รู้เขารู้เรา หัวกระไดไม่แห้งประสบการณ์จากผู้ประกอบการเชียงใหม่ในอินเดีย (ฐานเศรษฐกิจ คอลัมน์มองอินเดียใหม่ ตอนที่ 142)
เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบได้ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ( ททท.) สำนักงานมุมไบ และ ททท.เชียงใหม่ จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ที่เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย มีผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวจากเชียงใหม่บินลัดฟ้าเข้าร่วมกว่า 20 ราย นำทีมโดย ททท.เชียงใหม่ สำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) และสมาคมธุรกิจท่องเที่ยว จ.เชียงใหม่ ส่วนทางฝั่งอินเดียสนใจเข้าร่วมจับคู่ธุรกิจกว่า 150 ราย
กิจกรรมดังกล่าวประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในการประชาสัมพันธ์ จ.เชียงใหม่สู่ตลาดอินเดียและการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการเชียงใหม่-อินเดีย ซึ่งต้องขอขอบคุณภาคเอกชนเชียงใหม่ที่ให้ความสนใจและร่วมกันสร้างสีสันในงานดังกล่าว ตลอดจนบางกอกแอร์เวย์สและการบินไทยที่ได้สนับสนุนการจัดงาน เรียกได้ว่า งานนี้จัดเต็มทั้งฝั่งมุมไบและเชียงใหม่ เพียบพร้อมด้วยสีสันแห่งเมืองล้านนา ทั้งสถาปัตยกรรม การประดับตกแต่ง การแสดงศิลปวัฒนธรรม และการจำลองบรรยากาศกาดเมืองเหนือมาให้ชาวอินเดียได้สัมผัส
เหตุที่เป็น จ.เชียงใหม่เพราะชาวอินเดียนิยมไปเที่ยวกรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต และเมืองชายทะเลหรือเกาะต่าง ๆ ของไทยอยู่แล้ว แต่กลับไม่คุ้นเคยกับเมืองทิวเขาของไทยนัก อีกทั้ง จ.เชียงใหม่เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวเป้าหมายของ ททท.มุมไบ ที่กำลังผลักดันในตลาดอินเดีย
หลังจากจบงานไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ก็ได้รับแจ้งว่า สืบเนื่องจากกิจกรรมดังกล่าว มีผู้ประกอบการชาวอินเดียเริ่มติดต่อผู้ประกอบการที่ จ.เชียงใหม่แล้ว ผู้จัดก็ยิ้มหน้าบานหายเหนื่อยไปตามๆ กัน
ในช่วงการจัดงาน ผู้เขียนได้พูดคุยกับผู้ประกอบการจาก จ.เชียงใหม่บางราย สิ่งที่สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนคือ ความมุ่งมั่นไม่หวั่นเกรงที่จะก้าวออกจากอาณาเขตสบายอารมณ์ หรือ Comfort Zone สู่สิ่งท้าทายใหม่อย่างตลาดอินเดีย ซึ่งชื่อชั้นไม่เป็นที่สองรองใคร ทั้งด้านขนาด ศักยภาพ และความหิน แต่ก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าที่มาแห่งความกล้านี้คืออะไร
สองสัปดาห์ต่อมา ผู้เขียนได้ไปเยี่ยมเยียน จ.เชียงใหม่อีกครั้งเป็นการส่วนตัว และก็ได้มีโอกาสนั่งคุยกับคุณนพดล แดงทองดี จากโรงแรมปิงนครา ซึ่งได้เข้าร่วมกิจกรรมที่มุมไบ แต่อันนี้ต้องขอออกตัวว่า ไม่ได้นัดกันล่วงหน้าแต่อย่างใด เมื่อสบโอกาสจึงได้สอบถามถึง feedback จากการเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งก็น่ายินดีที่ได้ทราบว่า มีผู้ประกอบการอินเดียติดต่อไปเช่นกัน จากนั้นจึงยิงคำถามต่อเนื่องเพื่อคลายประเด็นคาใจ
คุณนพดลเล่าว่า ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวชาวอินเดียเดินทางมาท่องเที่ยวที่เชียงใหม่แม้จะจำนวนไม่มากนัก แต่ก็นับว่าเชียงใหม่คุ้นเคยกับนักท่องเที่ยวชาวอินเดียพอควร ส่วนใหญ่จะมาเป็นครอบครัว แต่ก็เคยมีระดับยกทีมเหมาโรงแรมใหญ่จัดงานแต่งงานให้เห็นบ้างเช่นกัน จึงเชื่อว่า ผู้ประกอบการใน จ.เชียงใหม่มีความพร้อมที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยวจากอินเดีย
"ความยืดหยุ่นและความเอาใจใส่ในรายละเอียดเป็นสิ่งสำคัญในการรับแขกต่างชาติต่างวัฒนธรรมที่มีความต้องการแตกต่างกันไป โดยจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ประเด็นละเอียดอ่อนสำหรับชาวอินเดียคือ เรื่องอาหาร ไม่ว่าจะเป็นรสชาติและการเรียกหาอาหารมังสวิรัติ" คุณนพดลเน้น ถึงตรงนี้ผู้เขียนจึงเข้าใจว่า ผู้ประกอบการเชียงใหม่มีประสบการณ์ ความเข้าใจและความพร้อม จึงกล้าที่จะรับสิ่งท้าทายใหม่
ในด้านการท่องเที่ยวถือได้ว่าเป็นช่วงโอกาสทองของไทยในตลาดอินเดียเพราะ ชื่อประเทศไทยติดตลาดอินเดียเหนียวหนึบ (ใน 2 ปีที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวอินเดียไปเยือนไทยถึงปีละกว่า 1 ล้านคน และไทยติดชาร์ตอันดับ 1 ประเทศที่ชาวอินเดียนิยมเดินทางไปท่องเที่ยว) และนอกจากกรุงเทพฯ แล้ว สถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมยังกระจุกตัวอยู่ริมหาด จึงมีพื้นที่ว่างในตลาดสำหรับจังหวัดอื่น ๆ อีกมากมาย อย่างไรก็ดี เมื่อได้ลูกค้าแล้ว สิ่งที่ยากไม่แพ้กันคือ การต้อนรับ ดูแลและรักษาแขก เจ้าบ้านต้องเข้าใจผู้มาเยือน
ชาวอินเดียเกินกว่าครึ่งรับประทานอาหารมังสวิรัติ (ผลิตภัณฑ์นมได้ แต่ไม่ไข่) หรืออาหารเจ (คล้าย ๆ อาหารเจบ้านเรา แต่ไม่รวมผักที่อยู่ใต้ดิน) และแม้จะชื่นชอบอาหารไทย แต่ก็มีความคิดเกี่ยวกับรสชาติหน้าตาอาหารไทยตามประสบการณ์ของตน ยากจะคาดเดา และยังสะดวกใจที่จะรับประทานอาหารอินเดียมากกว่า ผลการสำรวจของ TripAdvisor ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอินเดียเมื่อ 18 ก.ย. 2557 ระบุว่า ระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวชาวอินเดียส่วนใหญ่ยังนิยมอาหารอินเดียที่สุด ตามด้วยอาหารอิตาลี จีนและอาหารฝรั่งทั่วๆ ไป
ชาวอินเดียชอบสังสรรค์และสนุกกับการกินดื่ม ไม่ต่างจากคนไทย และแน่นอนเพลง Bollywood ย่อมสร้างดีกรีความคึกคักได้มากกว่า เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2557 มี นสพ.อินเดียลงข่าวว่า ชาวอินเดียหันไปเที่ยวที่คาซัคสถานมากขึ้น แม้แต่ตลาด MICE โดยเหตุผลประกอบหนึ่งคือ มีสถานบันเทิงเปิดเพลง Bollywood
ชาวอินเดียชอบการแสดงที่ตื่นเต้นเร้าใจแปลกใหม่ เช่น มวยไทย การตีกลองสะบัดชัย หรือคาบาเร่ต์ มากกว่าการรำนาฏศิลป์ที่มีความคล้ายคลึงกับของอินเดียอยู่แล้ว และชอบสีสันที่สดใส
ทิ้งท้ายข้อสำคัญ ตลาดอินเดียเป็นตลาดที่ไวต่อราคามาก ทั้งก่อนตัดสินใจและเมื่อจ่ายแล้วต้องได้รับคุ้มหรือเกินคุ้ม ซึ่งก็รวมถึงบริการทั่วไปและบริการเสริมพิเศษ (complimentary gifts/services) ทั้งหลาย
โดย สรยศ กิจภากรณ์
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,985 วันที่ 21 - 24 กันยายน พ.ศ. 2557