ให้รักนำทาง...มาเมืองไทย
ฤดูแต่งงานใกล้เข้ามาแล้ว หากอยู่เมืองไทย ดิฉันคงต้องเตรียมแต่งตัวสวยเดินสายแสดงความยินดีกับมิตรสหายคู่รักแทบทุกสัปดาห์ เงินสะพัดในการจัดงานแต่งงาน 1 คืนมหาศาลนัก หากบ่าวสาวมาจากหลายเชื้อสาย ค่าใช้จ่ายย่อมทวีคูณ ทั้งรดน้ำสังข์ ยกน้ำชา เข้าโบสถ์ เราอาจนึกว่าคนไทยหน้าใหญ่ใจป้ำปิดหมู่บ้านเลี้ยงฉลอง ขอบอกว่างานแต่งงานอินเดียก็อลังการไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
อินเดีย...ประเทศซึ่งมีประชากรกว่าพันล้านคน ภาษาพูดท้องถิ่นกว่า 1,600 ภาษา ผู้คนนับถือ 9 ศาสนา อาศัยอยู่ในกว่า 20 รัฐซึ่งมีความเชื่อต่างกัน คงไม่มีคำจำกัดความไหนเหมาะสมไปกว่า "ความหลากหลาย" งานแต่งงานในแต่ละพื้นที่ของอินเดียนั้นต่างกันไปตามแต่ละศาสนา แต่ล้วนอยู่บนพื้นฐานความเชื่อเป็นสำคัญ ธรรมเนียมปฏิบัติสำหรับผู้นับถือศาสนาฮินดูคือจัดงานต่อเนื่องหลายวันและต้องประกอบพิธีย่อยด้วย เริ่มตั้งแต่เมเฮนดี (การวาดลายเฮนนามงคลตามร่างกายเจ้าสาว) งานฉลองก่อนแต่ง พิธีบูชาเทพ เช่น คณบดีบูชา (พระพิฆเนศ) ขอพรจากญาติที่ล่วงลับ (นันทิเทวตาบูชา) นพเคราะห์บูชา พิธีสละโสด (สังคีต) การโล้ชิงช้าและหว่านเมล็ดพืช งานฉลองวันแต่งงาน วันส่งตัวเจ้าสาว ฯลฯ ทั้งหมดนี้ เพราะงานแต่งงานสำหรับชาวอินเดียนั้นไม่ได้เป็นเพียงงานมงคลเพื่อประกาศให้สังคมเป็นพยานการลงเอยของบ่าวสาวเท่านั้น แต่เป็นยิ่งกว่าการแสดงฐานะทางการเงินและสังคมของทั้ง 2 ตระกูล เรียกได้ว่าเป็นการประกาศศักดาความมั่งคั่ง งานนี้ต้องทุ่มหมดหน้าตัก
ปัจจุบัน งานแต่งงานในอินเดียได้รับวัฒนธรรมจากชาติตะวันตกค่อนข้างมาก ชาวอินเดียโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดทันสมัยหรือมีประสบการณ์เดินทางไปยังประเทศต่างวัฒนธรรมนั้น เปิดใจรับสิ่งใหม่ได้เร็วไม่แพ้คนไทย ล่าสุดบ่าวสาวภารตนิยมถ่ายรูปพรีเวดดิ้ง โดยเฉพาะในเมืองใหญ่เช่น กรุงนิวเดลี เมืองมุมไบ และบังกะลอร์ ภาพคุ้นตาเราคือหนุ่มสาวไทยจูงมือโชว์ความหวานริมทะเลในอิริยาบถสบายๆ (ซึ่งผ่านฝีมือตากล้องพร้อมทีมงานอีกหลายชีวิตกว่าจะดู "สบายๆ" ดังที่ปรากฏ) สำหรับหนุ่มสาวอินเดียนั้น คงเป็นฉากพิงต้นไม้ส่าหรีปลิวสะบัด โดยมีฉากหลังเป็นทัชมาฮาล อนุสรณ์สถานแห่งความรักอันเป็นนิรันดร์ ชาวอินเดียเองก็มีอารมณ์ขันและชอบสีสันหวือหวา บางคู่ใช้ธีมบอลลีวูด บ้างเลือกธีมเรโทรย้อนยุค บางคู่ก็ชอบธีมชนบทนั่งรถไถกลางทุ่งกันเลยทีเดียว สนนราคาค่าตัวช่างภาพสมัครเล่นราว ๆ 12,500 บาท ค่าตัวมืออาชีพถีบขึ้นไปอยู่ที่ 25,000 – 50,000 บาท/วัน ถึงแม้ราคาเอาเรื่องแต่ความนิยมกลับเพิ่มขึ้นจนจำนวนช่างภาพพรีเวดดิ้งผุดขึ้นถี่ยิ่งกว่าดอกเห็ด
สำหรับเศรษฐีอินเดียซึ่งเรื่องเงินไม่ใช่ปัญหา การจัดงานแต่งงานในต่างประเทศย่อมไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเจ้าภาพรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทุกอย่างสำหรับแขกจนเรียกได้ว่าไปแต่ตัว ประเทศไทยติดอันดับต้นๆ ที่คนอินเดียนิยมเลือกจัดงานแต่งงานกันมาก โดยเฉพาะเดือนพฤศจิกายน - มีนาคม ซึ่งเป็นฤกษ์ดีตามคติฮินดู ในปีที่ผ่านมา มีบ่าวสาวอินเดียมากกว่า 100 คู่บินลัดฟ้ามาจัดงานในไทย ส่วนใหญ่มาพร้อมทีมออร์แกไนเซอร์และพ่อครัวหลายสิบคน ปิดโรงแรมเพื่อเลี้ยงฉลอง หากเป็นอภิมหาเศรษฐี อาจเชิญแขกนับพันคนจากทุกสารทิศ ทุ่มเงินไม่อั้นหลักร้อยล้านบาทเพื่อจัดงานแบบไม่มีกั๊ก สั่งพิมพ์บัตรเชิญแยกสำหรับทุกพิธีย่อย นำช้างม้ามาใช้ในขบวนแห่เจ้าบ่าว วงปี่พาทย์บรรเลงกันอึกทึกครึกโครม มีนางรำประกอบขบวนเน้นความรื่นเริง (ที่น่าสนใจคือมักจัดการแสดงแบบไทยเพื่อความบันเทิงและมิได้ยึดติดว่าต้องเป็นวัฒนธรรมอินเดียเท่านั้น)
คอลัมน์มองอินเดียใหม่ได้เคยเล่าถึงวิวาห์ภารตไปเมื่อปีที่แล้ว ความนิยมจัดงานแต่งงานในไทยยิ่งเพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากปัจจัยหลายประการ ส่วนหนึ่งมาจากความได้เปรียบของไทยเราเองในด้านที่ตั้ง การบริการและการท่องเที่ยวจนกระทั่งขึ้นชื่อไปแล้ว อีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากความร่วมมือกันผลักดันบุกตลาดของหน่วยงานไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ถึงแม้สถานการณ์การเมืองมีความไม่แน่นอน แต่ความนิยมไทยยังขลังไม่เสื่อมคลาย ประเทศของเราได้รับรางวัล Best Country and Best Wedding Destination จากผลสำรวจของนิตยสาร Travel + Leisure ต่อเนื่องกันถึง 3 ปีซ้อน
ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบธุรกิจและอาชีพในสาขาที่เกี่ยวข้องควรจับตามองพร้อมแสวงหาช่องทางเพื่อร่วมมือกับผู้ประกอบการอินเดียในการขยายฐานลูกค้า โดยเฉพาะภาคบริการที่ไทยมีความเชี่ยวชาญและรับแฟชั่นความนิยมใหม่ๆ มาก่อนอินเดีย เช่น การถ่ายภาพพรีเวดดิ้งทั้งในสตูดิโอและนอกสถานที่ การถ่ายทำวิดีโองานแต่งงาน ฯลฯ ทั้งนี้ ผู้สนใจควรหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับธรรมเนียมปฏิบัติและรายละเอียดการจัดงานแบบอินเดียก่อนก้าวลงสนามธุรกิจอย่างเต็มตัว
โดย ภัทธิรา เจียมปรีชา
สถานกงสุลใหญ่่ ณ เมืองกัลกัตตา
ตอนที่ 149 จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,999 วันที่ 9 - 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557