กันยายน 2557: บทพิสูจน์นายกฯ อินเดีย (จากฐานเศรษฐกิจ หน้า 10 คอลัมน์มองอินเดียใหม่)
ท่านผู้อ่านที่ติดตามคอลัมน์นี้คงจำกันได้ว่า พรรคบีเจพีของนายนเรนทรา โมดีเพิ่งชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 อย่างถล่มทลาย และทำให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลด้วยเสียงข้างมาก ทั้งนี้ ก็เพราะคำสัญญาว่าจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงประเทศให้เติบโตก้าวหน้า ตามโมเดลของรัฐคุชราต ซึ่งนายกรัฐมนตรีโมดีเคยเป็นมุขมนตรีอยู่ถึงกว่า 10 ปี
และในที่สุด โอกาสนั้นก็มาถึงในเดือนกันยายน 2557 ที่เพิ่งผ่านไปนี้ เมื่อนายกรัฐมนตรีโมดีมีโอกาสไปเยือน 2 ประเทศสำคัญอย่างเป็นทางการ ได้แก่ ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา และได้ให้การต้อนรับนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ที่มาเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนเดียวกัน ถึงแม้ว่าความสัมพันธ์ของอินเดียกับทั้ง 3 ประเทศใหญ่อยู่ในระดับที่ต่างกัน กระนั้นก็ดี ความต้องการของอินเดียจากทั้ง 3 ประเทศนี้ และผลลัพธ์จากการเยือนก็เป็นไปตามความคาดหมายในแนวทางเดียวกัน นั่นก็คือ อินเดียจะได้รับเม็ดเงินลงทุน โดยเฉพาะในสาขาโครงสร้างพื้นฐาน ที่อินเดียมีความต้องการมากที่สุด เพื่อการพัฒนาประเทศให้เติบโตก้าวหน้าตามที่สัญญาไว้ระหว่างการหาเสียง รวมถึงประสบการณ์และเทคโนโลยี ที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเม็ดเงินลงทุน ต่อโครงการรณรงค์ต่างๆ ของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีโมดี ไม่ว่าจะเป็นโครงการ Smart cities รถไฟความเร็วสูง หรือแม้แต่โครงการระเบียงเศรษฐกิจเชื่อมโยงเมืองสำคัญต่างๆ ในอินเดีย ซึ่งริเริ่มไว้ตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่แล้ว
เริ่มจากการเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการระหว่าง 30 สิงหาคม - 3 กันยายน 2557 ซึ่งเป็นการเยือนที่นายกรัฐมนตรีโมดีรู้สึกเป็นกันเองมากที่สุด เห็นได้จากการที่นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะเดินทางไปต้อนรับนายกรัฐมนตรีโมดีถึงเมืองเกียวโต และทั้งสองได้สวมกอดอันอย่างอบอุ่น แสดงให้เห็นถึงความใกล้ชิดของผู้นำทั้งสอง หลังนายกรัฐมนตรีโมดีเคยเดินทางเยือนญี่ปุ่นและพบปะกับนายกรัฐมนตรีอาเบะถึง 2 ครั้งในปี 2550 และ 2555 สมัยยังเป็นมุขมนตรีของรัฐคุตราช นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรีโมดียังเป็นหนึ่งใน 3 คนที่นายกรัฐมนตรีอาเบะติดตามความเคลื่อนไหวบน Twitter ด้วย
ผลการเยือนก็สะท้อนถึงความใกล้ชิดของผู้นำทั้งสอง โดยฝ่ายญี่ปุ่นตกลงจะเพิ่มการลงทุนในอินเดียและจำนวนบริษัทญี่ปุ่นในอินเดียอีก 1 เท่าตัวภายในเวลา 5 ปี และจะให้วงเงินกู้ถึง 3.5 ล้านล้านเยน (35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) กับโครงการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐและเอกชนในอินเดีย รวมถึงโครงการเชื่อมโยงด้านคมนาคม Smart cities และการทำความสะอาดแม่น้ำคงคา ภายในระยะเวลา 5 ปี นอกจากนั้น จะให้วงเงินกู้ 50 พันล้านเยน (500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) กับ Indian Infrastructure Finance Company Limited (IIFCL) สำหรับโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ-เอกชน (PPP) ในอินเดีย และจะให้วงเงินกู้อีก 15.6 พันล้านเยน (156 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) สำหรับโครงการ Guwahati Sewerage ในรัฐอัสสัมด้วย
โดยในส่วนของอินเดียก็ได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจในด้านภาษี การบริหารจัดการ และนโยบายด้านการเงิน ให้เอื้อต่อการลงทุนมากขึ้น และในงานพบปะกับภาคเอกชนญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรีโมดีได้กล่าวว่า อินเดียมีความพร้อมต้อนรับการลงทุนเนื่องจากมี 3 “Ds” ได้แก่ Democracy Demographic และ Demand และการลงทุนจากญี่ปุ่นจะได้รับการต้อนรับด้วย “Red carpet” ไม่ใช่ “Red tape” และกล่าวด้วยว่า จะจัดตั้งทีมพิเศษภายในสำนักงานนายกรัฐมนตรี เพื่ออำนวยความสะดวกการลงทุนจากญี่ปุ่น โดยให้ฝ่ายญี่ปุ่นแต่งตั้งสมาชิก 2 คนในทีมดังกล่าวด้วย
นอกจากนั้น ฝ่ายญี่ปุ่นยังตกลงจะสนับสนุนการปรับปรุงเมืองพาราณสี (เมืองที่นายกรัฐมนตรีโมดีได้รับชัยชนะในการสมัครรับเลือกตั้ง) ในรูปแบบของเมืองเกียวโต และสนับสนุนโครงการรถไฟความเร็วสูงแบบ Shinkansen เส้นทางเมืองอาเมดาบัด (อยู่ในรัฐคุตราชซึ่งนายกรัฐมนตรีโมดีเคยเป็นมุขมนตรี) - มุมไบ ทั้งด้านเงินทุน เทคนิค และการบริหารจัดการ
สำหรับโครงการที่ญี่ปุ่นมีความร่วมมืออยู่แล้ว อาทิ โครงการ Western Dedicated Freight Corridor (DFC) โครงการ Delhi-Mumbai Industrial Corridor (DMIC) และโครงการ Chennai-Bengaluru Industrial Corridor (CBIC) ทั้ง 2 ฝ่ายตกลงจะเร่งรัดให้มีความคืบหน้ามากขึ้น โดยฝ่ายอินเดียได้ชักชวนการลงทุนจากญี่ปุ่นเพื่อพัฒนา smart cities และนิคมอุตสาหกรรมบนระเบียงเศรษฐกิจดังกล่าวด้วย โดยในส่วนของโครงการ CBIC มีแผนการพัฒนา 3 smart cities บนระเบียงเศรษฐกิจ ได้แก่ ที่เมือง Ponneri ในรัฐทมิฬนาฑู เมือง Krishnapatnam ในรัฐอานธรประเทศ และเมือง Tumkur ในรัฐกรณาฏกะ
คาดกันว่า ชาวอินเดียจะได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่จากการเยือนญี่ปุ่นของนายกรัฐมนตรีโมดีในครั้งนี้ โดยเฉพาะเงินกู้จากญี่ปุ่นซึ่งเป็นส่วนสำคัญมากและเป็นประโยชน์ต่อโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในอินเดีย ซึ่งยังมีความต้องการเงินลงทุนกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจะส่งผลในระยะยาวต่อบรรยากาศการลงทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดีย โดยในส่วนของไทย ที่ผ่านมา ฝ่ายอินเดียได้ชักชวนให้ภาคเอกชนไทยพิจารณาเข้าร่วมในโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของอินเดียหลายครั้ง โดยเฉพาะในโครงการ DMIC และโครงการ CBIC ภาคเอกชนไทยจึงน่าจะได้ประโยชน์จากการเข้าไปมีส่วนร่วม โดยเฉพาะเมื่อมีการสนับสนุนด้านเงินลงทุนและเทคโนโลยีจากญี่ปุ่น
โปรดติดตามผลการเยือนสหรัฐฯ ของนายกรัฐมนตรีโมดี และการเยือนอินเดียของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงในตอนต่อไป ขอบคุณค่ะ
โดย พจมาศ แสงเทียน
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,991 วันที่ 12 - 15 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ตอนที่ 144