เปิดแผนพัฒนาอุตสาหกรรมรัฐกรณาฏกะ
รัฐกรณาฏกะนำโดยมุขมนตรีแห่งรัฐ นาย Siddaramaiah ชูแผนพัฒนาอุตสาหกรรมของรัฐ 5 ปี (ปี 2558-2562) หรือ Karnataka Industrial Policy 2014-2019 ตั้งเป้าอัตราการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมไว้ที่ร้อยละ 12 และให้มีเม็ดเงินลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ อีก 5 ล้านล้านรูปี โดยเชื่อว่า จะสามารถเพิ่มการจ้างงานภายในรัฐได้อีก 1.5 ล้านตำแหน่ง
เมื่อเดือนตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา มุขมนตรีแห่งรัฐกรณาฏกะได้ประกาศวิสัยทัศน์และแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนของรัฐต่อสาธารณชน ซึ่งแผนดังกล่าวถูกจับตามองอย่างชนิดตาไม่กระพริบโดยเฉพาะจากภาคอุตสาหกรรมเพื่อจะดูว่า ทางรัฐจะมีมาตรการอะไรใหม่ๆ ออกมาช่วยสนับสนุนวงการอุตสาหกรรมบ้าง
ที่ผ่านมา ภาคอุตสาหกรรมและนักธุรกิจอินเดียออกอาการไม่ค่อยปลื้มทางรัฐเท่าไหร่ โดยเฉพาะเรื่องปัญหาน้ำ ไฟ การคมนาคม ซึ่งกระจุกตัวเฉพาะเมืองบางเมือง อีกทั้งยังบ่นเกี่ยวกับเรื่องกฏระเบียบที่ไม่ค่อยเอื้อต่อการดึงดูดการลงทุนสักเท่าไหร่
อย่างไรก็ดี แผนพัฒนาอุตสาหกรรมของรัฐ 5 ปีฉบับใหม่นี้ได้รับการตอบรับจากภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ดีพอสมควร
โดยไฮไลท์ที่สำคัญของแผนพัฒนาดังกล่าว ประกอบด้วย การเร่งพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม การพัฒนาแนวเขตอุตสาหกรรม หรือ Industrial Corridors ที่เชื่อมระหว่างรัฐเพื่อนบ้านของกรณาฏกะ การพัฒนาทักษะแรงงาน การช่วยเหลือ การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและขนาดจิ๋ว การปรับกฏระเบียบให้ง่ายต่อการทำธุรกิจ และการส่งเสริม ความร่วมมือทางการค้ากับต่างประเทศ
ที่ตรงใจนักลงทุนก็เห็นจะเป็นแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า ทั้งน้ำ ไฟฟ้า และระบบขนส่งทางโลจิสติกส์ต่างๆ ของอินเดียยังมีปัญหา ทางรัฐกรณาฏกะก็รับทราบปัญหาดี ในแผนพัฒนาอุตสาหกรรมฉบับนี้ เลยสนับสนุนให้มีการจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ขึ้น และให้กระจายตัวอยู่ตามเมืองต่างๆ เพื่อลดทอนปัญหาดังกล่าว
โดยทางการรัฐ คือ Karnataka Industrial Area Development Board หรือ KIAB จะช่วยในการจัดหาพื้นที่อุตสาหกรรม และอำนวยความสะดวกเรื่องการสร้างโครงสร้างพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นน้ำ ไฟ ถนน โรงพยาบาล ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้าให้พร้อมสรรพ
โดยพื้นที่เขตอุตสาหกรรมนั้น จะให้มีการเช่าได้ยาวนานถึง 99 ปี รวมทั้งมีแผนที่จะพัฒนาเส้นทางคมนาคม ระบบประปา และไฟฟ้าให้ครอบคลุมเมืองต่างๆ รวมถึงการขยายท่าเรือเมือง Mangalore และท่าเรือ Tadidi เพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์ด้วย
เพื่อให้เป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น รัฐบาลรัฐกรณาฏกะจึงได้ประกาศสนับสนุนโครงการระเบียงอุตสาหกรรม 2 แห่ง คือ Chennai-Bangalore-Chitradurga Industrial Corridor (CBCIC) และ Bangalore-Mumbai Economic Corridor (BMEC) ขึ้น โดยโครงการดังกล่าวจะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลอินเดีย และ Japan International Cooperation Agency (JICA)
นอกจากนี้ ทางรัฐยังจะได้ทำการศึกษาว่า จะจัดตั้งระเบียงอุตสาหกรรมระดับรัฐขึ้นที่เมืองระดับรองเพื่อให้การพัฒนาอุตสาหกรรมกระจายไปตามเมืองต่างๆ อย่างทั่วถึง โดยขณะนี้ มีตัวเลือกอยู่ประมาณ 7 ตัวเลือก เช่น แนวเขตเมือง Bangalore-Mandya-Mysore-Chamarajangar เพื่อจัดตั้งอุตสาหกรรมในกลุ่มที่ใช้ความรู้เป็นพื้นฐาน หรือ แนวเขตเมือง Chitradurga-Bellary-Gullbarga-Bidar เป็นต้น
เพื่อเชื่อมโยงให้เกิดการพัฒนาระหว่างรัฐกรณาฏกะกับรัฐเพื่อนบ้านให้เติบโตไปด้วยกัน รัฐบาลรัฐกรณาฏกะยังได้ระบุไว้ในแผนพัฒนาอุตสาหกรรมฉบับนี้ ให้มีการแบ่งกลุ่มเขตพื้นที่ที่นักลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์จากการลงทุนในเขตเมืองติดต่อระหว่างรัฐกรณาฏกะกับรัฐอานธรประเทศ โดยแยกเป็นเขตการลงทุนอุตสาหกรรมในพื้นที่ Hyderabad Karnataka Area ซึ่งมีพื้นที่อยู่ในเมือง (taluk) รวม 31 แห่ง โดยแยกเป็นเขต HK Zone 1 ซึ่งมี taluk อยู่ 20 แห่ง และ HK Zone 2 ซึ่งมี taluk อยู่ 11 แห่ง โดยการแบ่งดังกล่าว ก็คล้ายๆ กับการแบ่งเขตโซนของ BOI บ้านเรา
นักลงทุนในเขต HK Zone 1 และ HK Zone 2 จะได้รับสิทธิประโยชน์มากกว่าปกติ เช่น ได้รับยกเว้นภาษีสรรพสามิต ภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นต้น เนื่องจากเป็นเขตที่ยังไม่ค่อยเจริญเท่าไหร่ ส่วนพื้นที่อื่น นอกเขต Hyderabad Karnataka Area ให้จัดกลุ่มเป็นโซนอุตสาหกรรม รวม 4 โซน โดยโซน 1 จะเป็นเขตเมืองที่เจริญน้อยสุด ไล่ขึ้นไปจนถึงโซน 4 ซึ่งจะอยู่ในเขตเมืองที่เจริญแล้ว ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ลดหลั่นกันลงไป
ในส่วนของการพัฒนาทักษะแรงงาน ซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ นั้น แผนอุตสาหกรรมฉบับนี้เน้นให้มีการพัฒนาศูนย์ฝึกอบรมแรงงานภาคอุตสาหกรรมให้เข้มแข็งมากขึ้น และกำหนดจะให้มีการตั้งสถาบันฝึกอบรมแรงงานเพื่อป้อนอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องมือเครื่องจักร อวกาศ ซีเมนตณืและเหล็ก อิเล็คทรอนิกส์ เคมี เภสัชกรรม เป็นต้น ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นอุตสาหกรรมที่ทางรัฐเน้นหนักให้มีการลงทุน
แผนพัฒนาอุตสาหกรรมฉบับนี้ ยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและขนาดจิ๋ว หรือที่เรียกว่า Micro, Small & Medium Enterprise (MSME) ด้วย ว่ากันว่า MSME นี้ มีมูลค่าผลผลิตเท่ากับร้อยละ 8 ของ GDP ของอินเดีย หรือคิดเป็นร้อยละ 45 ของ GDP จากภาคการผลิตของอินเดียเลยทีเดียว
โดยแผนนี้กำหนดให้ KIADB จะต้องจัดสรรพื้นที่ในเขตอุตสาหกรรมให้กับ MSME อย่างน้อยร้อยละ 20 และกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องสนับสนุนด้านเงินกู้ และหาตลาดให้กับ MSME ด้วย
Investment Subsidies for MSME |
||
General Category |
2009-2014 Policy (Rupee) |
2014-2019 Policy (Rupee) |
Micro Minimum Maximum |
05.00 lakh 10.00 lakh |
09.00 lakh 18.00 lakh |
Small Minimum Maximum |
10.00 lakh 20.00 lakh |
20.00 lakh 45.00 lakh |
Medium Minimum Maximum |
20.00 lakh 30.00 lakh |
30.00 lakh 55.00 lakh |
และที่สำคัญ MSME จะได้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนเป็นพิเศษ เช่น เงินอุดหนุนเพื่อการลงทุน (Investment Promotion Subsidy) ได้รับยกเว้นอากรแสตมป์ สามารถขอเรียกคืนค่าธรรมเนียม การเปลี่ยนแปลงที่ดินเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม ได้รับยกเว้นภาษี Entry Tax สำหรรับเครื่องจักรกลต่างๆ เป็นต้น ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์ต่างๆ ดังกล่าว จะแตกต่างกันไปตามขนาดของ MSME และโซนที่ตั้ง
นอกเหนือจาก MSME แล้ว ทางรัฐก็ไม่ได้ทอดทิ้งอุตสาหกรรมใหญ่ โดยกำหนดให้อุตสาหกรรมที่มี การจ้างงานมากกว่า 150 คน และมีเงินลงทุนมากกว่า 25,000 ล้านรูปีขึ้นไป หรือที่เรียกว่า Anchor Industries ได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น เงินอุดหนุนการลงทุน ประมาณ 200 ล้านรูปี หากอยู่ในเขต HK Zone 1 และได้เงินกู้ไม่เสียดอกเบี้ย และได้ลดภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย ส่วนวิสาหกิจรายใหญ่อื่นๆ ซึ่งมีเงินลงทุนมากกว่า 100 ล้านรูปีขึ้นไป ซึ่งแยกประเภทเป็น Large Enterprise, Mega Enterprise, Ultra Mega Enterprise และ Super Mega Enterprise ก็จะได้สิทธิประโยชน์ลดหลั่นกันลงไป
Tax Related Incentives |
||
Tax based incentive |
2009-2014 Policy |
2014-2019 Policy |
Incentive was interest free loan 25-50% of Gross VAT with max of 100% of value of fixed assets for a period of 12 years to 5 years depending on investment and zone |
Incentive is interest free loan of 40% to 100% of NET VAT+CST with max limit of 100% of value of fixed assets for a period of 7 years to 14 years depending on investment and zone |
นอกจากนี้ เพื่อปรับจาก “red tape” เป็น “red carpet” แผนพัฒนาอุตสาหกรรมฉบับนี้ ได้กำหนดให้มีการพัฒนาระบบ Single Window ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดขั้นตอนการติดต่อและกฎระเบียบต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องการเปลี่ยนวัตถุประสงค์การใช้ที่ดินจากเกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรม
สำหรับเรื่องสุดท้าย คือ เรื่องการส่งเสริมการส่งออก แผนพัฒนาอุตสาหกรรมตั้งเป้าไว้ว่า จะเพิ่มสัดส่วนการส่งออกสินค้าที่มาจากรัฐกรณาฏกะในมูลค่าการส่งออกของอินเดียรวมให้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.3 เป็นร้อยละ 12 โดยทางการรัฐจะเน้นเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการส่งออก เช่น เรื่องการสนับสนุนด้านเงินทุนแก่ผู้ประกอบการ การพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าทางทั้งบกและทางทะเล การพัฒนาทางรถไฟ ท่าเรือและการขนส่งทางอากาศ รวมถึงการพัฒนาศูนย์เทคโนโลยีก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว เป็นต้น
ผู้ที่สนใจเรื่องการลงทุนและการค้าในรัฐกรณาฏกะ สามารถติดต่อสอบถามขอรับข้อมูลเพิ่มเติม ที่ International Help Desk ของรัฐได้ที่ โทรศัพท์ + 91 80 22864281 หรือ +91 9686271064 e-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it., This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. และเว็บไซต์ www.vtpckarnataka.gov.in/vitcbir.org
********************************
รายงานโดย ดร. พรพิมล สุคันธวณิช
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน