ตลาดยีนส์ในอินเดีย
ไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคกี่สมัย กางเกงยีนส์ก็ยังครองความเป็นหนึ่งในบรรดาแฟชั่นทั้งหมด ด้วยความคลาสสิกและลงตัวกับทุกเพศทุกวัย ไม่จำกัดว่าจะเป็นประเทศไหนๆ ก็ตาม หรือแม้กระทั่งประเทศที่ค่อนข้างแต่งกายแบบประเพณีนิยมกันเป็นส่วนใหญ่อย่างอินเดีย เมื่อเดินตามห้างสรรพสินค้า หรือแม้แต่ร้านค้าริมถนน (HighStreet) ก็จะพบว่าผู้คนนิยมชมชอบสวมใส่กางเกงยีนส์กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นได้ว่ากางเกงยีนส์ไม่มีตกยุคตกสมัย เพียงแต่มีการเปลี่ยนแปลงรูปทรงของกางเกงยีนส์ไปตามกาลเวลาเท่านั้นเอง
ในปี 2556 ตลาดกางเกงยีนส์ในอินเดียมีมูลค่าถึง 1.35 แสนล้านรูปี (หรือประมาณ 7 หมื่นล้านบาท) คิดเป็น 5% ของมูลค่าตลาดเครื่องแต่งกายในประเทศอินเดีย โดยคาดว่า ในปี 2561 ตลาดยีนส์จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 2.72 แสนล้านรูปี (หรือประมาณ 1.4 แสนล้านบาท) คิดเป็น 15% ของมูลค่าตลาดเครื่องแต่งกายในประเทศเลยทีเดียว ธุรกิจยีนส์จึงเป็นธุรกิจที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเมื่อพิจารณาจากแนวโน้มการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียแล้ว จะพบว่าจำนวนคนชั้นกลางของอินเดียเพิ่มมากขึ้นทุกปี และกลุ่มคนชั้นกลางเป็นกลุ่มที่ใช้จ่ายส่วนใหญ่ไปกับการแต่งตัว และค่าอาหารการกินครับ
ปัจจุบันอินเดียผลิตผ้ายีนส์ได้มากกว่าปีละ 1 พันล้านเมตรเลยทีเดียว โดยความนิยมของประชาชนอินเดียส่วนใหญ่ ผู้ชายจะนิยมนุ่งกางเกงยีนส์ถึง 85% ในขณะที่ผู้หญิงนิยมนุ่งกางเกงยีนส์เพียง 9% และเด็กเพียง 6% เท่านั้น นั่นอาจเป็นเพราะประเพณีการแต่งตัวแบบอินเดียที่ผู้หญิงยังคงสวมใส่ชุดประจำชาติประเภทส่าหรีกันอยู่
หากจะพิจารณากลุ่มประชากรของอินเดียที่นิยมยีนส์ จะเป็นคนเมืองจำนวน49% เป็นคนที่อาศัยอยู่ชานเมืองจำนวน 36% และเป็นคนที่อาศัยอยู่ตามชนบท 15%อย่างไรก็ดี ผู้คนในอินเดียนิยมสวมใส่ยีนส์ไม่มียี่ห้อถึง 60% และนิยมสวมใส่ยีนส์มียี่ห้อเพียง 40% เนื่องจากคนอินเดียยังคงคำนึงถึงปัจจัยด้านราคาหรือ Price-Consciousเป็นสำคัญ
ปัจจุบันแนวโน้มพฤติกรรมในการดำรงชีวิตด้วยการใส่ชุดลำลองของประเทศต่างๆ มีมากขึ้น การสวมใส่ยีนส์จึงได้รับความนิยมมากขึ้นทั้งชายและหญิง อย่างไรก็ตาม ขนาดตลาดยีนส์ของอินเดียอาจจะยังถือว่าไม่ใหญ่มากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา บราซิล หรือประเทศในแถบทวีปยุโรปและจีน ทั้งนี้ ปัจจัยในการขับเคลื่อนตลาดธุรกิจยีนส์ในอินเดียมีอยู่หลายปัจจัย เช่น กลุ่มเป้าหมายที่มีอายุระหว่าง 15-29 ปี คุณภาพและการออกแบบให้สวมใส่สบาย ตลอดจนรูปแบบและสีที่สวยงาม และที่มองข้ามไม่ได้ก็คือ ตลาดกลุ่มลูกค้าสตรีและเด็กที่สามารถขยายเพิ่มขึ้นได้อีก
แนวทางการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันของอินเดียยังคงเน้นการผลิตเพื่อขายภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่มากกว่าการส่งออก ในส่วนของเนื้อผ้ามีการผสมผสานระหว่างผ้าฝ้ายและผ้าโพลิเอสเทอร์ซึ่งทำให้สวมใส่สบาย โดยความต้องการของตลาดส่วนใหญ่ในอินเดียจะอยู่ที่กางเกงยีนส์ผ้ายืด (Stretch Denim) เนื่องจากสวมใส่สบายและพอดีตัว ความหลากหลายของสีสันซึ่งปัจจุบันไม่จำกัดเฉพาะสีนํ้าเงินเท่านั้น โดยวัยรุ่นชาวอินเดียยังนิยมยีนส์หลากสีสัน เช่น แดง เหลือง และเขียว เป็นต้น
ไม่ว่าจะเป็นประเทศอินเดียหรือประเทศใดก็ตาม แนวทางการตลาดควรจะต้องเข้าใจรสนิยมและความต้องการของผู้บริโภค รวมทั้งจะต้องส่งเสริมการใช้ผ้ายีนส์ที่ทำมาจากผ้าฝ้ายมากกว่าผ้าใยสังเคราะห์ เนื่องจากเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ด้วยการนำผ้ายีนส์มาทำเป็นผลิตภัณฑ์อื่น เช่น เครื่องประดับ กระโปรง เสื้อเชิ้ต และกระเป๋า เป็นต้น
สำหรับประเทศไทยเอง ก็มียีนส์ยี่ห้อไทยและผลิตโดยฝีมือคนไทยหลายยี่ห้อที่ออกแบบสวยงามไม่แพ้ยีนส์ยี่ห้อดังๆ ของต่างประเทศ แถมคำว่า Thailand ก็ยังเป็นที่นิยมของคนอินเดียอีกต่างหาก การเข้าตลาดอินเดียจึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับยีนส์ยี่ห้อไทย แต่ถ้าราคายีนส์ที่ผลิตในประเทศไทยยังมีราคาสูงเพราะต้นทุนการผลิตสูงกว่าซึ่งอาจจะทำให้แข่งขันไม่ได้ ผู้ประกอบการไทยก็คงต้องหาวิธีเข้าตลาดด้วยกลยุทธ์อื่นอย่างการเข้าไปลงทุนผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศอินเดียเสียเลย ซึ่งก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ ก็เอาเป็นว่าตลาดนี้ยังมีศักยภาพอีกมาก ถนัดแนวไหนก็เลือกกันได้ตามสบายนะครับ
โดย ณพเกษม โชติดิลก
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองมุมไบ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,021 วันที่ 25 - 28 มกราคม พ.ศ. 2558