รัฐเกรละ ตอน 1 โอกาสงามท่ามกลางรัฐตอนใต้ของอินเดีย
อย่างที่ทราบกันดีว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการไทยหลายรายที่ตบเท้าเข้าสู่ประเทศอินเดีย และสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงก็ด้วยการวางแผนที่ดี มองเห็นเป้าหมายชัดเจน และที่สำคัญไม่กลัวที่จะเข้าไปเรียนรู้วิธีการทำธุรกิจท่ามกลางวัฒนธรรมที่แตกต่าง คำถามที่ผู้ประกอบการสนใจเสมอก็คือ ไปตรงไหนดี รัฐไหนดี เมืองไหนดี วันนี้ เรามาลองมาทำความรู้จักกับรัฐเกรละ (Kerala) ซึ่งอยู่ทางตอนใต้สุดของประเทศอินเดียทางฝั่งตะวันตก ติดกับทะเลอาระเบียนกันดูบ้าง ว่ารัฐนี้มีดีอย่างไร
พูดถึงรัฐเกรละ ภาพที่ชัดเจนคือความชอุ่มพุ่มพฤกษ์ของป่าไม้ ทิวมะพร้าว และพืชผลทางการเกษตร โดยมีสายน้ำที่เชื่อมจากทะเลสาบน้ำกร่อยอันเกิดจากชะวากทะเล กระจายออกไปในแผ่นดินราว 600 สายเกี่ยวพันกันเป็นเครือข่ายเหมือนใยแมงมุม ผ่องถ่ายน้ำทะเลจากทะเลอาระเบียนเข้าสู่แผ่นดิน ทำให้ดินแดนแถบนี้เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำกร่อย เหมาะแก่การเจริญเติบโตของมะพร้าว ซึ่งเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์เลื่องชื่อของรัฐนี้
ภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยเส้นสายโยงใยของสายน้ำนี้ ยังเอื้อต่อการเดินทางสัญจรไปมา และพัฒนาสู่เส้นการท่องเที่ยวท่ามกลางแดนดงมะพร้าว และเรือที่เป็นเอกลักษณ์ แค่นึกถึงบรรยากาศก็อยากหลับตาให้มีคนนำน้ำมันมะพร้าวมาชะโลมเรือนร่าง นวดผ่อนคลายยามบ่ายวันหยุด ในรีสอร์ทแนวอายุรเวชสักแห่งซึ่งมีอยู่มากมายในรัฐนี้ ด้วยเหตุนี้เอง รัฐเกรละจึงประกาศว่าตนเองเป็น God’s Own Country หรือดินแดนอันงดงามของพระเจ้า
รัฐเกรละมีพื้นที่ราวๆ 38,863 ตารางกิโลเมตร เป็นรูปทรงยาวแคบเลียบชายฝั่งทะเลอาระเบียน มีพื้นที่ชายฝั่งยาวกว่า 580 กิโลเมตร พื้นที่ส่วนที่กว้างที่สุดมีระยะทาง 120 กิโลเมตร และส่วนที่แคบที่สุดมีระยะทาง 35 กิโลเมตร ทิศตะวันออกติดกับรัฐทมิฬนาฑู โดยมีเทือกเขา Western Ghat เป็นปราการทางธรรมชาติ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดกับรัฐกรณาฏกะ
รัฐเกรละมีภูมิอากาศ 3 แบบ ตั้งแต่ภูมิอากาสแถบชายทะเล ไปจนถึงภูมิอากาศแบบริมเขา ปริมาณฝนตกค่อนข้างชุกหนาแน่น มีแม่น้ำ 44 สายไหลผ่าน
อัตราประชากรที่สำรวจในปี 2555 อยู่ที่ประมาณ 34.8 ล้านคน โดยคิดเป็นร้อยละ 2.76 ของประเทศอินเดียทั้งหมด (ราวครึ่งหนึ่งของประชากรไทยทั้งประเทศ)
พลเมืองเหล่านี้อาศัยกระจายตัวอยู่ใน 14 เมือง เฉลี่ยความหนาแน่น 859 คนต่อตารางกิโลเมตร ซึ่งถ้าเทียบกับค่าเฉลี่ยของประชากรอินเดียก็ถือว่าหนาแน่นกว่าประมาณ 3 เท่า
สิ่งที่น่าสนใจมากที่สุดในรัฐเกรละ นอกเหนือไปจากทรัพยากรธรรมชาติ คือประชากร เหตุที่ยกเรื่องประชากรมาพูดคุยกันก่อน เพราะมีหลายแง่มุมที่น่าสนใจ
นอกจากรัฐนี้จะมีอัตราการเกิดต่ำแล้ว ยังมีอัตราการตายต่ำเสียด้วย อายุไขเฉลี่ยประชากรก็สูงที่สุดในอินเดียคือ 74 ปี ขณะที่อายุไขเฉลี่ยของชาวอินเดียทั้งประเทศอยู่ที่ 66.15 ปี
เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะรัฐเกรละให้ความสำคัญกับเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ครั้งหนึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นรัฐที่มีสถานพยาบาลเพื่อเด็กดีเด่น แต่เดี๋ยวนี้น่าจะเพิ่มสัดส่วนการดูแลของผู้สูงอายุมากยิ่งขึ้น เนื่องจากโครงสร้างประชากรในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปโดยร้อยละ11.2 ของประชากรในรัฐนี้ หรือราว 3 ล้านคน มีที่อายุมากกว่า 60 ปี ประชากรวัยกลางคนกำลังไต่ระดับมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่สัดส่วนประชากรวัยหนุ่มสาว วัยรุ่น และวัยเด็กค่อยๆ ลดจำนวนลง
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างด้านประชากรอันมีนัยสำคัญนี้ จะส่งผลกระทบต่อด้านต่างๆ อาทิเช่น เกษตรกรผู้ใช้แรงงานในไร่นาจะลดน้อยลง วัยทำงานลดน้อยลง และยังมีประชากรบางส่วนเดินทางไปทำงานทางตะวันออกกลางมากขึ้น
กระแสไปทำงานเมืองนอก เพื่อส่งเงินกลับมาที่บ้านนี้ เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2513 ซึ่งมีศัพท์เรียกยุคนั้นว่า “The Gulf Boom” ซึ่งเป็นจุดหมายที่ไฝ่ฝันของหนุ่มๆ ชาวมาเลยาลี (คนที่พูดภาษามาเลยาลัม ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นของรัฐเกรละ) โดยในปี 2551 มีประชากรชาวอินเดียที่พูดภาษามาเลยาลัมเข้าไปรับจ้างในประเทศแถบตะวันออกกลาง ไม่ต่ำกว่า 2,500,000 คน สามารถส่งเงินกลับเข้ามายังรัฐเกรละกว่า 6.81 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
สถิติที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของรัฐเกรละก็คือ มีอัตราประชากรผู้รู้หนังสือสูงที่สุดในประเทศอินเดีย นั่นคือร้อยละ 93.15 (ค่าเฉลี่ยของประชากรอินเดียทั้งหมดอยู่ที่ร้อยละ 74.4) อันเนื่องมาจากส่วนผสมของประชากรที่มีทั้งผู้ที่นับถือศาสนาฮินดูร้อยละ 56.2 นับถือศาสนาอิสลามร้อยละ 24.7 นับถือศาสนาคริสต์ ร้อยละ 19 โดยมิสชันนารีกลุ่มแรกๆ ที่เข้ามายังรัฐตอนใต้เมื่อราวๆ ต้นศตวรรษที่ 18 ได้เป็นผู้มาสอนหนังสือให้กับชาวพื้นเมืองด้วย นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ประชากรในรัฐนี้ก็ให้ความสำคัญกับด้านการอ่านเขียนกันเป็นปกติ
เราลองมาคาดการณ์ดูสิว่า รัฐที่มีคนรู้หนังสือสูง อัตราการเกิดต่ำ อัตราคนทำงานและผู้ใช้แรงงานลดลง แม้แต่ประชากรที่ย้ายไปอาศัยและทำงานในตะวันออกกลางก็ยังค่อยๆ ลดลงตามอัตราการเกิดที่เปลี่ยนแปลงไปนับเป็นดัชนีชี้วัดที่ทำให้เห็นว่า รัฐเกรละจึงเป็นตลาดที่กำลังเตรียมความพร้อมรองรับผู้สูงวัย ที่มีความต้องการด้านการดูแลสุขภาพ เป็นตลาดของประชากรที่มีความรู้ มีกำลังซื้อสูง ขณะที่มีแรงงานในภาคการเกษตรลดลง ความต้องการด้านผลิตภัณฑ์อาหารไม่ได้ลดลงตามไปด้วย
คุณคงพอมองเห็นโอกาสของความเป็นไปได้สำหรับตลาดในรัฐเกรละแล้ว ในตอนหน้าเราจะมาดูศักยภาพในด้านอื่นๆ ของรัฐเกรละกันบ้าง
**********************
รายงานโดยนางสาวสุทธิมา เสืองาม
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน