รัฐกรณาฏกะ เสือเศรษฐกิจซ่อนเล็บ ตอนที่ 2
ที่กล่าวว่า รัฐกรณาฏกะมีบุคลิกแบบเสือซ่อนเล็บ ก็เพราะว่า ถ้าเปรียบเทียบกับรัฐทางอินเดียตอนใต้ด้วยกันแล้ว รัฐกรณาฏกะแทบไม่มีอะไรที่ฉูดฉาดในการปรากฏตัวต่อสายตาชาวโลก ไม่เหมือนรัฐมหาราษฏระที่มีนครมุมไบและแสงสีแห่งบอลลีวูด มีเศรษฐีขับรถสปอร์ตเฟี้ยวฟ้าว รัฐทมิฬนาฑูก็ดูเหมือนเป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ไฟแรงที่พร้อมจะแซงในทุกฝีก้าว ขณะที่รัฐอานธรประเทศเหมือน นักลงทุนมาดสุขุมที่มองการณ์ไกล ส่วนรัฐกรณาฏกะจะเปรียบไปก็เหมือนนักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยี ที่สนใจดนตรีคลาสสิกแบบพื้นเมือง แต่จริงๆ แล้วพร้อมจะกางกงเล็บแห่งเสือเศรษฐกิจได้ทุกเมื่อ
คนเก่งไม่อวดฉันใด รัฐกรณาฏกะก็คล้ายจะเป็นแบบนั้น ล้ำหน้าก่อนใครในตำแหน่ง “Silicon Valley” ของอินเดีย ที่ดึงดูดบริษัทไอทีระดับโลกให้มาตั้งฐานการผลิตราวตั้งแต่ปี 2533
ในยุคนั้นยังไม่มี Facebook หรือ social media ดังนั้น คำว่า “Silicon Valley” ซึ่งมีต้นกำเนิดอยู่ที่ซานตา คลาร่า แวลลีย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา จึงเป็นสมญานามที่สื่อได้ถึงอุตสาหกรรมไอทีได้อย่างชาญฉลาด
ไอเดียของคำว่า “Silicon Valley” ของอินเดีย เริ่มมาจากผู้บริหารของ Karnataka State Electronics Development Corporation ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของรัฐบาล หาวิธีรับมือกับปัญหาไฟฟ้าไม่พอจ่ายในรัฐกรณาฏกะ จึงเกิดเป็นแผนการสร้าง Electronic City ขึ้น
ตั้งแต่ปี 2513 หน่วยงานดังกล่าวได้ซื้อที่ดินขนาด 1.36 ตารางกิโลเมตร ห่างจากเมืองบังคาลอร์ประมาณ 18 กิโลเมตร จนกระทั่งถึงยุคดอทคอมบูมในปี 2543 บทความชื่อ "Can Bangalore become India's Silicon Valley" ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสารด้านคอมพิวเตอร์ชื่อ PLUS ได้จุดประกายแนวคิดนี้ นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
แทบไม่น่าเชื่อว่า ท่ามกลางชนบทที่ยากไร้ น้ำไฟไม่พอเพียง จะเกิดสถานที่ซึ่งเป็นศูนย์รวมของนักซอฟต์แวร์ระดับโลก จนถึงปัจจุบันนี้มีบริษัทผลิตซอฟต์แวร์และไอทีระดับแถวหน้ากว่า 2,000 บริษัท เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่ “Silicon Valley” เมืองบังคาลอร์ รวมทั้ง 2 ยักษ์ใหญ่สัญชาติอินเดีย ได้แก่ Infosys และ Wipro
จากข้อมูลการลงทุนจากต่างประเทศระบุว่า ในปี .2549-2550 รัฐกรณาฏกะมีเม็ดเงินหมุนเวียนจากอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และไอที ถึง 11.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ความสำเร็จของ “ซิลิกอน วาลเลย์” ก่อให้เกิดโครงการต่อมาชื่อว่า Bangalore -BIAL IT Investment Region ซึ่งเป็นอภิมหาโปรเจ็คระดับพระกาฬ ซึ่งทำให้มีการเวนคือพื้นที่ชาวนาชาวไร่กว่า 50 ตารางกิโลเมตร แถบเชิงเขานันทิ ห่างจากสนามบินนานาชาติบังกาลูรู (ชื่อปัจจุบันของบังคาลอร์) ไปทางทิศเหนือราว 15 กิโลเมตร
โครงการนี้ถือเป็นโครงการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมพิเศษที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ของรัฐกรณาฏกะ ซึ่งใช้งบประมาณการลงทุนกว่า 22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่า จะดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลกโดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มาตั้งฐานการผลิตที่นี่ และโครงการนี้จะส่งผลต่อการจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อมภายในรัฐกรณาฏกะราว 4 ล้านคน
นอกจากโครงการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมพิเศษเพื่อดึงดูดอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และไอทีเข้าบ้านแล้ว รัฐกรณาฏจะยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานสำคัญระดับชาติ และเป็นหัวหอกด้านเทคโนโลยี พลังงาน และอวกาศด้วย เช่น Hindustan Aeronautics Limited ซึ่งเป็นผู้นำด้านการเทคโนโลยีอากาศยานที่ทันสมัย ผลิตเครื่องบินให้กับกองทัพอากาศอินเดีย National Aerospace Laboratories ซึ่งใหญ่เป็นอันดับสองในด้านเทคโนโลยีการผลิตอากาศยาน Bharat Heavy Electricals Limited ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญของอินเดียที่ผลิตกระแสไฟฟ้า Indian Telephone Industries Limited ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐที่ดูแลการสื่อสารโทรคมนาคม Bharat Earth Movers Limited หน่วยงานเอกชนที่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเครื่องมือขุดเจาะและเหมืองแร่
นอกจากนี้ ยังมีศูนย์วิจัยทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ หลายแห่ง ได้แก่ Indian Space Research Organization ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงอวกาศ ซึ่งดูแลเทคโนโลยีทางอวกาศทั้งหมด เปรียบได้กับนาซาของอินเดีย ซึ่งควบคุมดูแลตั้งแต่ดาวเทียม สัญญาณเรดาห์ ไปจนถึงการส่งจรวดออกไปสำรวจดวงจันทร์ นอกจากนี้ ยังมีองค์กรด้านพลังงาน และปิโตรเคมีระดับประเทศอยู่ในรัฐนี้อีกหลายหน่วยงาน
บุคลิกของคนเก่งไม่โอ้อวด แถมยังมีรสนิยมระดับคลาสสิก น่าจะมาจากรากฐานของสังคมก่อนยุคล่าอาณานิคม ดินแดนแถบรัฐกรณาฏกะปกครองโดยมหาราชาจากเมืองไมซอร์ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อรัฐไมซอร์ ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นรัฐกรณาฏกะในปัจจุบัน
*****************************
รายงานโดยนางสาวสุทธิมา เสืองาม
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน