ฐานเศรษฐกิจ: มองอินเดียใหม่ (ตอนที่ 139 ธนาคารทองคำ นวัตกรรมลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอันชาญฉลาดของอินเดีย)
หลายท่านคงเคยได้ยินมาบ้างแล้วว่า ทองคำเป็นที่นิยมของชาวอินเดียมาก ถึงมากที่สุด เนื่องจากเป็นของขวัญที่นิยมให้กันในงานพิธีและงานฉลองในโอกาสต่างๆ โดยเฉพาะงานแต่งงาน ชาวอินเดียจึงมีความต้องการซื้อหาทองคำมาไว้ในครอบครองอยู่เนืองๆ และส่วนใหญ่ก็จะเก็บไว้ในบ้านหรือฝากไว้ตามร้านขายทอง
ความนิยมชมชอบทองคำอันเหลือล้นของชาวอินเดียนี่เองที่ทำให้อินเดียมีความต้องการทองคำมากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน โดยในเดือนสิงหาคม 2557 สภาทองคำโลก (World Gold Council - WGC) ได้เปิดเผยในรายงานประจำไตรมาสว่า อุปสงค์ทองคำทั่วโลกร่วงลงในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ เนื่องจากแรงซื้อของประเทศผู้ใช้ทองคำรายใหญ่อย่างจีนและอินเดีย เริ่มกลับสู่ระดับที่ทรงตัวมากขึ้น โดยในช่วงเดือนเมษายน - มิถุนายน อุปสงค์ทองคำโลกอยู่ที่ 964 ตัน ปรับตัวลดลง 16% จากระดับ 1,148 ตันในไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งนับเป็นปริมาณรายไตรมาสที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยอุปสงค์ทองคำของอินเดียในช่วงไตรมาสดังกล่าวอยู่ที่ 204 ตัน
สภาทองคำโลกคาดการณ์ไว้ด้วยว่า ในปี 2557 นี้ ความต้องการทองของอินเดียจะมีสัดส่วน 22.5% ของทั้งโลกหรือประมาณ 894 ตัน ซึ่งลดลงจากระดับ 975 ตันในปีที่ผ่านมา การปรับตัวลดลงของความต้องการทองคำในอินเดียนี้ ส่วนหนึ่งมากจากการที่รัฐบาลอินเดียได้ใช้นโยบายคุมเข้มการนำเข้าทองคำ หลังจากประสบภาวะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างหนัก ในขณะที่ความต้องการทองคำของจีนในปีนี้ จะมีสัดส่วน 29.1% ของทั้งโลกหรือประมาณ 1,158 ตัน
โดยที่ความต้องการครอบครองทองคำของชาวอินเดียยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่อาจปรับตัวลดลงหรือสูงขึ้นตามราคาทองในตลาดโลกและนโยบายด้านภาษีนำเข้าทองคำของรัฐบาลอินเดีย ที่ผ่านมารัฐบาลอินเดียจึงต้องระดมสมองหนักในการบริหารจัดการความต้องการของชาวอินเดียในส่วนนี้ เพื่อพยุงภาวะขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ด้วยการปรับเปลี่ยนอัตราภาษีอยู่เสมอตามราคาทองคำในตลาดโลกและความต้องการจากภายในประเทศ
ความนิยมชมชอบทองคำของชาวอินเดียนั้น นอกจากจะนำมาซึ่งภาวะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างหนัก เนื่องจากต้องพึ่งพาการนำเข้าทองคำจากต่างประเทศแล้ว การคุมเข้มการนำเข้าทองของรัฐบาลอินเดีย ยังส่งผลให้มีกระบวนการลักลอบนำเข้าทองคำเข้าสู่ประเทศอย่างผิดกฎหมาย เพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว ในปี 2542 กระทรวงการคลังอินเดียจึงได้ริเริ่ม "โครงการฝากทองไว้กับธนาคาร" (Gold Deposit Scheme - GDS) โดยมีจุดประสงค์เพื่อระดมทองคำ (อย่างน้อย 500 กรัม) ที่ชาวอินเดียเก็บไว้อย่างปลอดภัย แต่ไม่มีผลกำไรใดๆ และจะนำมาใช้ก็ต่อเมื่อมีงานแต่งงาน งานวันเกิด งานวันครบรอบแต่งงาน ฯลฯ โดยลูกค้าในโครงการจะได้รับดอกเบี้ย 0.75-1% จากราคาทองที่นำมาฝาก และเมื่อครบอายุการฝากทอง (6 เดือน - 7 ปี) ลูกค้าสามารถเลือกรับทองคำคืน (ความบริสุทธิ์ 0.999 ในรูปของเหรียญทองหรือทองคำแท่ง) รับเป็นเงินสดคืน นำทองคำเข้าโครงการต่อ หรือสามารถโอนทองคำในส่วนนั้นไปยังบัญชีลูกค้าคนอื่น หรือไปยังบัญชีอื่นของตนก็ได้ โดยลูกค้าจะได้รับการยกเว้นภาษีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ที่ได้มาจากการเข้าร่วมโครงการฝากทอง โดยนอกจากผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับดอกเบี้ยจากการฝากทองคำแล้ว ยังลดภาระจากการเก็บรักษาทอง ทองคำในครอบครองได้รับการทดสอบคุณภาพ และยังเป็นการช่วยบรรเทาภาวะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศด้วยการลดการนำเข้าทองจากต่างประเทศด้วย
ในส่วนของธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ เมื่อได้รับทองคำของลูกค้าแล้ว ก็จะส่งต่อไปธนาคารกลางอินเดียเพื่อตรวจสอบคุณภาพ หลังจากนั้น ทองคำจะถูกนำไปหลอมรวมกันแล้วนำกลับมาเป็นอุปทานรองรับกับอุปสงค์ทองคำภายในประเทศ ทางธนาคารจึงสนับสนุนให้ลูกค้านำทองในรูปแบบของเหรียญทองหรือทองคำแท่งมาฝาก แทนการนำเครื่องประดับที่ทำจากทองมาฝาก เนื่องจากเมื่อครบอายุการฝากทองแล้ว ลูกค้าจะได้รับทองคำคืนในรูปแบบของเหรียญทองหรือทองคำแท่งเท่านั้น
เนื่องจากผู้เข้าร่วมโครงการของรัฐบาลจะไม่ได้รับดอกเบี้ยที่สูงนัก ธนาคารของเอกชนที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ รวมถึงบริษัทผู้ผลิตเครื่องประดับจากทองคำบางแห่ง ได้ปรับใช้หลักการของโครงการข้างต้น เพื่อบรรเทาความต้องการทองคำจากต่างประเทศ โดยสร้างแรงจูงใจด้วยการให้ดอกเบี้ยสูงกว่าในโครงการของรัฐบาล กระนั้นก็ดี ถึงแม้อัตราดอกเบี้ยนอกโครงการของรัฐจะน่าดึงดูดกว่า แต่ผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องใช้วิจารณญาณให้ดี เนื่องจากมีความเสี่ยงที่บริษัทอาจยกเลิกโครงการ ปิดตัวเองหรือถูกปิด และลูกค้าก็อาจจะไม่ได้รับทองคืน
ล่าสุด ธนาคารเอกชน Yes Bank ของอินเดียก็ได้เปิดตัวบัญชีรับฝากทองคำ (Gold Deposit Account) โดยเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าสามารถนำเงินสดมาเข้าบัญชีทองคำได้ โดยเงินสดจำนวนดังกล่าวจะถูกคำนวณให้เป็นปริมาณทองคำตามราคาตลาด และขั้นตอนหลังจากนั้นก็เหมือนกับในโครงการข้างต้น
โครงการธนาคารทองคำของรัฐบาลอินเดียและเอกชนอินเดียที่กล่าวมาข้างต้นฟังดูน่าสนใจอยู่ไม่น้อย ถือว่าเป็นวิธีการแก้ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่สร้างสรรค์ ช่วยนำทองคำนอกระบบเข้าสู่ระบบ ทำให้ครัวเรือนได้ผลกำไรจากสินทรัพย์อันทรงคุณค่านี้บ้างไม่มากก็น้อย ดีกว่าการเก็บทองไว้เฉยๆ นับว่าเป็นไอเดียที่คิดนอกกรอบอีกอย่างหนึ่งของอินเดียที่น่ายกนิ้วให้
พจมาศ แสงเทียน
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,979
วันที่ 31 สิงหาคม - 3 กันยายน พ.ศ. 2557