ภาคเอกชนอินเดียเชื่อ ภาษี GST ใหม่จะเปลี่ยนโฉมระบบโลจิสติกส์อินเดียทั้งระบบ
สำหรับภาคธุรกิจของอินเดีย การติดตามกระบวนการและขั้นตอนการออกกฎหมายและประกาศใช้กฎหมายการจัดเก็บภาษีการค้าและบริการ (Good and Services Tax หรือ GST) ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ ทุกฝ่ายให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
โดยล่าสุด เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฏรของอินเดียได้ผ่านร่างกฎหมาย The Goods and Service Tax Bill หรือ GST Bill แล้ว และได้ส่งร่างดังกล่าวให้คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมาย GST หรือที่เรียกว่า GST Empowered Committee ของกระทรวงการคลังของรัฐบาลอินเดียพิจารณา เมื่อคณะกรรมการพิจารณาเสร็จแล้ว ก็จะส่งให้สภาสูงหรือราชยสภาของอินเดียพิจารณาให้ ความเห็นชอบก่อนผ่านร่างกฏหมายและประกาศบังคับใช้ต่อไป
ทั้งนี้ เป็นที่คาดการณ์ว่า รัฐบาลอินเดียน่าจะได้ประกาศใช้กฎหมาย GST ได้ในช่วงเดือนเมษายน 2559
หลายภาคส่วนธุรกิจของอินเดียได้เรียกร้องให้หน่วยงานของภาครัฐทั้งส่วนกลางและรัฐบาลท้องถิ่นเร่งผลักดันให้กฎหมาย GST มีการประกาศใช้โดยเร็ว โดยเชื่อว่า GST จะมีส่วนช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียและลดต้นทุนให้กับภาคธุรกิจและบริษัทเอกชนของอินเดีย
สำหรับภาคธุรกิจโลจิสติกส์ของอินเดียดูเหมือนจะเป็นอีกหนึ่งภาคส่วนธุรกิจที่รออานิสงค์ของ การออกกฎหมาย GST ดังกล่าว โดยมองว่า ระบบการจัดเก็บภาษี GST ใหม่จะช่วยลดจำนวนและประเภทภาษีที่ภาคธุรกิจจะจ่ายให้น้อยลง สร้างความเป็นหนึ่งเดียวให้กับตลาดอินเดียมากขึ้น รวมทั้งเชื่อว่า GST จะเปลี่ยนโฉมระบบโลจิสติกส์ของอินเดียใหม่ทั้งระบบ
ปัจจุบัน ตลาดโลจิสติกส์ของอินเดียมีมูลค่ารวมประมาณ 120.43 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเทียบเท่ากับประมาณเกือบร้อยละ 7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ GDP ของประเทศ และมีอัตราเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ประมาณร้อยละ 9.9 ต่อปี
โมเดลการคำนวณต้นทุนระบบโลจิสติกส์ของอินเดียส่วนใหญ่อยู่ที่ต้นทุนสินค้าคงคลังกับรูปแบบ การกระจายสินค้า ซึ่งจะเชื่อมโยงกับการคำนวณภาษีขาย (Central Sales Tax) ซึ่งจัดเก็บ โดยรัฐบาลกลาง และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งจัดเก็บโดยรัฐบาลท้องถิ่น ดังนั้น ต้นทุนของธุรกิจด้านโลจิสติกส์ของอินเดียจะมากจะน้อยจึงขึ้นกับการ optimize แผนการจัดการการจ่ายภาษีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย
แต่ภายใต้ระบบภาษี GST ใหม่ การคำนวณภาษีจะขึ้นกับการโอนสต็อคสินค้า (Stock Transfer) อีกทั้งบริษัทเอกชนยังได้รับเครดิตภาษีแบบเต็มที่ (Full Credit) หากมีการซื้อขายสินค้าและขนส่งข้ามรัฐ ดังนั้น ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของภาคธุรกิจจึงเปลี่ยนไปขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของการจัดการและการขนส่งสินค้าเป็นหลัก
การปรับปรุงประสิทธิภาพของการจัดการด้านโลจิสติกส์ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนดังกล่าวนี้จะนำไปสู่มิติใหม่ของการปรับระบบโลจิสติกส์ทั้งระบบ โดยผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจโลจิสติกส์อินเดียต้องหันมาคิดทบทวนดูว่า จะต้องจัดระบบ operation ใหม่อย่างไร หรือไม่ จะต้องสร้างหรือขยายคลังสินค้าใหม่ หรือปิดคลังสินค้าเดิมที่ไม่จำเป็นหรือไม่ รวมถึงต้องพิจารณาโลเกชั่นของคลังสินค้าหรือสถานที่ที่จะเป็นฮับด้านโลจิสติกส์ด้วย
ผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ในอินเดียเชื่อว่า ในอนาคตจะมีการลดจำนวนของคลังสินค้าลง แต่จะมี การขยายขนาดของคลังสินค้าให้ใหญ่ขึ้น และจะมีการสร้างคลังสินค้าในทุกรัฐของอินเดีย นอกจากนี้ สถานที่ตั้งของคลังสินค้าใหม่จะต้องมีโลเกชั่นที่สามารถเชื่อมโยงกับระบบโครงสร้างพื้นฐานทางการขนส่ง และสามารถเชื่อมโยงกับเครือข่ายธุรกิจในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของแต่ละภาคอุตสาหกรรมให้มากขึ้นด้วย
การเชื่อมโยงดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดการปรับปรุง (re-engineer) ระบบการขนส่งและไหลเวียนของสินค้าในห่วงโซ่อุปทานของภาคอุตสาหกรรมของอินเดียครั้งสำคัญของอินเดีย
ดังนั้น สถานที่ตั้งของคลังสินค้าและศูนย์โลจิสติกส์จึงถือเป็นหัวใจสำคัญของระบบโลจิสติกส์ของอินเดียในอนาคต โดยพื้นที่ที่จะเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของอินเดียทางตอนใต้น่าจะอยู่ในเขตเส้นทางหลวงเมืองเจนไน-เมืองบังคาลอร์ ขณะที่ตอนกลางน่าจะอยู่ที่เมืองนาคปุระ และตะวันตกเฉียงเหนืออยู่ที่เส้นทางเมืองมุมไบ-รัฐคุชราต-รัฐราชสถานและเขตกรุงเดลีและปริมณฑล (NCR) รวมทั้งเขตแนวระเบียงอุตสาหกรรมในเขตเมืองเดลี-มุมไบ (DMIC)
ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า ระบบ GST ใหม่ของอินเดียจะช่วยเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียอีกร้อยละ 1.4-1.7 และสามารถเพิ่มรายได้ภาคธุรกิจได้อีก 1.2 ล้านล้านรูปี โดยอินเดียจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับร้อยละ 5 ในปีนี้ และจะโตในอัตราร้อยละ 7 ในช่วงปี 2559-2560 ขณะที่การส่งออกของอินเดียน่าจะโตได้ในอัตราร้อยละ 11 ในปีนี้ และประมาณร้อยละ 13.5 ในปีหน้า
การประกาศใช้ระบบภาษี GST จึงเป็นเสมือน game changer ของภาคธุรกิจและ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของอินเดียตัวจริง
***************************
รายงานโดย ดร. พรพิมล สุคันธวณิช
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน