อานธรประเทศ อัญมณีแห่งอ่าวเบงกอลตอนที่ 1
ความเคลื่อนไหวอันนำไปสู่การแยกตัวของรัฐเตลังคานาออกจากรัฐอานธรประเทศ ที่ดำเนินมาตลอด 50 ปี ได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2557 ส่งผลให้รัฐอานธรประเทศซึ่งเคยมีอาณาเขตใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของประเทศอินเดีย ตกไปอยู่อันดับที่ 8 โดยรัฐเตลังคานาซึ่งประกอบด้วยเขตปกครอง 10 เมือง ได้รับการสถาปนาให้เป็นรัฐที่ 29 ให้เป็นรัฐน้องใหม่ล่าสุดของประเทศอินเดีย โดยอีก 13 เมืองฝั่งตะวันตกยังคงอยู่ภายใต้ การดูแลของรัฐอานธรประเทศต่อไป ส่วนเมืองไฮเดอราบัดยังคงต้องรับบทเป็นเมืองหลวงควบ 2 รัฐต่อไปอีกเป็นระยะเวลา 10 ปี จนกว่ารัฐเตลังคานาและรัฐอานธรประเทศจะสถาปนาเมืองหลวงใหม่ของตัวเองได้เป็นที่เรียบร้อย
(คลิกที่ภาพเพื่อดูภาพขยาย)
รัฐอานธรประเทศตั้งอยู่บนที่ราบสูงเดคคาน ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย พื้นที่ด้านในที่ติดกับภูเขามีอากาศเย็นสบาย ส่วนพื้นที่ราบลุ่มมีฝนตกชุกในฤดูฝนเนื่องจากได้รับลมมรสุม มีแม่น้ำกฤษณะ และแม่น้ำโกดาวารี ไหลผ่านที่ราบลุ่มขนาดใหญ่ ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น “ชามข้าวของอินเดีย” ทิศตะวันออกของรัฐหันออกสู่อ่าวเบงกอล มีชายฝั่งทะเลยาวเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศอินเดีย (รองจากคุชราต) ระยะทาง 972 กิโลเมตร มีทรัพยากรต่างๆ มากมาย รัฐนี้มีภาษาเตลูกูเป็นภาษาประจำรัฐรองลงมา คือ ภาษาอูรดู และภาษาอังกฤษ ปัจจุบันรัฐอานธรประเทศมีพื้นที่ที่เล็กลงเหลือเพียง 160,025 ตารางกิโลเมตร ภายหลังการประกาศตั้งรัฐใหม่ของรัฐเตลังคานา และมีประชากร 49 ล้านคน
ผู้กุมนโยบายพัฒนารัฐอานธรประเทศคนล่าสุดคือ นายจันทรบาบู ไนดู ผู้นำพรรค Telugu Desam เป็นนักการเมืองดาวรุ่งพุ่งแรงที่มีเส้นทางการเมืองน่าสนใจ โดยเคยได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีหนุ่มที่สุดของรัฐตั้งแต่อายุ 28 ปี หนังสือพิมพ์ India Today โหวตให้เป็น “IT Indian of the Millennium” เคยดำรงตำแหน่งมุขมนตรีของรัฐอานธรประเทศติดต่อกันถึง 2 สมัย ในระหว่างปี 2538-2547 เป็นผู้นำระดับรัฐที่ผู้นำระดับโลกเข้าพบปะแลกเปลี่ยนความคิดอยู่บ่อยครั้ง ทั้งนายโทนี่ แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร และนายบิล คลินตัน อดีตประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ได้รับการชื่นชมจากสำนักข่าว CNN ว่าสามารถพลิกฟื้นชนบทล้าหลังให้กลายเป็นมหานครแห่งโลกไอทีของประเทศอินเดียได้ในเวลาเพียง 5 ปี ด้วยการเจียระไนเมืองไฮเดอราบัดให้เจิดจรัสบนสายตานักลงทุนต่างชาติ ภายใต้แคมเปญ “บ๊ายบายบังคาลอร์ ฮัลโหลไฮเดอราบัด”
นายจันทรบาบู ไนดู ได้รับโอกาสให้กลับมารับใช้ชาวอานธรประเทศรอบใหม่ โดยเข้าสาบานตนรับตำแหน่ง มุขมนตรีสมัยที่ 3 และถือเป็นมุขมนตรีคนแรกของรัฐอานธรประเทศเวอร์ชั่นใหม่ ไปเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2557 ภายหลังการสถาปนารัฐเตลังคานาไปได้ 6 วัน ประชาชนชาวอานธรประเทศส่วนใหญ่เริ่มมีความหวังต่อสิ่งใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น นายจันทรบาบู ไนดู เคยวางวิสัยทัศน์ของรัฐอานธรประเทศในปี 2020 ร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำจากอเมริกาอย่าง McKinsey & Company ไว้ว่า รัฐอานธรประเทศในอนาคตจะกลายเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษา ศูนย์กลางการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพ ประชาชนในชนบทมีงานทำ และมีการลงทุนจากองค์กรขนาดใหญ่มากกว่าการลงทุนจากนักลงทุนรายย่อยๆ เมืองทุกเมืองเข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตัวเองได้
ในปี 2555-2556 ก่อนที่จะแยกพื้นที่รัฐเตลังคานา รัฐอานธรประเทศมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในรัฐ (GDP) อยู่ที่ 2,359.3 พันล้านรูปี มาจากภาคการเกษตร 545.99 พันล้านรูปี และมาจากภาคอุตสาหกรรม 507.45 พันล้านรูปี แต่ที่น่าสนใจมากคือรายได้ที่มาจากภาคบริการ 1,305.87 พันล้านรูปี ส่วนใหญ่มาจากเมืองไฮเดอราบัดซึ่งมีชื่อเสียงด้าน IT และการให้บริการด้านศูนย์ดำเนินการ call center การวิจัยพัฒนาและการบริการเกี่ยวกับกระบวนการให้ความรู้ Knowledge Process Outsource หรือ KPO
หากนโยบายต่างๆ ที่รัฐวางไว้สามารถเป็นจริงได้ รัฐอานธรประเทศจะไม่เพียงโดดเด่นด้านการเป็นศูนย์กลางการให้บริการ Call Center ศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ แหล่งส่งออกสินค้าด้านไอที แต่เราจะได้เห็นเมืองชั้นนำผุดขึ้นประหนึ่งสายสร้อยไข่มุกรายเรียงต่อกันในระยะทาง 972 กิโลเมตรเลียบอ่าวเบงกอล และเมืองหลวงใหม่ของรัฐที่สร้างขึ้นบนพื้นฐานความทันสมัย ความเป็นไปได้นี้จะเกิดขึ้นเร็ววันแค่ไหน แล้วผู้ประกอบการไทยควรขยับอย่างไร เราจะมาติดตามกันต่อไปในตอนหน้า
**************************
รายงานโดยนางสาวสุทธิมา เสืองาม
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน