กันยายน 2557: บทพิสูจน์ของนายกฯอินเดีย (2) (จาก นสพ. ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 19-22 ต.ค. 2557 หน้า 10)
ต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้ว งานใหญ่ชิ้นที่ 2 ในเดือนกันยายน 2557 ของนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ก็คือการต้อนรับการมาเยือนของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน ระหว่างวันที่ 17-19 กันยายน 2557 โดยนายกฯ โมดีได้เดินทางไปต้อนรับประธานาธิบดีจีนถึงรัฐคุชราต รัฐที่นายกฯ โมดีเคยเป็นมุขมนตรีถึงกว่า 10 ปีก่อนดำรงตำแหน่งนายกฯ ซึ่งถือเป็นการแหวกแนวการต้อนรับแขกต่างประเทศอย่างมาก เพราะตามปกตินายกฯ จะคอยต้อนรับอยู่ที่กรุงนิวเดลี เมืองหลวงของประเทศ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญที่นายกฯ โมดีให้กับการมาเยือนของประธานาธิบดีจีนครั้งนี้อย่างมากเป็นพิเศษ
ผลการเยือนที่สำคัญ ได้แก่ จีนประกาศจะจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม 2 แห่งที่รัฐคุตราช และที่รัฐมหาราษฏะ ใกล้เมืองปูเน่ บนเนื้อที่ 1,250 เอเคอร์ และทั้ง 2 ฝ่ายได้ลงนามแผนพัฒนาด้านการค้าและเศรษฐกิจ 5 ปี เพื่อเพิ่มการลงทุนในอินเดียอีก 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 5 ปีจากนี้ ในหลากหลายสาขาอุตสาหกรรม และในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของอินเดีย นอกจากนี้ มีการลงนามแผนปฏิบัติการเพื่อจัดทำความร่วมมือด้านการรถไฟ เพื่อยกระดับระบบการรถไฟของอินเดีย รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างรถไฟความเร็วสูงในอินเดีย ทั้งนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายยังอยู่ระหว่างการร่วมกันศึกษาเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจในกรอบบังกลาเทศ จีน อินเดีย และเมียนมาร์ และความร่วมมือด้านพลังงานสะอาด อาทิ พลังงานนิวเคลียร์ด้วย
สำหรับงานใหญ่ชิ้นสุดท้ายของเดือนกันยายนนี้ คือการเดินทางไปเยือนสหรัฐอเมริกาของนายกฯ โมดี ระหว่างวันที่ 26 - 30 กันยายน 2557 โดยได้เดินทางไปยังนครนิวยอร์กก่อน เพื่อร่วมกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติสมัยที่ 69 ต่อจากนั้น ได้เดินทางไปยังกรุงวอชิงตัน เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดในระดับผู้นำ ซึ่งระหว่างการเยือนสหรัฐฯ ในครั้งนี้ นายกฯ โมดีได้พบปะหารือกับผู้คนหลายระดับ ตั้งแต่ผู้นำประเทศอย่างประธานาธิบดีบารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดีคลินตันและภรรยา ผู้นำศรีลังกา บังกลาเทศ เนปาล และอิสราเอล ผู้ว่าการรัฐ และ ส.ส. หลายคน ประธานบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ อาทิ โบอิ้ง ไอบีเอ็ม จีอี ซิตี้กรุ๊ป และเป๊ปซี่ ไปจนถึงชาวอินเดียที่ทำงานอยู่ในสหรัฐฯ ชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดีย และนักวิชาการ
โดยที่มูลค่าการค้าระหว่างสหรัฐฯ และอินเดียเพิ่มขึ้น 5 เท่าตัวระหว่างปี 2553 จนถึงปัจจุบัน ทั้ง 2 ฝ่ายจึงมุ่งที่ขยายมูลค่าการค้าระหว่างกันอีก 5 เท่าตัว สำหรับด้านการลงทุน ได้จัดตั้ง "Indo-U.S. Investment Initiative" โดยเน้นการพัฒนาตลาดทุนและให้สินเชื่อโครงการโครงสร้างพื้นฐานในอินเดีย และจัดตั้ง "Infrastructure Platform" เพื่อส่งเสริมการลงทุนจากสหรัฐฯ ในโครงการโครงสร้างพื้นฐานในอินเดีย นอกจากนั้น สหรัฐฯ ตอบรับจะเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนา "smart cities" ที่เมือง Ajmer รัฐราชาสถาน เมือง Vishakhapatnam รัฐอานธรประเทศ และเมือง Allahabad รัฐอุตตรประเทศ
สหรัฐฯ ตกลงจะเป็นหุ้นส่วนในโครงการปรับปรุงการเข้าถึงน้ำสะอาดและระบบสาธารณูปโภค รวมถึงพันธกิจการพัฒนาเมือง 500 แห่งของนายกฯ โมดี และโครงการรณรงค์ให้อินเดียมีความสะอาด (Clean India) นอกจากนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายมุ่งมั่นจะทำงานร่วมกัน เพื่อส่งเสริมบรรยากาศการดำเนินธุรกิจในอินเดียและสหรัฐฯ และได้จัดตั้งคณะทำงานระดับสูงด้านทรัพย์สินทางปัญญาด้วย
อินเดียและสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านพลังงาน โดยมีความตกลงด้านการใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างสันติ และประกาศความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงทางพลังงาน พลังงานสะอาด และการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ
ทั้ง 2 ฝ่ายให้ความสำคัญกับความร่วมมือในสาขาเทคโนโลยีขั้นสูง อวกาศ และสุขภาพ โดยได้จัดทำความตกลงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฉบับใหม่ เพื่อขยายความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสร้างสรรค์ และสหรัฐฯ ตกลงจะเป็นหุ้นส่วนในโครงการดิจิตอลอินเดีย นอกจากนั้น ทั้ง 2 ฝ่ายแสดงความยินดีกับความสำเร็จในการส่งยานอวกาศเข้าสู่วงโคจรของดาวอังคารของอีกฝ่ายหนึ่ง และได้จัดตั้งคณะทำงานร่วม NASA-ISROMars ภายใต้คณะทำงานด้านอวกาศด้วย สำหรับความร่วมมือด้านสุขภาพ ทั้ง 2 ฝ่ายจะร่วมมือกันต่อต้านและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลา และจะเริ่มระยะต่อไปของความร่วมมือด้านวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก มาลาเรีย และวัณโรค
ในระดับภูมิภาค อินเดียและสหรัฐฯ จะเร่งรัดโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านการเชื่อมโยงและการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ เพื่อการรวมตัวทางเศรษฐกิจ ด้วยการเชื่อมโยงเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียกลาง ผ่านทาง New Silk Road และระเบียงเศรษฐกิจอินเดีย-แปซิฟิก เพื่อส่งเสริมการขนส่งสินค้าและพลังงานระหว่างกัน
ท่านผู้อ่านคงจะเห็นภาพแล้วว่า เดือนกันยายนที่เพิ่งผ่านพ้นไปนี้ มีความสำคัญเพียงใดกับอนาคตของชาวอินเดียทั้งประเทศ โดยเฉพาะเมื่อหลายฝ่ายคาดว่า ในอีก 6 ปีข้างหน้า (2563) อินเดียจะมีประชากรในวัยทำงานที่มีอายุเฉลี่ยต่ำที่สุดในโลก (29 ปี) จึงต้องมีการเตรียมพร้อมรองรับเยาวชนรุ่นใหม่ที่กำลังก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน และผลการเยือนทั้งสามที่กล่าวถึงข้างต้นก็พิสูจน์แล้วว่า นายกโมดีฯ ได้เดินหน้านำทั้งเม็ดเงินลงทุน เทคโนโลยี และประสบการณ์จากทั้ง 3 ประเทศยักษ์ใหญ่ของโลกมาสู่อินเดียได้สำเร็จ การพัฒนาเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในอินเดียที่จะเกิดขึ้นในอีก 5 ปีต่อจากนี้ จึงเป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง
สำหรับภาคเอกชนไทยที่กำลังคิดจะเข้าไปบุกตลาดอินเดีย ก็น่าจะเห็นแนวทางที่ชัดเจนและสดใสมากขึ้น อย่างน้อยก็แน่ใจได้ว่ารัฐบาลภายใต้นายกฯ โมดีมีความยินดีต้อนรับการลงทุนจากต่างชาติ ด้วยความพยายามที่จะปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน และเปลี่ยนแปลงแนวนโยบายต่างๆ ให้การค้าและการลงทุนในอินเดียมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น
โดย พจมาศ แสงเทียน
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,993 วันที่ 19 - 22 ตุลาคม พ.ศ. 2557