เมื่อฟุตบอลยังเป็นเพียงพระรองในอินเดีย
ในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ ท่านผู้อ่านอาจจะได้ยินข่าวของอดีตนักฟุตบอลชื่อดังหลายคนที่ร้างลาจากเวทีในยุโรป อาทิ อเลสซานโดร เดล ปิเอโร่ (Alessandro Del Piero) นิโคลาส อเนลก้า (Nicolas Anelka) หรือดาวิด เทรเซเกต์ (David Trezequet) และย้ายไปเล่นฟุตบอลในช่วงสุดท้ายของชีวิตการค้าแข้งในลีกอาชีพของประเทศอินเดีย ที่มีชื่อลีกอย่างเป็นทางการว่า อินเดียน ซูเปอร์ ลีก (Indian Super League) หรือมีชื่อย่อว่า ISL ซึ่งเพิ่งมีการก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2557 นี้เอง โดยความร่วมมือระหว่างสมาคมฟุตบอลของประเทศอินเดีย กับบริษัทยักษ์ใหญ่ของอินเดียคือ Reliance Industries ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศอินเดีย ทำธุรกิจด้านพลังงาน การก่อสร้าง การสื่อสาร ค้าปลีก และธุรกิจอื่นๆอีกนับไม่ถ้วน
แม้ว่าลีกฟุตบอลอาชีพในประเทศอินเดียจะเพิ่งก่อตั้งในปีนี้เอง แต่การก่อตั้งของซูเปอร์ลีกอินเดียนั้นไม่ได้เริ่มต้นจากการก้าวทีละก้าวดังเช่นการสร้างลีกฟุตบอลอาชีพในประเทศอื่น ในทางตรงข้าม ซูเปอร์ลีกอินเดียเริ่มต้นด้วยการก้าวกระโดดโดยมีการลงทุนอย่างมหาศาลของทั้งบริษัทผู้สนับสนุนการแข่งขัน บริษัทถ่ายทอดสดการแข่งขัน และที่สำคัญที่สุดคือ เจ้าของทีมฟุตบอล มักจะเป็นดาราดังบอลลีวูด หรือนักการเมืองท้องถิ่น โดยอาศัยกฎและระเบียบที่สร้างขึ้นของซูเปอร์ลีกอินเดียเป็นตัวผลักดันให้มีการลงทุนในธุรกิจฟุตบอลอย่างมหาศาล เช่น กฎที่แต่ละทีมจะต้องมีผู้เล่นระดับซูเปอร์สตาร์ (ในอดีต) เป็นตัวชูโรงในทุกทีม เนื่องจากชื่อเสียงของอดีตซูเปอร์สตาร์เหล่านี้จะสามารถดึงดูดแฟนกีฬาของอินเดียแม้ว่าจะไม่ใช่แฟนกีฬาฟุตบอลโดยตรงให้สนใจเข้ามาชมหรือติดตามเกมการแข่งขันทางสื่อต่างๆ และช่วยในการเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของซูเปอร์ลีกอินเดีย หรือกฎการหาคู่ชิงชนะเลิศในระบบ Play-off โดยคัดทีมที่มีคะแนนสูงสุด 4 อันดับเข้าไปเล่นในรอบ Knock out แบบเหย้าเยือนเพื่อหาคู่ชิงชนะเลิศของ ISL ต่อไป โดยกฎดังกล่าวจะช่วยการันตีในด้านจิตวิทยาให้เงินลงทุนของเจ้าของทีมไม่สูญเปล่าเนื่องจากไม่มีการตกชั้นหรือเลื่อนชั้นเหมือนฟุตบอลลีกในประเทศอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม การที่ซูเปอร์ลีกอินเดียมีการเปิดตัวแบบก้าวกระโดดถือเป็นความเสี่ยงทางธุรกิจของทั้งเจ้าของทีมและบริษัทผู้สนับสนุนการแข่งขันไม่น้อยเลยทีเดียว ทั้งนี้ ก็เนื่องมาจากกีฬาฟุตบอลในอินเดียไม่ได้เป็นกีฬาที่มีผู้คนนิยมอันดับ 1 ดังเช่นประเทศอื่น เพราะในอินเดียมีกีฬาที่ผู้คนให้ความสนใจมากที่สุด หรือพูดได้ว่าเป็นสุดยอดของกีฬาในภูมิภาคเอเชียใต้เลยก็คือ คริกเก็ต (Cricket) ซึ่งถือเป็นพระเอกตัวจริงของอินเดียเลยทีเดียว โดยคนอินเดียรู้จักคริกเก็ตกันมากว่า 300 ปีแล้ว ตั้งแต่สมัยที่จักรวรรดิอังกฤษยังปกครองประเทศอินเดียอยู่ ทั้งนี้ ในภูมิภาคใดที่อังกฤษได้เข้าไปปกครอง ไม่ว่าจะเป็นบอมเบย์ (มุมไบ) หรือมัทราส (เจนไน) อังกฤษก็จะนำคริกเก็ตไปเผยแพร่ให้คนอินเดียได้รู้จักด้วย อย่างไรก็ดี สิ่งที่ทำให้คริกเก็ตเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 1 ของอินเดียก็เนื่องมาจากคริกเก็ตไม่ใช่เป็นเพียงแค่กีฬาเพื่อสันทนาการอย่างเดียวเท่านั้น แต่คริกเก็ตคือความภาคภูมิใจของอินเดีย และเป็นสิ่งที่หลอมรวมความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติ ภาษา ศาสนาในประเทศอินเดียให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งความภูมิใจในคริกเก็ตของอินเดียได้ฝังรากลึกมาตั้งแต่การปกครองของจักรวรรดิอังกฤษ โดยการแข่งขันคริกเก็ตระหว่างประเทศครั้งแรกของอินเดียเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1932 ระหว่างทีมชาติอังกฤษกับทีมชาติอินเดีย ณ สนาม Lord’s Cricket Ground ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และมีผู้ชมแน่นสนามถึง 2.4 หมื่นคน ซึ่งในครั้งนั้นทีมชาติอินเดียพ่ายแพ้ต่อทีมชาติอังกฤษไป แต่ความพ่ายแพ้ในครั้งนั้นกลับกลายเป็นการจุดประกายความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของอินเดียและนำไปสู่การต่อสู้เพื่อแยกเป็นเอกราชจากจักรวรรดิอังกฤษในปี ค.ศ. 1947
เกียรติประวัติของทีมชาติคริกเก็ตอินเดีย คือ การได้แชมป์โลกคริกเก็ตถึง 2 สมัย ในปี 1983 และ 2011 และแชมป์โลกคริกเก็ตในประเภท Twenty20 หรือ T20 ในปี 2007 โดยคู่แข่งที่สำคัญที่สุดของทีมคริกเก็ตอินเดียก็ไม่ใช่ทีมอื่นใด แต่เป็นทีมคริกเก็ตของปากีสถานซึ่งเป็นประเทศที่มีปัญหาระหองระแหงกันอยู่มาตลอด
การที่อินเดียพยายามผลักดันฟุตบอลให้เป็นกีฬายอดนิยมอีกประเภทหนึ่ง แม้จะมีความเสี่ยงแต่ก็เป็นความเสี่ยงที่น่าลงทุนครับ ลองคิดดูว่าถ้าฟุตบอลเกิดท็อปฮิตติดลมบนกลายเป็นกีฬายอดนิยมขึ้นมาในประเทศอินเดียแบบกีฬาคริกเก็ต มูลค่าตลาดของกีฬาฟุตบอลในอินเดียจะมากมายมหาศาลขนาดไหน แค่คิดก็ตื่นเต้นแทนแล้วครับ
โดย ณพเกษม โชติดิลก
สคร. ณ เมืองมุมไบ
ตอนที่ 151 จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 3,003 วันที่ 23 - 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557