รู้จักรัฐมัธยประเทศ 'หัวใจของอินเดีย'
ท่านผู้โดยสารโปรดรัดเข็มขัดประจำที่นั่ง สายการบิน "มองอินเดียใหม่" วันนี้จะนำท่านเดินทางไปสู่ รัฐมัธยประเทศ รัฐที่ตั้งอยู่ตรงกลางของประเทศอินเดียพอดิบพอดีจนได้ชื่อเล่นว่า "หัวใจของอินเดีย" มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของอินเดีย มีประชากรถึง 75 ล้านคน เป็นรัฐที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของอินเดีย แม้จะไม่ติดทะเลแต่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ และเป็นรัฐที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอันดับท็อปของอินเดีย โดยเมื่อปีที่แล้วจีดีพีของรัฐโตถึง 11.1%
ปัจจัยหลักที่ทำให้รัฐมัธยประเทศมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดก็คือ การที่รัฐบาลของรัฐมัธยประเทศมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง ภายใต้การบริหารของมุขมนตรีหนุ่มไฟแรงอย่างนายศิวราช สิงห์ ชอว์ฮาน (Shivraj Singh Chouhan) สังกัดพรรคบีเจพีเช่นเดียวกับนายนเรนทร โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย
รัฐบาลของนายชอว์ฮานเน้นการลดขั้นตอนกฎระเบียบที่ยุ่งยากในการตั้งโรงงานและการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกทุกขั้นตอนในการลงทุนในรัฐ เรียกได้ว่า ไม่ใช่แค่ Single Window Service แต่เป็น Single Door Service เลยทีเดียว (เดินเข้าทางประตูย่อมง่ายกว่าปีนเข้าทางหน้าต่างจริงมั้ยคะ) แถมยังมีเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลอีกในหลายสาขา
นอกจากนี้แล้ว ที่ตั้งของรัฐมัธยประเทศที่อยู่ตรงศูนย์กลางของประเทศอินเดียทำให้ได้เปรียบอยู่ไม่น้อยในแง่ของการขนส่งและกระจายสินค้าไปทั่วอินเดีย และยังมีระเบียงอุตสาหกรรม Delhi-Mumbai Industrial Corridor ตัดผ่านรัฐ ซึ่งนายชอว์ฮานมองการณ์ไกลได้วางแผนระเบียงอุตสาหกรรมภายในรัฐระหว่างเมืองโภปาล ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐ และเมืองอินดอร์เมืองหลวงทางเศรษฐกิจของรัฐไว้อีกระเบียงหนึ่งด้วย (Bhopal – Indore Super Corridor - BISCO) รัฐบาลสนับสนุนให้มีการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และสร้างโกดังเก็บสินค้าโดยเฉพาะสินค้าเกษตรเพื่อแก้ปัญหาสินค้าเกษตรเน่าเสีย เนื่องจากเป็นรัฐที่ผลิตสินค้าเกษตรหลายประเภทได้เป็นอันดับที่ 1 ของอินเดีย อย่างเช่น กระเทียมและถั่วเหลือง ข้าวสาลีที่รัฐมัธยประเทศก็เป็นข้าวสาลีที่มีคุณภาพดี และครึ่งหนึ่งของข้าวบาสมาตีที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ และแคนาดาก็มาจากรัฐนี้
ปัจจัยอีกประการที่ทำให้มัธยประเทศเจริญเติบโตเร็วก็หนีไม่พ้นเรื่องระบบโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่ได้มาตรฐาน มีระบบชลประทานที่สามารถจัดสรรน้ำได้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอและยังเป็นหนึ่งในรัฐอินเดียอันดับต้นๆ ที่เป็นผู้นำด้านพลังงานไฟฟ้าทดแทน โดยล่าสุดบริษัท Welspun กำลังก่อสร้างโรงงานพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย และใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ในรัฐมัธยประเทศ มีถนนหนทางที่อยู่ในสภาพดีถึง 1.5 แสนกิโลเมตร และมีแปลงที่ดินราคาย่อมเยาพร้อมสำหรับตั้งโรงงานถึง 2 หมื่นเฮกเตอร์
ด้านแรงงาน มัธยประเทศมีประชากร 59 % อยู่ในวัยทำงาน ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ มีนโยบายให้สิ่งจูงใจที่น่าสนใจ เช่น จัดสรรที่ดินให้ฟรีหรือสนับสนุนเงินทุนสำหรับภาคเอกชนที่ประสงค์จัดตั้งสถาบันการศึกษาและการพัฒนาทักษะอาชีพ โดยเน้นให้ผู้ที่จบการศึกษาหรือจบหลักสูตรฝึกทักษะต่างๆ สามารถหางานได้จริงหลังสำเร็จการศึกษาหรือจบหลักสูตร เพื่อลดปัญหาการว่างงานของหนุ่มสาวที่เรียนจบสูงแต่อาจไม่ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ทำให้ต้องไปหางานทำที่รัฐอื่น และปัญหาของกลุ่มคนที่ไร้ทักษะซึ่งหากมีการจัดฝึกอบรมคนกลุ่มนี้ให้มีทักษะก็จะสามารถนำมาเป็นแรงงานสาขาค้าปลีกและก่อสร้างซึ่งยังขาดแคลนอยู่ได้
ด้านการท่องเที่ยว รัฐมัธยประเทศก็ไม่น้อยหน้าใคร แม้จะยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของคนต่างชาติแต่ก็มีนักท่องเที่ยวอินเดียมาเที่ยวในรัฐนี้ปีละมากโข เมื่อปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวถึง 63 ล้านคน โดยสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญมีทั้งธรรมชาติและวัฒนธรรม โดยมัธยประเทศเป็นรัฐที่มีพื้นที่ป่าธรรมชาติมากที่สุดในอินเดียและมีชื่อเล่นอีกชื่อหนึ่งว่าเป็น "ดินแดนของเสือ" มีอุทยานขนาดใหญ่ถึง 9 แห่ง และมีสถานที่ที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของ UNESCO ถึง 3 แห่ง ได้แก่ สถูปสาญจี (Sanchi) วัดขชุราโห (Khajuraho) ที่โด่งดังด้วยภาพแกะสลักหินกามสูตรที่งดงาม และเมืองภีมเบฏกา (Bhimbetka) ที่มีภาพวาดสมัยยุคหิน ซึ่งถึงแม้ว่าปัจจุบันจะยังเดินทางไปยังสถานที่เหล่านี้ค่อนข้างลำบากอยู่พอสมควร แต่รัฐบาลมัธยประเทศก็กำลังแข็งขันปรับปรุงเพื่อพัฒนาธุรกิจการท่องเที่ยวของรัฐให้ครึกครื้นและเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่นักท่องเที่ยว
ท่านผู้อ่านคะ ขณะนี้เราได้นำท่านเดินทางกลับถึงประเทศไทยโดยสวัสดิภาพแล้วค่ะ หวังว่าหลายท่านเมื่อได้อ่านบทความนี้แล้วคงจะเกิดปิ๊งไอเดียและเห็นโอกาสลงทุนในรัฐนี้ได้ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวและการฝึกอบรมทักษะต่างๆ ที่ไทยเรามีฝีมือและมีความเชี่ยวชาญ รวมทั้งเรื่องระบบโลจิสติกส์หรือการแปรรูปอาหาร ย้ำนะคำว่าอย่ารอช้า ถ้าเราไม่เข้าไปคลุกวงในใน "หัวใจของอินเดีย" เสียแต่ตอนนี้ เราอาจจะถูกคนอื่นตัดหน้าแย่งโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย
โดย กนกภรณ์ คุณวัฒน์
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,997 วันที่ 2 - 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557