ปรากฏการณ์โมดีแรงต่อ จีน ญี่ปุ่น แข่งกันไปลงทุนในรัฐคุชราต
แม้นายนเรนทร โมดีจะพ้นจากการเป็นมุขมนตรีรัฐคุชราตมาแล้วตั้งแต่ปลายเดือน พ.ค. หลังจากสาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 15 ของอินเดียไป แต่มรดกความสำเร็จ (legacy) ของนายโมดียังคงแรงและทำให้รัฐคุชราตยังเป็นที่หมายปองของนักลงทุนทั่วโลก
เอกชนต่างชาติที่ดูจะรุกคุชราตมากที่สุดเห็นจะเป็นญี่ปุ่นและจีน โดยสำหรับญี่ปุ่นคงไม่ต้องพูดถึง เป็น partner country ของงาน Vibrant Gujrat Summit งานประชุมทางธุรกิจขนาดใหญ่ของอินเดีย (น้องๆ World Economic Forum) มาหลายต่อหลายปี จากที่เคยมีบริษัทญี่ปุ่น 5-6 บริษัท ขณะนี้มีบริษัทญี่ปุ่นลงทุนในคุชราตแล้วกว่า 60 บริษัท และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นหลังจากการเยือนญี่ปุ่นของนายโมดีเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
บริษัทญี่ปุ่นใหญ่ๆ ที่ไปลงทุนในคุชราตแล้ว ได้แก่ ฮอนด้า และซูซูกิ ที่กำลังลงทุนสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ในรัฐคุชราต โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ฮอนด้าได้ลงนามความตกลงกับรัฐคุชราตที่จะสร้างโรงงานผลิตรถจักรยานยนต์อีกแห่งใกล้เมืองอาห์เมดาบัด มูลค่ากว่า 40,000 ล้านรูปี (2 หมื่นล้านบาท) ปัจจุบัน ฮอนด้ามีโรงงานอยู่ที่ Halol ใกล้ๆ เมืองวาโดดาราอยู่แล้ว
ด้านรัฐบาลจีนก็กำลังมองหาสถานที่ขยายโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อเป็นฐานการผลิตของบริษัทรัฐวิสาหกิจของจีน หลังจากบริษัท Tebian Electric Apparatus Stock Co. Ltd. (TBEA) ผู้ผลิตทรานสฟอร์เมอร์ได้ไปตั้งโรงงานผลิตในคุชราตแล้ว แถบๆ เมืองวาโดดารา เปิดทำการไปตั้งแต่เดือนกรกฎาคม
ทั้งบริษัทจีนและญี่ปุ่นรวมกว่าสองโหลกำลังจะลงนาม MOU เพิ่มเติมกับรัฐบาลคุชราตในงาน Vibrant Gujarat Summit ครั้งที่ 6 ที่กำลังจะมีขึ้นในเดือนมกราคม 2558 เพื่อลงทุนสร้างโรงงานอีกจำนวนมากในรัฐคุชราตแห่งนี้
อีกหนึ่งสัญญาณที่แสดงว่าจีนกำลังรุกคุชราตแรง คือการที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาของจีน (Chinese Development Bank) เพื่อเป็นแหล่งทุนให้กับเอกชนจีนที่กำลังจะไปลงทุนในอินเดีย นอกจากนั้น จีนยังได้ประกาศจัดตั้งสวนอุตสาหกรรมเพื่อเป็นที่ตั้งของบริษัทจีนโดยเฉพาะด้วย
เมื่อสองสามเดือนก่อน จีนยังได้จัดคณะนักธุรกิจในสาขาการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 10 ราย เช่น Green Field Motor, VOCH Group, YueHua Control Group, Zhuji Yongcheng Auto, Wenzhou Jinpi Machinery Manufacturing และ JBON Control Industry ไปเยือนเมืองสนั่น (เมืองนี้มีเอกชนไทยไปสร้างโรงงานอยู่คือ ศรีไทยซุปเปอร์แวร์) เพื่อหารือกับรัฐเกี่ยวกับการสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าด้วยมูลค่าการลงทุนมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์
เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทจีนในสาขาพลังงานอย่าง Boading Tianwei Baobian Electric ก็ได้เปิดโรงงานแห่งแรกให้รัฐคุชราตไล่เลี่ยกับบริษัทสุขภัณฑ์ญี่ปุ่น Toto ที่เพิ่งเปิดโรงงานแห่งแรกในอินเดียที่ Halol ใกล้เมืองวาโดดารา ด้วยมูลค่าก่อสร้างเกือบ 2 พันล้านบ้าน
แน่นอนว่า การที่ญี่ปุ่นและจีน สองยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจของเอเชียแย่งกันเข้าไปลงทุนในรัฐคุชราตย่อมไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ทั้งหมดนี้เป็นเพราะรัฐคุชราตเป็นรัฐที่มีทุกอย่างพร้อม ทั้งน้ำไฟไม่ขาดพร่อง แถมรัฐบาลยังมีความเป็นมิตรกับนักลงทุน แม้แต่ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ ซึ่งน่าจะเป็นเอกชนไทยเจ้าเดียวในขณะนี้ที่ไปลงทุนสร้างโรงงานในคุชราตยังพูดเลยว่า ทำธุรกิจในอินเดียมาหลายที่ ไม่เคยเจอรัฐไหนที่การทำธุรกิจสะดวกจริงๆ เรียกว่าเป็น one-stop service ของแท้
ทั้งหมดทั้งปวงนี้ก็เป็นผลพวงจากการที่นายโมดีปรับโฉมให้รัฐคุชราต รัฐที่เคยยากจนที่สุดรัฐหนึ่งในอินเดีย กลายเป็นรัฐศูนย์กลางทางอุตสาหกรรมของอินเดีย โดยเน้นการขจัดกระบวนการราชการที่ทำให้เสียเวลา และสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพเพื่ออำนวยความสะดวกเอกชนที่เข้าไปลงทุน
นอกจากนี้ สิ่งที่ดึงดูดเอกชนเข้าไปในรัฐคุชราตอีกอย่างก็คือโครงการก่อสร้างระเบียงเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมทั่วอินเดีย โดยเฉพาะ Delhi-Mumbai Industrial Corridor (DMIC) ที่จะเชื่อมเมืองหลวงนิวเดลีกับมุมไบ ศูนย์กลางทางการเงินและการค้า กับรัฐคุชราตศูนย์กลางทางอุตสาหกรรม ทางโลจิสติกส์ ทั้งระบบถนน (dedicated freight corridor) และระบบราง เมื่อเร็วๆ นี้ ญี่ปุ่นก็ได้ตกลงที่จะช่วยอินเดียพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เชื่อมเมืองมุมไบกับอาห์เมดาบัดด้วย
ด้วยเหตุผลนี้เอง คุชราตจึงเป็นจุดที่เหมาะที่สุดที่จะทำการผลิตและกระจายสินค้าไปทั่วอินเดีย เพราะกว่า 40% ของโครงการ DMIC อยู่ในพื้นที่รัฐคุชราต ซึ่งจะมีเขตอุตสาหกรรมผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดระหว่างเส้นทาง DMCI นี่ยังไม่นับรวมแผนในอนาคตที่จะเชื่อมต่อคุชราตไปยังบังกาลอร์และเจนไน ผ่านโครงการระเบียงเศรษฐกิจลักษณะเดียวกัน เรียกได้ว่า ถ้าจะบรรยายให้หมด ณ ที่นี้ ก็คงต้องเขียนกันจนมือหงิกงอเลยทีเดียว
เห็นอย่างนี้แล้วทีมงาน thaiindia.net ก็ไม่อยากให้เอกชนไทยนิ่งเฉย อยากให้เข้าไปในคุชราตกันแต่เนิ่นๆ หากยังไม่มั่นใจที่จะไปลงทุนด้วยตัวเองในรัฐนี้ ก็ลองขอคำแนะนำจากรุ่นพี่อย่างศรีไทยซุปเปอร์แวร์ หรือลองเกาะเอกชนญี่ปุ่นหรือจีนในเครือข่ายเข้าไปด้วยกัน ก็น่าจะเป็นโอกาสที่ดีไม่น้อย
ประพันธ์ สามพายวรกิจ
รายงานจากกรุงนิวเดลี