อานธรประเทศ อัญมณีแห่งอ่าวเบงกอลตอนที่ 2 - “หม้อข้าวของอินเดีย”
หากตัดภาพความเจริญทางเทคโนโลยีและศูนย์กลางแห่งโลกไอทีออกไปจากรัฐอานธรประเทศ เราจะเห็นว่า รัฐอานธรประเทศคือรัฐกสิกรรมแถวหน้าของประเทศอินเดีย ซึ่งอุดมสมบูรณ์ที่สุดถึงขนาดได้รับการสมญานามว่า “หม้อข้าวของประเทศอินเดีย” ทีเดียว
รัฐอานธรประเทศตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของประเทศอินเดีย ทางตอนเหนือของรัฐทมิฬนาฑู ติดอ่าวเบงกอล มีประชากร 49 ล้านคน มีพื้นที่ 160,025 ตารางกิโลเมตร ได้เปรียบด้วยภูมิประเทศอันหลากหลาย มีพื้นที่ชายฝั่งทะเลยาวเป็นอันดับ 2 ของประเทศอินเดีย (รองจากคุชราต) ระยะทาง 972 กิโลเมตร มีพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำโกดาวารี และแม่น้ำกฤษณะ เป็นแหล่งเพาะปลูกสำคัญของประเทศอินเดีย มีเหมืองแร่และทรัพยากรธรรมชาติอยู่มากมาย อาทิ แร่เหล็ก หินแกรนิต โมเสค ไฮเดอราบาดไลม์ซึ่งใช้ในการก่อสร้าง รวมถึงแร่แบไรต์ ซึ่งใช้ในการเจาะสำรวจน้ำมันหรือน้ำบาดาล ใช้ในอุตสาหกรรมทำแม่สีและเนื้อสี อุตสาหกรรมทำแก้ว ทำยาง ผ้าน้ำมัน กระดาษน้ำมัน พรมน้ำมัน และพลาสติก ใช้ในอุตสาหกรรมฟอกหนัง ทำแป้งผัดหน้าฯลฯ
รัฐอานธรประเทศได้รับอิทธิพลจากลมมรสุม ทำให้มีอากาศร้อนอบอ้าวในฤดูร้อน ฝนตกชุกตั้งแต่เดือนมิถุนายน เดือนที่มีอากาศเย็นสบายน่าท่องเที่ยวอยู่ในช่วงเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์
ด้วยภูมิอากาศและภูมิประเทศที่เอื้ออำนวยต่อการเกษตร ทำให้รัฐอานธรประเทศปลูกข้าวได้เป็นอันดับที่ 2 รองจากรัฐปัญจาบ ซึ่งสถิติการส่งข้าวให้รัฐบาลกลาง นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 จนถึงเดือนสิงหาคม 2557 รวมแล้ว 7.773 ล้านตัน นอกจากข้าวและธัญพืช รัฐนี้ยังมีผลผลิตอื่นๆ ได้แก่ มะนาว มะเขือเทศ มะละกอ และน้ำมันปาล์ม ซึ่งปลูกได้เป็นอันดับ 1 ของอินเดีย นอกจากนี้ ยังปลูกมะม่วง และมะม่วงหิมพานต์ เป็นอันดับ 2 ของประเทศ มีไม้ดอกตัดจำหน่ายเป็นอันดับ 3 ของประเทศ และปลูกกล้วยได้เป็นอันดับ 4 ของประเทศ ดังนั้น กิจกรรมการส่งเสริมผลิตผลทางการเกษตรทุกรูปแบบ ตั้งแต่ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง เครื่องมือไถหว่าน เครื่องจักรกลทางการเกษตรต่างๆ สามารถบุกเข้าไปทำตลาดได้ในรัฐนี้
ในด้านปศุสัตว์และการประมงก็มีความโดดเด่น รัฐอานธรประเทศมีฟาร์มเลี้ยงแพะ แกะ ซึ่งให้ผลผลิตของเนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์นมที่จุนเจือรายได้ให้กับเกษตรกรถึง 6 ล้านครอบครัวต่อวัน ในด้านอุตสาหกรรมการประมง ก่อให้เกิดการว่าจ้างแรงงานในรัฐนี้ราว 1.4 ล้านคน มีการส่งออกกุ้งและปลาเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศอินเดีย คิดเป็นรายได้เข้ารัฐปีละไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านรูปี บริษัทซีพีของคนไทยได้เข้ามาตั้งโรงงานผลิตอาหารกุ้งที่รัฐนี้หลายปีแล้ว ซึ่งอาหารกุ้งของซีพีมีคุณภาพสูง นับเป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้รัฐอานธรประเทศมีผลผลิตกุ้งคุณภาพดีเพิ่มขึ้นทุกปี
รายได้ต่อบุคคล (Per Capita Income) ของรัฐนี้อยู่ที่ 77,277 รูปี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของรายได้ประชากรทั้งหมดของประเทศอินเดียถึง 8,500 รูปี ด้วยความที่รัฐอานธรประเทศ ไม่ปล่อยให้เกษตรกรแข็งขันเป็นกระดูกสันหลังของรัฐเพียงฝ่ายเดียว แต่ให้ความสำคัญกับภาคอุตสาหกรรมนับตั้งแต่ระดับรากหญ้าจนถึงระดับร่วมทุนกับนานาชาติ ภายใต้โครงการ District Industries Centers ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2521 ส่งผลให้มีการยกระดับฝีมือแรงงานภาคครัวเรือนให้มีบทบาทในฐานะอุตสาหกรรมชุมชนเช่นเดียวกันกับโครงการโอท็อปบ้านเรา และ การฝึกปรือฝีมือแรงงานภายในชุมชนนี้เองยังเป็นส่วนหนึ่งที่เตรียมพร้อมให้ชาวบ้านในชนบทสามารถรับจ้างแรงงานในภาคอุตสาหกรรมได้
รัฐบาลของรัฐอานธรประเทศมีวิสัยทัศน์อันชัดเจนในการดึงดูดภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ได้แก่ อุตสาหกรรมยา ไบโอเทคโนโลยี อาหาร เครื่องหนัง แพรพรรณ เครื่องจักรกล เซมิคอนดักเตอร์ อุตสาหกรรมรถยนต์และส่วนประกอบ ไปจนถึงอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ การจัดโซนอุตสาหกรรมที่ให้สิทธิพิเศษแก่ผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็น Biotech Parks, Textile Parks, Leather Parks, Fab Cities, Auto Parks และ Hardware Parks นั่นเป็นแรงจูงใจสำคัญในการลงทุนของชาวต่างชาติ โดยนับตั้งแต่ปี 2534 ที่รัฐมีนโยบายสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม ก็ได้มีเงินลงทุนจากต่างชาติมายังรัฐนี้ไม่ต่ำกว่า 770 พันล้านรูปี ส่งผลให้เกิด การจ้างงานจากภาคอุตสาหกรรมไม่ต่ำกว่า 14 ล้านคน
นอกจากนี้ ยังมีโครงการพลังงานระดับยักษ์ที่เรียกว่า Ultra Mega Power Projects เกิดขึ้นอย่างน้อยๆ 2 โครงการในรัฐนี้ได้แก่ Krishnapatnam Ultra Mega Power Project ซึ่งมีบริษัท Coastal Andhra Power Ltd. ได้รับสัมปทานไป และโครงการ Nayunipalli Ultra Mega Power Project ของบริษัท Tatiya Andhra Mega Power Ltd. ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาข้อตกลง
รัฐอานธรประเทศมีวิสัยทัศน์ที่จะทะยานพาพลเมืองไปสู่ความรุ่งโรจน์นับตั้งแต่ภาคครัวเรือน ไปจนถึงภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในวันนี้เป็นภาพสะท้อนของก้าวแรกๆ ซึ่งยังมีรอยรั่วมากมายที่ต้องอุด ไม่ว่าจะเป็นฝีมือแรงงานที่เอาเข้าจริงๆ แล้วยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของบริษัทต่างชาติได้อย่างตรงเป้าประสงค์ แต่ข้อได้เปรียบที่สำคัญด้านฝีมือแรงงานที่อินเดียคือมีราคาถูก
บริษัทเอกชนที่มีศักยภาพในการขยายฐานมาตั้งโรงงานที่นี่ หากมีทักษะในการฝึกฝีมือแรงงาน มีจิตวิญญาณในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และความพร้อมที่จะเข้าใจวัฒนธรรมการทำงานของคนอินเดีย ย่อมมีโอกาสที่จะค้นพบขุมสมบัติที่ซ่อนอยู่ในประเทศนี้ ในตอนหน้าจะมาเล่าให้ฟังว่าเมืองต่างๆ ในรัฐอานธรประเทศ แต่ละเมืองฉายแววโดดเด่นอย่างไร ซึ่งจะทำให้เห็นบุคลิกอันหลากหลาย ทำให้รัฐอานธรประเทศเปล่งประกายเจิดจรัสรอบอ่าวเบงกอล
**************************
รายงานโดยนางสาวสุทธิมา เสืองาม
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน