ฐานเศรษฐกิจ: มองอินเดียใหม่ (ตอนที่ 138 สปาไทยในอินเดีย)
ในประเทศอินเดีย "สปาไทยและนวดไทย" ได้รับความนิยมมาก โดยที่ผ่านมามีการจ้าง "ผู้บำบัด" หรือที่เรียกกันในไทยว่า เธอราพิสต์ (therapist) ชาวไทยไปทำงานในสปาตามโรงแรมใหญ่และสปาระดับกลาง
จนกระทั่งเมื่อปี 2555 รัฐบาลอินเดียได้เปลี่ยนแปลงกฎระเบียบเรื่องการจ้างงานชาวต่างชาติ ที่มีเงื่อนไขใหม่กำหนดให้ค่าตอบแทนตามสัญญาจ้างคนต่างชาติผู้นั้นจะต้องไม่ต่ำกว่า 2.5 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี หรือราว 8 แสนบาทต่อปี ซึ่งเกือบจะเป็นไปไม่ได้เลยในทางธุรกิจที่ผู้ประกอบการในอินเดียจะจ้างเธอราพิสต์จากไทยเข้าไปทำงานในอินเดียอย่างถูกกฎหมายด้วยอัตราค่าจ้างดังกล่าว เว้นแต่จะเป็นผู้มีทักษะความชำนาญระดับยอดฝีมือจริงๆ
ดังนั้น ประตูส่งออกแรงงานผู้บำบัดของไทยโดยถูกกฎหมายจึงถูกปิดลง แต่ประตูแห่งโอกาสอื่นๆ ยังเปิดสำหรับสปาไทยและผลิตภัณฑ์สปาจากไทยในอินเดีย
ครั้งนี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณกนกวรรณ ลอยมา หรือคุณบี เจ้าของร้าน “Sabai Foot Spa” (สบายสปา) ที่ได้ร่วมกับคุณดีปาค จินดัล สามี บุกเบิกธุรกิจสปาไทย ลักษณะ stand-alone day spa เจ้าแรกในเมืองมุมไบ ที่เริ่มต้นจากความคิดที่จะส่งผ่านความสุขความสบายที่ได้รับจากการนวดไทยสู่ผู้ใช้บริการและประชาสัมพันธ์การนวดไทยในอินเดีย
สบายสปาสาขาแรกเปิดขึ้นเมื่อปี 2551 และทยอยเปิดจนปัจจุบันมีทั้งหมด 6 สาขาในเมืองมุมไบ และกำลังศึกษาลู่ทางจะเปิดตัวในเมืองอื่นๆ ต่อไป สบายสปาให้บริการเฉพาะสปาเท้า เช่น นวด ประคบด้วยลูกประคบ หินร้อน ฯลฯ และกำลังจะเปิดให้บริการนวดไทยและสปาหน้าในเร็วๆ นี้ แนวคิดหลักของสบายสปา คือ "ของไทยแบบไทย" ทั้งการตกแต่ง พนักงาน (คล้ายคนไทย) การบริการ ผลิตภัณฑ์สปาส่วนใหญ่ที่ใช้ และแนวทางการบริหารจัดการธุรกิจที่นำเอา "ไทยสไตล์" มาปรับใช้กับลูกจ้างท้องถิ่น ซึ่งเป็นคนอินเดียทั้งหมด
คุณบีมองว่า "โอกาสทางธุรกิจของสปาไทยในอินเดียยังมีอยู่มากและตลาดกำลังเติบโต" นับตั้งแต่เปิดสบายสปา มีเดย์สปาแบบเดียวกัน (แต่ให้บริการมากกว่าสปาเท้า) ซึ่งมีเจ้าของเป็นชาวอินเดียเปิดขึ้นตามมาจำนวนมาก แม้จะพยายามเลียนแบบ แต่ก็ยังคงมีช่องว่างความแตกต่างของ "ความเป็นไทย" ปรากฏให้เห็น เพราะคนไทยจะใส่ใจในรายละเอียดมากกว่า ซึ่งเป็นจุดแข็งสำคัญในธุรกิจ
เจ้าของกิจการจะต้องสอดส่องควบคุมลูกจ้างให้ดี ต้องจัดการฝึกอบรมและทบทวนให้กับเธอราพิสต์ท้องถิ่นและตรวจสอบมาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ เพราะมาตรฐานและรายละเอียดเหล่านี้ เลียนแบบได้ยาก ไม่เหมือนการตกแต่งร้าน ขั้นตอนการให้บริการ (เช่น การเปลี่ยนรองเท้า การล้างเท้า และการให้บริการชาร้อนหลังนวดเสร็จ เป็นต้น) หรือเครื่องแบบพนักงานที่จดจำไปทำตามกันได้ง่าย
ปัญหาและอุปสรรคย่อมมีเป็นธรรมดา นอกเหนือจากข้อจำกัดที่ไม่ให้ชาวต่างชาติถือหุ้นได้ 100% จึงต้องหาหุ้นส่วนชาวท้องถิ่นแล้ว งานเอกสารและการติดต่อภาคราชการอินเดียมีความซับซ้อนและใช้เวลามาก เช่น การจดทะเบียน การขออนุญาต การทำสัญญา ฯลฯ จำเป็นที่จะต้องศึกษารายละเอียดให้ดีและควรมีที่ปรึกษาชาวท้องถิ่นดำเนินการให้
อีกหนึ่งปัญหาหลักคือ ภาพลักษณ์ของ "การนวดไทย" ในสายตาชาวอินเดีย ซึ่งมักจะเป็นภาพเกี่ยวข้องกับการค้าบริการทางเพศ โดยเฉพาะหากมีเธอราพิสต์ชาวไทยทำงานอยู่ ทางการท้องถิ่นจะเพ่งเล็งเป็นพิเศษและมีการล่อซื้อให้เห็นเป็นข่าวอยู่พอสมควร ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกหากมองกันอย่างตรงไปตรงมาถึงมุมมืดด้านการท่องเที่ยวของไทย โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมของชาวอินเดียอย่างกรุงเทพฯ และพัทยา
ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาข้างต้นและเผยแพร่ภาพลักษณ์ "สปาไทยเพื่อสุขภาพ" สบายสปาจึงเริ่มธุรกิจด้วยบริการสปาเท้าเท่านั้น ติดกล้องวงจรปิดในห้องสปา ประตูห้องไม่ปิดทึบสามารถมองจากภายนอกได้ และใช้ลูกจ้างท้องถิ่นเท่านั้น โดยคัดเลือกคนที่รูปพรรณสัณฐานคล้ายคนไทย เช่น คนท้องถิ่นจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย
นอกจากนี้ ตลาดอินเดียมีความอ่อนไหวต่อราคาสูง ลูกค้าบางรายเปรียบเทียบราคากับร้านนวดที่พบได้ทั่วไปตามท้องถนนในกรุงเทพฯ หรือพัทยา ซึ่งส่วนใหญ่ย่อมจะคิดค่าบริการต่ำกว่า ปัจจัยนี้ยังมีผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์สปาจากไทยด้วย โดยมีคู่แข่งเป็นผลิตภัณฑ์อายุรเวชของอินเดีย ซึ่งมักมีราคาต่ำกว่าและคุณภาพแตกต่างกันไป
การลงทุนโดยตรงยังเป็นเรื่องยากสำหรับชาวต่างชาติหากไม่มีหุ้นส่วนท้องถิ่นที่ไว้ใจได้ แต่อีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจคือ การส่งออก know-how ด้านการบริหารจัดการ หรือรับจัดฝึกอบรมด้านการบริการให้กับผู้ประกอบการอินเดียและเธอราพิสต์ท้องถิ่น ซึ่งเป็นการยกระดับผู้บำบัดชาวไทยจากแรงงานสู่ผู้ฝึกสอนที่มีทักษะความเชี่ยวชาญและหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะตามมา เช่น การทำงานโดยผิดกฎหมายและการลักลอบหรือถูกบังคับให้ค้าบริการทางเพศ แต่ก็ต้องรอบคอบรัดกุม เพราะตลาดแห่งนี้มีความท้าทายรายชั่วโมง ขนาดธุรกิจโรงแรมและสปาเครือใหญ่จากไทยและต่างชาติยังต้องถอยกลับที่ตั้งกันมาแล้ว ส่วนเรื่องภาพลักษณ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและคนไทยทุกคนต้องช่วยกันแก้ไขต่อไปโดยเฉพาะผู้ที่เรียกตนเองว่าเป็นผู้บำบัด
โดย สรยศ กิจภากรณ์
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,977 วันที่ 24 - 27 สิงหาคม พ.ศ. 2557