รัฐเกรละ ตอน 2 แผนพัฒนาปี ค.ศ. 2030 ชูรัฐเกรละสู่การเป็นผู้นำด้านอายุรเวชระดับโลก
ประเทศอินเดียในปี 2558 ได้รับการคาดการณ์จาก IMF และธนาคารโลกว่าจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ร้อยละ 6.4 แต่สถานการณ์ในรัฐเกรละดูเหมือนจะลดความร้อนแรงลงไป อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนโครงสร้างประชากร อัตราการเกิดลดลง ประชากรวัยทำงานและวัยหนุ่มสาวลดลง แต่มีประชากร วัยกลางคน และผู้สูงวัยมากขึ้น ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อภาคการผลิต
รัฐเกรละจึงมองหาแนวทางในการพัฒนาที่รุดหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง นั่นจึงเป็นที่มาของแผนพัฒนา Kelara Perspective Plan 2030 ที่นาย K.M. Chandrasekhar ประธานกรรมการฝ่ายวางแผนแห่งรัฐเกรละ ได้สรุปความว่า รัฐเกรละมีเป้าหมายที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจของรัฐให้เป็นเศรษฐกิจแบบ Knowledge-Based Economy คือเน้นการสร้างเศรษฐกิจบนพื้นฐานความรู้ โดยตัดวงจรการเติบโตที่กำลังช้าลงอันเนื่องมาจากแรงงานภาคการผลิตที่ลดลง แต่มุ่งไปที่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันบนพื้นฐานความรู้ การสร้างบรรยากาศในการลงทุน และสร้างสิ่งก่อสร้างและสาธารณูปโภคใหม่ๆ ที่เน้นยกระดับคุณภาพชีวิต เพื่อที่จะเป็นตัวเลือกหลักในเวทีเศรษฐกิจโลก
จุดเด่นของประชากรของรัฐเกรละคือ อัตราการรู้หนังสือสูงสุดในประเทศอินเดีย โดยร้อยละ 93.15 ของประชากร อ่านออก เขียนได้ สื่อสารได้อย่างดี ทั้งภาษาของรัฐ คือ มาเลยาลัม ภาษากลางของประเทศ คือภาษาฮินดี แล้วยังมีภาษาอังกฤษ รวมถึงภาษาที่ใช้กันในรัฐโดยรอบอีกไม่ต่ำกว่า 3-4 ภาษา
ในด้านสาธารณสุข รัฐนี้ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพประชากรเป็นทุนเดิม โดยที่ผ่านมา รัฐบาลของรัฐเป็นผู้ลงทุนค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขทั้งหมด ซึ่งไม่ได้เน้นความหรูหรา สะดวกสบาย แต่เน้นดูแลอย่างทั่วถึง แต่ภายใต้แผนพัฒนาใหม่นี้ รัฐบาลเกรละจะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในสร้างบริการด้านสาธารณสุขที่ยกระดับขึ้น โดยมุ่งหวังว่าจะมีรายได้จากการบริการด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นร้อยละ 2-3 ภายในปี 2559
ในส่วนของธุรกิจสุขภาพและความงามซึ่งกำลังเป็นเทรนด์โลก รัฐเกรละได้ชื่อว่าเป็นผู้นำเทรนด์ เนื่องจากได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางแห่งการดูแลสุขภาพแนวธรรมชาติ หรือแนวอายุรเวช ซึ่งเป็นศาสตร์โบราณที่ถ่ายทอดกันมากว่า 5,000 ปี
ปัจจุบันนี้ธุรกิจด้านอายุรเวชมีมูลค่าถึง 1 หมี่นล้านรูปี หรือประมาณ 5,000 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 5 เท่าในปี 2562
ภายใต้เป้าหมายนี้เอง ทำให้รัฐเกรละเร่งพัฒนาความเป็นผู้นำด้านศูนย์กลางอายุรเวชครบวงจร โดยให้ความสำคัญกับทุกศาสตร์ ทุกสาขาที่เกี่ยวข้อง นับตั้งแต่การวิจัย พัฒนาผลิตภัณฑ์ การสร้างศูนย์การเรียนรู้ การยกระดับการบริการ การสร้างศูนย์สุขภาพ โดยเพิ่มความเข้มข้นของศาสตร์การดูแลด้านอายุรเวชเข้าไปเป็นตัวชูโรงและเน้นด้านรีสอร์ทเฉพาะทาง
นอกจากนี้ ยังมีการประชาสัมพันธ์อย่างครบวงจร เช่น การจัดการประชุมสัมมนาระดับโลก อย่างที่ผ่านมา ได้มีการจัดงาน Global Ayuraveda Festival 2014 รวมทั้งผลักดันแผนพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพให้เป็นแผนหลักในการดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าสู่รัฐ โดยมีจุดหมายหลักคือนักท่องเที่ยวจากแถบตะวันออกกลาง ซึ่งเดินทางมาถึงได้ง่าย พวกเขาชื่นชอบบรรยากาศฝนตกชุกและการบริการเหนือระดับ และมีกำลังซื้อสูง ตลอดจนนักท่องเที่ยวชาวยุโรป และสิงคโปร์
ภายใต้แผน Kelara Perspective Plan 2030 รัฐบาลรัฐเกรละยังได้เปิดโอกาสให้นักลงทุนได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนครั้งนี้ เนื่องจากการยกระดับการก่อสร้างศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์ โรงแรม โรงบ่มเพาะ ศูนย์การเรียนรู้เฉพาะทางเหล่านี้ ล้วนต้องอาศัยเงินลงทุนด้วยกันทั้งสิ้น
นั่นเท่ากับว่าผู้ประกอบการใหญ่ๆ ที่เป็นเจ้าตลาดอยู่แล้ว ก็จะเริ่มมองหาหุ้นส่วนธุรกิจที่สนใจมาลงทุนอย่างแข็งขัน ขณะที่ผู้ประกอบการรายเล็ก รายน้อย ก็พลอยได้รับอานิสงส์ไปด้วย ซึ่งผู้ประกอบการกลุ่มแนวหน้าด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ได้แก่ Dabur India Ltd., Sri BaidyanathAyurvedicBhawan Ltd., Zandu Pharmaceutical Works, The Himalaya Drug Company, CharakPhamaceuticals, ViccoLaboratories, The Emami Group, Aimil Pharmaceuticals Ltd. เป็นอาทิ
แน่นอนว่าการท่องเที่ยวเชิงอายุรเวช ย่อมเกิดขึ้นเพื่อรองรับแผนดังกล่าวอย่างสอดคล้อง ในตอนต่อไปเราจะมาลองดูกันว่าบริษัทชั้นนำด้านอายุรเวชเหล่านี้กำลังจะก้าวไปทางไหน มีโอกาสอะไรที่เปิดให้ผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมบ้าง แผนการท่องเที่ยวเชิงอายุรเวชมีความน่าสนใจอย่างไร โปรดติดตาม
**********************
รายงานโดยนางสาวสุทธิมา เสืองาม
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน