นอันขาดเพราะเป็นของต้องห้าม และเมนูส่วนใหญ่ก็จะเป็นเมนูมังสวิรัติอีกต่างหาก
ที่เกริ่นมาแบบนี้ก็เพื่อจะนำเรียนท่านผู้อ่านว่าเดี๋ยวนี้คนอินเดียทันสมัยขึ้นมาก เพราะมีรายได้เพิ่มขึ้นหรือพูดง่ายๆก็คือ รวยขึ้นนั่นเองแต่มีเวลาน้อยลง จึงไม่ค่อยทำอาหารรับประทานเองที่บ้านโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ในเมืองซึ่งมักจะนิยมออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านบ่อยครั้งขึ้น ทั้งนี้ มีตัวเลขบ่งชี้ว่าคนอินเดียปัจจุบันออกไปรับประทานอาหาร
นอกบ้านเฉลี่ยเดือนละ 7 ครั้ง เทียบกับเมื่อ 2-3 ปีก่อนที่ค่าเฉลี่ยดังกล่าวอยู่ที่เดือนละ 3 ครั้งเท่านั้นเอง และส่วนใหญ่จะรับประทานอาหารฟาสต์ฟูดเนื่องจากเป็นค่านิยมสมัยใหม่ที่ผู้บริโภครุ่นใหม่รู้สึกว่าการรับประทานอาหารฟาสต์ฟูดเป็นแฟชั่นที่ทันสมัยและสะดวกสบายแถมทันใจวัยรุ่นอีกด้วย
เมนูอาหารฟาสต์ฟูดยอดนิยมในอินเดียได้แก่ พิซซ่า แฮมเบอร์เกอร์ และแซนด์วิช ซึ่งเฉพาะ 3 เมนูนี้ก็มีสัดส่วนถึง 83% ของบรรดาอาหารฟาสต์ฟูดทั้งหมดในอินเดียแล้ว ส่วนเมนูอาหารอินเดียยังไม่เหมาะสำหรับที่จะนำมาทำเป็นอาหารฟาสต์ฟูดเพราะกระบวนการปรุงอาหารซับซ้อนเกินไปจนไม่สามารถนำมาผลิตแบบสายการผลิตมาตรฐานได้ นอกจากนั้น ลักษณะอาหารอินเดียก็ไม่เหมาะสำหรับการจับถือเพื่อการบริโภคในแบบอาหารฟาสต์ฟูดเท่าใดนัก
อย่างไรก็ตาม ยังมีอาหารอินเดียบางชนิดที่สามารถนำมาประยุกต์เพื่อจำหน่ายในระบบอาหารฟาสต์ฟูดได้ เช่น ซาโมซ่า วาดะเปา (แฮมเบอร์เกอร์แบบอินเดีย) โมโม่ โดซ่า เป็นต้น ซึ่งก็ทำให้แบรนด์ฟาสต์ฟูดท้องถิ่นของอินเดียได้มีโอกาสเกิดบ้าง เช่น Faasos, Goli Vada Pav เป็นต้น แต่ยังมีส่วนแบ่งตลาดน้อยอยู่เพราะไม่สามารถแข่งขันได้กับฟาสต์ฟูดเชนระดับโลก
มีสถิติตัวเลขที่น่าสนใจจากการศึกษาของบริษัทวิจัยตลาด CRISIL ซึ่งสำรวจพบว่าโดยเฉลี่ยคนอินเดียจะรับประทานพิซซ่าครอบครัวละ 12 ชิ้นต่อปี และใช้จ่ายเงินในการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านครอบครัวละประมาณ 3.7 พันรูปีต่อปี แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นก็คือ จากการศึกษาของสมาคมหอการค้าและอุตสาหกรรมของอินเดียหรือ Assocham ล่าสุดพบว่าตลาดอาหารฟาสต์ฟูดของอินเดียไม่ถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่ผ่านมาเลย
ประชาชนในเมืองรองของอินเดีย (Tier II และ Tier III Cities) มีการใช้จ่ายสำหรับการรับประทานอาหารฟาสต์ฟูดนอกบ้านต่อครอบครัวจากปีละ 2.5 พันรูปีเพิ่มขึ้นเป็น 5.2 พันรูปี หรือเพิ่มขึ้นถึง 108% ทีเดียว ในขณะที่ประชาชนในเมืองหลักก็มีการใช้จ่ายสำหรับการรับประทานอาหารฟาสต์ฟูดนอกบ้านเพิ่มขึ้นเป็นครอบครัวละ 6.8 พันรูปีต่อปี หรือเพิ่มขึ้น 35% ทั้งนี้ ด้วยอัตราการขยายตัวของค่าใช้จ่ายสำหรับอาหารฟาสต์ฟูดของประชาชนในเมืองรองของอินเดียที่อยู่ในระดับที่สูงมาก ทำให้บริษัทฟาสต์ฟูดเชนระดับโลกเริ่มให้ความสนใจในการขยายสาขาเข้าไปในเมืองรองของอินเดียมากขึ้นจนถึงขนาดบริษัทเหล่านี้เรียกเมืองรองของอินเดียว่า "จุดหมายใหม่" กันเลยทีเดียว
สำหรับฟาสต์ฟูดเชนที่มีจำนวนสาขามากที่สุดคือ Domino’s Pizza ที่มีสาขามากถึง 700 สาขาใน 142 เมืองของอินเดีย รองลงมาคือ McDonald’s จำนวน 250 สาขา และ KFC จำนวน 223 สาขาใน 35 เมือง แต่ที่หลุดไปจากการสำรวจของนักวิจัยอินเดียก็คือ ไก่ทอด 5 ดาวหรือ Five-Star Chicken ของไทยนี่แหละครับ อันนี้ต้องขอชื่นชมผู้บริหารของกลุ่ม
บริษัทซี พี ในอินเดีย คือ คุณ Sanjeev Pant ที่ใช้กลยุทธ์ในการปรับสินค้าจากไก่ย่างมาเป็นไก่ทอดจนเป็นที่ถูกปากถูกใจลูกค้าอินเดีย และเพียงปีกว่าๆ ก็สามารถขยายแฟรนไชส์ไปได้เกิน 170 สาขาแล้ว คาดว่าเร็วจนนักวิจัยอินเดียนับไม่ทัน แต่ที่สำคัญคือ จำนวนสาขาของไก่ทอด 5 ดาวกำลังหายใจรดต้นคอไก่ทอด KFC เลยทีเดียว นี่ก็ถือเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ที่น่าชื่นชมของแบรนด์ไทยอีกหนึ่งแบรนด์ในตลาดอินเดียที่มาถูกที่ ถูกเวลา และคว้าโอกาสไว้ได้
โดย อดุลย์ โชตินิสากรณ์
ผู้อำนวยการอาวุโส สคร. ณ เมืองมุมไบ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,971 วันที่ 3 - 6 สิงหาคม พ.ศ. 2557