ฐานเศรษฐกิจ: มองอินเดียใหม่ (ตอนที่ 137 เบงกอลตะวันตก ... ดินแดนแห่งโอกาส)
หากท่านผู้อ่านยังจำความรู้ด้านภูมิศาสตร์ที่เราเรียนกันมาตั้งแต่เด็กเกี่ยวกับอ่าวเบงกอล(Bay of Bengal) ได้ ท่านอาจจะนึกภาพแผนที่บริเวณซึ่งเกี่ยวพันกับหลาย ๆ ประเทศไล่จากประเทศไทย เมียนมาร์ บังกลาเทศ ศรีลังกา ไปสิ้นสุดที่อินเดีย
จากภาพประกอบจะสังเกตได้ว่าถ้าเราข้ามอ่าวเบงกอลไปได้ ไทยกับอินเดียก็ใกล้กันนิดเดียว โดยจุดที่ใกล้ไทยที่สุดคือรัฐที่มีชื่อว่า เบงกอลตะวันตก (เพราะตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของอ่าวเบงกอล) ระยะเวลาเดินทางโดยเครื่องบินจากไทยไปยังเมืองกัลกัตตา เมือง หลวงรัฐเบงกอลตะวันตก เพียง 2 ชั่วโมง 15 นาที เท่านั้น)
รัฐเบงกอลตะวันตกของอินเดียนี้มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง เนื่องจากเหตุผลหลายประการ
1. ทำเลที่ตั้งเป็นจุดขนถ่ายสินค้าสำหรับภาคกลางของอินเดียซึ่งไม่มีชายแดนติดทะเล และเป็นประตูเชื่อมภาคอื่น ๆ ของอินเดียสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อไปยังบังกลาเทศ ภูฏาน และเนปาล และที่สำคัญที่สุดคือเป็นเส้นทางการค้าสำคัญกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
2. จำนวนประชากรในรัฐเบงกอลตะวันตกสูงถึง 91 ล้านคน โดยเฉพาะในเมืองกัลกัตตา มีประชากรจำนวนประมาณ 15 ล้านคน (สูงเป็นลำดับที่ 3 ของประเทศ) มี GDP สูงเป็นลำดับที่ 3 รองจากกรุงนิวเดลีและเมืองมุมไบ (อิงจากค่ากำลังซื้อของประชากร) นับเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีความหลากหลายทางด้านศาสนา ฒนธรรม วิถีชีวิต และการบริโภค
3. ทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์และผลผลิตทางการเกษตรมีจำนวนมหาศาล สินค้าเกษตรสำคัญคือ ข้าว ธัญพืช ยาสูบ มันฝรั่ง อ้อย ทับทิม สับปะรด มะม่วง ปอกระเจา ฯลฯ เกษตรกรในรัฐผลิตข้าว ปลา และปอกระเจาปริมาณสูงเป็นลำดับ 1 ของประเทศ ผลิตมันฝรั่งปริมาณสูงเป็นลำดับ 2 ของประเทศ นอกจากนี้ ยังอุดมไปด้วยแร่มีค่าต่าง ๆ อาทิ ถ่านหิน เหล็ก ดินขาว ดินเผา ก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น อุตสาหกรรมสำคัญของรัฐประกอบด้วย การเกษตร เครื่องหนัง สิ่งทอ การถลุงเหล็กผลิตภัณฑ์เหล็กและสินแร่ต่าง ๆ ยานยนต์ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สินค้า IT การต่อเรือ ตู้รถไฟ ฯลฯ
สภาพแวดล้อมของรัฐเบงกอลตะวันตกเอื้ออำนวยต่อโครงการลงทุนต่าง ๆ และมีแนวโน้มที่จะพัฒนาเป็นเมืองอุตสาหกรรมหลักของประเทศ บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ทั้งอินเดียและต่างชาติ รวมถึงรัฐวิสาหกิจของอินเดียต่างเห็นว่าเบงกอลตะวันตกเป็นทำเลทอง ทยอยกันมาตั้งสำนักงาน/โรงงานในเมืองกัลกัตตาและเมืองอุตสาหกรรมใกล้เคียง อาทิ บริษัท ITC Limited (เครือบริษัทอินเดียขนาดใหญ่ ประกอบธุรกิจโรงแรม สินค้าอุปโภคบริโภค บรรจุภัณฑ์ สินค้าเกษตร) สำนักงานใหญ่บริษัท Coal India Limited (รัฐวิสาหกิจใต้การกำกับดูแลของกระทรวงถ่านหิน) สำนักงานใหญ่บริษัท Damodar Valley Corporation (รัฐวิสาหกิจใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน ผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนและน้ำ) บริษัท Frito Lay India(Pepsico) บริษัท Mitsubishi Chemical Corporation เป็นต้น
รัฐบาลเบงกอลตะวันตกเองก็พร้อมสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่ โดยประกาศนโยบายระยะยาวชื่อว่า "Industrial and Investment Policy" เมื่อปี 2013 เพื่อพัฒนาและปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการลงทุนภาคอุตสาหกรรมเพื่อดึงดูดนักลงทุนอย่างรอบด้าน อาทิ
พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ปรับปรุงการขนส่งทางบก อากาศและน้ำ และสร้างนิคมอุตสาหกรรมขึ้น 12 แห่ง และจัดตั้งเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ อาทิ เขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) เขตเศรษฐกิจการเกษตร (AEZ) (มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้เข้าถึงตลาดส่งออก โดยเฉพาะเกษตรกรที่ปลูกสับปะรด มะม่วง ลิ้นจี่ มันฝรั่ง และผักต่าง ๆ) เขตอุตสาหกรรมเครื่องหนัง ฯลฯ ในพื้นที่อุตสาหกรรมหลักของรัฐได้แก่ เมืองกัลกัตตา เมืองฮาวราห์(Howrah) เมืองฮาลเดีย (Haldia) เมืองอสานศล(Asansol) เมืองทุรคาปูร์ (Durgapur) และเมืองฆารคปูร์ (Kharagpur) ฯลฯ
พัฒนาคุณภาพทรัพยากรบุคคล การประกาศลดขั้นตอนทางกฎระเบียบต่าง ๆ โดยประกาศใช้ระบบ Single Window Clearances ซึ่งเป็นการดำเนินการเรื่องเอกสารผ่านเว็บไซต์ ลดขั้นตอนการขอจดทะเบียนประกอบธุรกิจเริ่มใช้ e-Governance ในขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับภาษีและศุลกากร กำหนดกรอบระยะเวลาในการดำเนินขั้นตอนทางเอกสารของภาครัฐ ฯลฯ
การลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเฉพาะในเมืองกัลกัตตาซึ่งขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยมีการเจริญเติบโตถึงปีละ 70% ส่งผลให้กลายเป็นเมือง IT ของภาคตะวันออกอินเดีย
คงไม่เกินความเป็นจริงนัก หากจะเปรียบเบงกอลตะวันตกว่า ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ในดินมีแร่ เพราะอุดมไปด้วยทรัพยากรซึ่งสามารถใช้เป็นวัตถุดิบการผลิต นอกจากนี้ รัฐนี้ยังเป็นที่ตั้งของเมืองท่าสำคัญหลายแห่งเป็นเส้นทางขนส่งและจุดกระจายสินค้าที่สำคัญของอินเดีย ประชากรในรัฐมีจำนานมหาศาลจึงเป็นตลาดขนาดมหึมาสำหรับผู้ประกอบการ
บุคลากรชาวอินเดียโดยเฉพาะด้านไอที มีความสามารถระดับสากล (ว่ากันว่าในบริษัท Apple ซึ่งผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชื่อดัง มีพนักงานชาวอินเดียถึง1ใน3) หากผู้ประกอบการไทยมีความสนใจตั้งฐานการผลิตหรือส่งออกสินค้ามายังรัฐเบงกอลตะวันตก ท่านควรเดินทางมาให้เห็นกับตาสักครั้งแล้วจะรู้ว่าที่นี่คือดินแดนแห่งโอกาสอย่างแท้จริง
โดย ภัทธิรา เจียมปรีชา
สถานกงสลุใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตา
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,973 วันที่ 10 - 13 สิงหาคม พ.ศ. 2557