อานธรประเทศ อัญมณีแห่งอ่าวเบงกอลตอนที่ 3
Prakasam Barrage เมือง Vijayawada ตัวเต็งเมืองหลวงใหม่ของรัฐอานธรประเทศ
การขยายโครงการของ CPF Group โดยการลงทุน 10,000 ล้านรูปีที่รัฐอานธรประเทศนั้นไม่เป็นข่าวในสื่อไทย หากได้รับการตีพิมพ์ในเว็บไซต์สื่อชื่อดังของอินเดียหลายสำนัก อย่างเช่น The Hindu และ NDTV.com นั้น แสดงให้เห็นว่ารัฐอานธรประเทศมีอนาคตสดใส มั่นใจได้สำหรับนักลงทุน และคนอินเดียก็อ้าแขนรับคนไทยอย่างเต็มที่
การบุกเบิกธุรกิจในประเทศอินเดียขึ้นอยู่กับมุมมองและวิธีคิด หากมองว่าคนอินเดียทำธุรกิจด้วยยาก เหตุใดชนชาติญี่ปุ่น เกาหลี จึงสามารถลงทุนกันอย่างเอิกเกริกในประเทศนี้ จะบอกว่าคนญี่ปุ่นกับเกาหลีเก่งภาษาอังกฤษกว่าคนไทย ก็เห็นทีจะไม่ใช่ แต่เขาเชื่อว่าประเทศอินเดียนั้นมีโอกาส ถ้าไม่ขลาดที่จะแสวงหา ย่อมขุดเจอขุมทองจนได้
อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วใน 2 บทก่อนหน้านี้ว่า รัฐอานธรประเทศเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนที่น่าจับตามอง ไม่ว่าจะเป็นการแยกตัวของรัฐเตลังคานา ซึ่งทำให้รัฐอานธรประเทศมีขนาดลดลงโดยเหลือเพียง 13 เมือง ง่ายต่อการวางแผนพัฒนาอย่างทั่วถึง การที่เมืองไฮเดอราบัดต้องควบตำแหน่งเมืองหลวง 2 รัฐ เพื่อพยุงเศรษฐกิจรัฐน้องใหม่ เป็นการเปิดทางให้ผู้ปกครองรัฐมองหาเมืองหลวงใหม่ เพื่อขยายความเจริญที่เคยกระจุกอยู่ในเมืองไฮเดอราบัดออกไปสู่เมืองอื่น
การกลับมารับตำแหน่งมุขมนตรีเป็นสมัยที่ 3 ของนายจันทรบาบู ไนดู ก็เป็นการต่อยอดวิสัยทัศน์ของรัฐอานธรประเทศ 2020 ที่เขาได้วางไว้ก่อนหน้ากับเอเจนซีชื่อดังในอเมริกา McKinsey & Company ซึ่งประกาศไว้ว่ารัฐอานธรประเทศจะเป็นศูนย์กลางการศึกษา และการรักษาพยาบาลซึ่งมีคุณภาพสูง ต้นทุนต่ำ คนจนในชนบทมีงานทำ และมีการลงทุนขนาดใหญ่เพิ่มมากขึ้น แทนที่จะมีแต่พ่อค้ารายย่อย
รัฐอานธรประเทศมีความหลากหลายด้านภูมิศาสตร์และทรัพยากร หากต้องการผลักดันให้เป็น 1 ใน 25 เขตเศรษฐกิจพิเศษที่ดีที่สุดในโลกเช่นเดียวกับรัฐคุชราตก็ไม่น่าจะยาก เนื่องจากมีพื้นที่ชายฝั่งยาวเป็นอันดับ 2 ของประเทศอินเดีย เป็นรองก็แต่รัฐคุชราตรัฐเดียวเท่านั้น นอกจากเมืองเด่นอย่างไฮเดอราบัด ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะนครไอทีและศูนย์กลางการผลิตรถยนต์แล้ว รัฐนี้ยังมีแม่เหล็กสำคัญอย่างเมืองวิสาขาปัทนัม (Visakhapatnam) หรือไวแซก ซึ่งกำลังผลักดันให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายฝั่งตะวันออก ภายใต้โครงการ Petroleum, Chemicals and Petrochemicals Investment Region (PCPIC) บนพื้นที่ 608 ตร.กม. เชื่อมต่อระหว่างเมืองวิสาขาปัทนัมและเมืองคานินาดา (Kaninada)
โครงการนี้จะนำรัฐอานธรประเทศไปสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมด้านปิโตรเคมี ซึ่งประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี โรงกลั่นน้ำมัน โพลิเมอร์ ปุ๋ย เวชภัณฑ์ นอกเหนือจากสาธารณูปโภคครบครันพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกไว้รองรับนักลงทุนแล้ว ยังมีท่าเรือสำคัญ 3 แห่ง เชื่อมต่อกับการเดินทางทางบก และทางอากาศ ได้โดยง่าย ส่งเสริมการตลาดทั้งภายในประเทศและ การส่งออกไปยังต่างประเทศ
วิจายาวาดา (Vijayawada) ได้เปรียบด้วยการเป็นเมืองเดียวที่มีแม่น้ำสำคัญถึง 2 สายไหลผ่าน ซึ่งหาได้ยาก ในโลก เมืองนี้เป็นเมืองใหญ่ลำดับ 2 รองจากวิสาขปัทนัมซึ่งใหญ่ที่สุดในรัฐอานธรประเทศได้รับการวางกลยุทธ์ 2020 โดย McKinsey Quarterly เอเจนซีชื่อดังของสหรัฐอเมริกาให้เป็น “Global City of the Future” เมืองนี้เป็นเมืองที่สะอาดที่สุดในรัฐอานธรประเทศและเป็นชุมทางรถไฟที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศอินเดียมีแนวโน้มว่าจะได้รับตำแหน่งเมืองหลวงใหม่ของรัฐอานธรประเทศต่อจากเมืองไฮเดอราบัด
เมืองกุนเธอร์ (Gunter) เป็นเมืองโบราณซึ่งมีการค้นพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในอินเดีย ว่ามีมนุษย์อาศัยอยู่ที่นี่มีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ซึ่งส่งอิทธิพลต่อศิลปวัฒนธรรมในสมัยต่อมา ทุกวันนี้ยังมีสถูปเจดีย์สถานหลงเหลืออยู่ เมืองนี้เป็นที่ตั้งของสถาบันการศึกษาที่สำคัญหลายแห่ง อาทิ Acharya Nagarjuna University, K.L. University, Katuri Medical College, Hindu College, Gunter Medical College เป็นต้น กุนเธอร์จึงถูกหมายตาให้เป็นเมืองศูนย์กลางทางการศึกษา ที่จะสนับสนุนให้คนในรัฐอานธรประเทศมีโอกาสเรียนดี และยังดึงดูดนักเรียน นักศึกษาจากประเทศใกล้เคียงอีกด้วย
เมืองเคอร์นูล (Kurnool) ไปจนถึงคูดาปา (Kudapa) เป็นแหล่งแร่ธาตุและทรัพยากรธรรมชาติอันหลากหลาย โดยเฉพาะหินแกรนิต โมเสค ไฮเดอราบัดไลม์ ซึ่งใช้ในการก่อสร้าง รวมถึงแร่แบไรต์ ซึ่งใช้ในการเจาะสำรวจน้ำมันหรือน้ำบาดาลใช้ในอุตสาหกรรมทำแม่สีและเนื้อสี อุตสาหกรรมทำแก้ว ทำยาง ผ้าน้ำมัน กระดาษน้ำมัน พรมน้ำมัน และพลาสติก ใช้ในอุตสาหกรรมฟอกหนัง ทำแป้งผัดหน้า เป็นต้น ชาวอานธรประเทศเชื่อว่า ต่อให้ขุดทรัพยากรทั้งหมดที่มีแถวนี้มาสร้างเมืองใหม่ทั้งเมืองก็ยังคงใช้ไม่หมด
ด้านศักยภาพการท่องเที่ยว รัฐอานธรประเทศมีเมืองทิรูปาธี (Tirupathi) เป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์และเป็นจุดหมายแห่งการแสวงบุญ ได้รับวางกลยุทธ์ให้เป็นศูนย์กลางศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของรัฐ สำหรับผู้ที่ไม่ได้สนใจการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมเพียงอย่างเดียว ก็ยังมีเมืองท่าชายทะเลอีก 3 แห่งที่กำลังพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางความบันเทิงทันสมัยได้แก่ วิสาขปัทนัม (Visakhapatnam) วิสยนาการาม (Vizianagaram)และ ศรีขคุลาม (Srikakulam) ที่มีความสวยงามเตรียมส่องประกายในอนาคตอันใกล้ด้านฐานะจุดหมายท่องเที่ยวและศูนย์รวมความบันเทิงทางชายฝั่งตะวันออก
ในด้านการคมนาคมและโลจิสติกส์ รัฐอานธรประเทศมีถนนหนทางที่สะดวกสบาย มีทางหลวงสาย NH5 ที่เชื่อมต่อกับสนามบินเจนไน และขับรถได้ถึงเมืองกัลกัตตา มีท่าอากาศยานถึง 5 แห่งนอกเหนือจากสนามบิน ไฮเดอราบัด มีท่าเรือใหญ่ๆ ไม่ต่ำกว่า 9 แห่ง เฉพาะที่เมืองไวแซกก็มีท่าเรือขนาดใหญ่ถึง 3 แห่ง โดยท่าเรือวิสาขปัทนัมเป็นท่าเรือน้ำลึกที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอินเดีย ในแง่ของความสามารถในการรองรับการขนถ่ายสินค้า ในปี 2554-2555 มีการขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือนี้ 68 ล้านตัน และตั้งเพิ่มเป็น 110 ล้านตันในปี 2557 มีเส้นทางเดินเรือห่างจากท่าเรือสิงคโปร์ 1,573 กม. และห่างจากท่าเรือโคลัมโบ 849 กม. ซึ่งรัฐบาลอานธรประเทศมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่มูลค่ากว่า 1.39 แสนล้านรูปี เพื่อพัฒนาศักยภาพของท่าเรือพาณิชย์ มีการเพิ่มความลึกของอ่าวทั้งส่วนด้านนอกและด้านใน พัฒนาและสร้างท่าเทียบเรือเพิ่มให้สามารถรองรับชนิดและปริมาณสินค้าที่จะเพิ่มขึ้น เตรียมการพัฒนา container terminal ปรับปรุงทางรถไฟและถนนหนทางที่เชื่อมต่อกับท่าเรือตลอดจนท่าจอดรถขนส่ง พัฒนาโกดังสินค้า และห้องเย็น ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้วิสัยทัศน์ที่จะสร้างให้ท่าเรือของรัฐอานธรประเทศมีฐานะเป็น multi model logistic hub
นับเป็นความโชคดีที่เรามีเอกชนไทยรายใหญ่อย่างบริษัทในเครือซีพีนำทีมเปิดทางไปก่อน คงถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐและภาคเอกชนไทยจะจัดทัพตบเท้าเข้ากระทบไหล่นายจันทรบาบู ไนดู พร้อมพูดคุยถึงศักยภาพ ความเป็นไปได้ที่เอกชนไทยจะเข้าไปร่วมลงทุนในรัฐนี้ ซึ่งมีโอกาสอีกหลายด้าน หากเริ่มกรุยทางตั้งแต่เนิ่นๆ ย่อมส่งผลถึงความร่วมมือที่ยั่งยืนต่อไป
*************************
รายงานโดยนางสาวสุทธิมา เสืองาม
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน