รัฐกรณาฏกะ เสือเศรษฐกิจซ่อนเล็บ ตอน 1
รัฐกรณาฏกะเป็นรัฐที่มีบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนอยู่เป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุที่รัฐนี้มีนโยบายสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรมก่อนรัฐอื่นๆ ในประเทศอินเดีย
ย้อนหลังไปเมื่อปี 2523 ซึ่งเป็นปีที่บริษัท Texas Instruments ผู้ออกแบบและผลิตเซมิคอนดักเตอร์จากสหรัฐอเมริกาเข้ามาตั้งฐานการผลิตที่เมืองบังคาลอร์ จากนั้นไม่นาน ฉายา “Silicon Valley” ของอินเดียก็เริ่มเป็นที่รู้จักกว้างขวาง ส่งผลให้มีบริษัทชั้นนำในแวดวงเทคโนโลยีเทคโนโลยีสารสนเทศเกือบ 2 พันแห่ง มารวมตัวกันตั้งฐานการผลิตอยู่ที่รัฐกรณาฏกะแห่งนี้
สำหรับนักลงทุนไทย ได้มีโครงการลงทุนในรัฐกรณาฏะหลายโครงการ เช่น เมื่อปี 2540 บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ขยายฐานจากรัฐทมิฬนาฑูเข้าไปตั้งฟาร์มเลี้ยงไก่และโรงฟักไก่ที่เมืองบังคาลอร์ ตามด้วยสายการบินไทย ที่ได้มาเปิดเส้นทางบินกรุงเทพฯ สู่เมืองบังคาลอร์ จากนั้น เมื่อปี 2554 บริษัท พฤกษา ดีเวลล็อปเม้นต์ จำกัด ก็ได้เข้าไปลงทุนทำโครงการบ้านจัดสรร Pruksa Silvana มูลค่าโครงการกว่า 1,700 ล้านบาท และตามมาด้วยอิตาเลียน-ไทย ดีเวลล็อปเม้นต์ ได้ทำโครงการ Metro Rail ในเมืองบังกาลอร์
รัฐกรณาฏกะเหมือนเสือเศรษฐกิจซ่อนเล็บ ตรงที่มีการดำเนินนโยบายที่ไม่หวือหวา แต่หมัดหนัก และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง รายได้หลักของรัฐอันดับต้นๆ ยังคงมาจากภาคการเกษตร ด้วยอาณาเขตของรัฐ 191,791 ตารางกิโลเมตร มีจำนวนพื้นที่ทำการเกษตรถึงร้อยละ 64.6 หรือราวๆ 123,100 ตารางกิโลเมตร รัฐนี้จึงเป็นแหล่งผลิตพืชเศรษฐกิจหลากหลาย ตั้งแต่ ข้าว ไปจนถึงธัญพืชบำรุงสุขภาพประเภทต่างๆ ที่เราอาจเรียกว่าถั่วแขกหลากชนิด ซึ่งคนอินเดียนิยมนำมาหุงกับข้าว หรือทำแป้งโรตี ช่วยเสริมคุณค่าโปรตีนจากพืช เนื่องจากประชากรกว่าค่อนประเทศรับประทานมังสวิรัติ
นอกจากนี้ ยังมีการปลูกข้าวโพดหลากสีเมล็ดใหญ่ มะพร้าว มะม่วงหิมพานต์ หมากพลู ซึ่งยังเป็นที่นิยมอย่างมากในอินเดีย ลูกกระวาน พริก ฝ้าย อ้อย ยาสูบ กาแฟ รวมถึงไม้ดอกด้วย โดยรัฐกรณาฏกะได้ชื่อว่าเป็นรัฐที่ปลูกไม้ดอกมากเป็นอันดับสองของอินเดียโดยมีผลผลิตปีละ 700 ตัน มีมูลค่าถึง 500 ล้านรูปี
รัฐกรณาฏกะมีชื่อเสียงด้านการผลิตไหมดิบ ซึ่งนำมาทอเป็นผ้าไหมส่าหรีราคาแพง โดยเมือง Doddaballapura อยู่ทางตอนเหนือของรัฐ ได้ชื่อว่าเป็น Silk City ขณะนี้รัฐบาลของรัฐกรณาฏกะวางแผนยกระดับและขยายพื้นที่ Silk City ไปที่เมือง Muddenahalli ซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน ด้วยงบประมาณ 700 ล้านรูปี
มาดูภาคอุตสาหกรรมกันบ้าง ด้วยที่ตั้งของรัฐอยู่กลางประเทศ บนที่ราบสูงเดคคาน ส่งผลให้รัฐกรณาฏกะมีทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย อุดมไปด้วยสายแร่ทองคำ เหล็ก ควอทซ์ หินปูน แมงกานีส ไคยาไนท์ ที่ใช้กับอุตสาหกรรมเซรามิค เครื่องเคลือบดินเผา การผลิตแก้ว และอุตสาหกรรมถลุงโลหะหินแร่บอกไซต์ ซึ่งเป็นสินแร่อะลูมิเนียม
รัฐนี้จึงมีบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมเหมืองแร่และการถลุงมาตั้งอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย อาทิ บริษัท Hutti Gold Mines Limited ซึ่งเป็นรายเดียวที่ได้รับสัมปทานทองคำมาตั้งแต่มีการเปิดเหมืองทองคำ Kolar โรงงานและอุตสาหกรรมเหมืองแร่ได้ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานจำนวนไม่น้อยในรัฐนี้
ในด้านไอทีและเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร เป็นที่รู้กันว่ารัฐกรณาฏกะนำหน้าเพื่อนหลายก้าว นอกจากจะมี “Silicon Valley” ในเมืองบังคาลอร์แล้วยังมีศูนย์กลางอุตสาหกรรมไอทีแห่งใหม่ที่เมืองเทวนาฮัลลี เชิงเขานันทิด้วย โครงการนี้ ชื่อว่า BIAL IT Investment Region ซึ่งนับเป็นอภิมหาเมกะโปรเจ็คของรัฐกรณาฏกะ
และที่เฟื่องฟูตามมาติดๆ คือ อุตสากรรมด้านไบโอเทคโนโลยี แค่เมืองบังคาลอร์เมืองเดียว ก็ดึงดูดบริษัทด้านไบโอเทคโนโลยีถึง158 บริษัท จากทั่วอินเดียซึ่งมีอยู่รวม 320 บริษัท ให้มาตั้งโรงงานกันที่นี่ ทุกวันนี้ มีนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ ด้านไบโอเทคโนโลยีกว่า 6,800 คน มารวมกันที่รัฐกรณาฏกะรัฐเดียว
ตัวเลข GDP ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนรายได้ประชากรต่อหัวที่เติบโตขึ้นถึงร้อยละ 43.9 ในทศวรรษที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นถึงโอกาสการลงทุน และการดำเนินนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่เป็นรูปธรรมของรัฐ
ในปี 2556 รัฐกรณาฏกะมีรายได้มวลรวมของรัฐ (GSDP) รวม 2.9 ล้านล้านรูปี และคาดว่ารายได้ประชากรต่อบุคคลในปี 2556-2557 จะอยู่ที่ 86,788 รูปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากในปี 2555-2556 ซึ่งอยู่ที่ 77,015 รูปี
ในตอนต่อไป เราจะมาดูภาพรวมของ “Silicon Valley” และนโยบายที่สนับสนุนรัฐกรณาฏกะ ให้เป็นรัฐกรณาฏกะเป็นรัฐที่ดึงดูดการลงทุนที่สุดรัฐหนึ่งของอินเดีย
************************
รายงานโดยนางสาวสุทธิมา เสืองาม
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน