ไทยซัมมิทปักธงไทยลุยตลาดอินเดียร่วมกับยามาฮ่า
อินเดียเป็นประเทศที่กำลังเนื้อหอม โดยนักลงทุนต่างชาติจากทั่วโลกต่างสนใจที่จะเข้ามาลงทุนมากที่สุด ก็คือ มอริเชียส โดยลงทุนสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยสิงคโปร์ อังกฤษ ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ สหรัฐฯ ไซปรัส เยอรมนี ฯลฯ โดยรัฐบาลอินเดียได้เปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนได้ในหลายสาขาอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน การบิน เทคโนโลยีชีวภาพ การก่อสร้าง พลังงาน ไอที เวชภัณฑ์ อิเล็คทรอนิกส์ และภาคบริการ เช่น การท่องเที่ยวและการธนาคาร เป็นต้น
สำหรับการลงทุนของไทยนั้น ภาคเอกชนไทยได้เข้ามาลงทุนในอินเดียไม่น้อยเหมือนกัน โดยอยู่ในลำดับที่ 35 ตั้งแต่ปี 2543 - เดือนเมษายน 2558 มีมูลค่าการลงทุนทางตรงของไทยในอินเดียรวม 204.63 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
คณะผู้เยี่ยมเยือนจากประเทศไทยถ่ายภาพร่วมกับผู้บริหารและทีมงานของบริษัทไทยซัมมิท ออโตพาร์ท อินเดีย
ดิฉันได้มีโอกาสเดินทางร่วมไปกับคณะผู้แทนจากสำนักเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระหว่างประเทศและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นำโดยท่านผู้อำนวยการวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ และ ผศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ไปเยี่ยมเยือนและสัมภาษณ์พูดคุยกับผู้บริหารของบริษัทไทยที่เข้ามาลงทุนในอินเดียเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา
โดยในช่วงเย็นภายหลังจากที่ได้เดินทางไปศึกษาดูงานที่เขตนิคมอุตสาหกรรม Sri City ซึ่งอยู่ที่บริเวณตะเข็บรอยต่อระหว่างรัฐทมิฬนาฑูกับรัฐอานธรประเทศแล้ว ดิฉันได้ติดตามคณะไปยังโรงงานของบริษัท ไทยซัมมิท ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม Vallam Vadagal SIPCOT Industrial Park เขตอำเภอกาญจีปุรัม (Kancheepuram) ที่อยู่ห่างจากตัวเมืองเจนไน รัฐทมิฬนาฑูไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 46 กิโลเมตร
โรงงานของบริษัทไทยซัมมิท ออโตพาร์ท อินเดีย
ที่โรงงานของบริษัทไทยซัมมิท เราได้พบกับคุณสมชัย จงเจริญทวีสุข ผู้บริหารของบริษัทไทยซัมมิท ออโตพาร์ท อินเดีย และทีมงานผู้จัดการของบริษัทกว่า 6 ชีวิต ซึ่งรอต้อนรับคณะอยู่ถึงแม้จะเป็นเวลาเย็นเลิกงานแล้ว
คุณสมชัยฯ และทีมงานผู้บริหารได้เล่าให้ฟังว่า โรงงานของบริษัทไทยซัมมิทแห่งนี้ เป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนโครงสร้างที่เป็นเหล็กสำหรับรถสกูตเตอร์และรถมอเตอร์ไซค์ จดทะเบียนบริษัทในอินเดีย เมื่อปี 2556 โดยใช้ชื่อว่า Thai Summit Autoparts India Private Ltd. และเริ่มดำเนินงานและผลิตสินค้าเมื่อปี 2557 ที่ผ่านมา โดยการลงทุนช่วงเฟสแรกนี้มีมูลค่ารวมสูงถึง 800 ล้านรูปี
ไทยซัมมิทได้รับความไว้วางใจจากบริษัทยามาฮ่าซึ่งได้ชักชวนให้มาร่วมงานด้วยกัน โดยทำการผลิตชิ้นส่วนโครงสร้างเหล็กทั้ง body part และ frame part ป้อนให้กับโรงงานผลิตรถมอเตอร์ไซค์ของยามาฮ่า พร้อมกับโรงงานซัพพลายเออร์ของญี่ปุ่นอีก 8 โรงงาน ภายใต้แนวคิด “One Factory Concept”
โรงงานของยามาฮ่าตั้งใจให้ทั้ง 9 บริษัทซัพพลายเออร์ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่เดียวกัน เพื่อลดต้นทุนด้านการจัดการและการขนส่ง รวมทั้งลดการนำเข้าชิ้นส่วนบางส่วนจากต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น และทำให้โรงงานสามารถสร้างกำไรได้มากขึ้น โดยเรียกโครงการนี้ว่า Yamaha Vendor Park
บริเวณด้านหน้าของโรงงานไทยซัมมิทในเขตนิคมอุตสาหกรรม Vallam Vadagal SIPCOT Industrial Park กำลังก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับโครงการ Yamaha Vendor Park
การที่เป็นบริษัทไทยเพียงบริษัทเดียวที่ได้รับเลือกจากบริษัทยามาฮ่าให้เป็นซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนอะไหล่จักรยานยนต์นี้ ถือเป็นความภูมิใจของบริษัทไทยซัมมิทอย่างยิ่ง และเป็นการแสดงถึงศักยภาพและความสามารถในการผลิตของบริษัทซึ่งก้าวเข้าสู่มาตรฐานสากล
”ที่โรงงานแห่งนี้ ไทยซัมมิทผลิตงานเหล็กของตัวโครงมอเตอร์ไซต์ทั้งหมด โดยเป็นบริษัทไทยเพียงบริษัทเดียวที่ได้รับความไว้วางใจจากบริษัทยามาฮ่า ขณะที่ซัพพลายเออร์ของอินเดียแม้จะมีจำนวนมาก แต่จุดที่เป็นปัญหาคือ capacity ต่ำ จึงทำให้คุณภาพมีปัญหา” คุณสมชัยฯ กล่าว
สำหรับตลาดรถจักรยานยนต์ของอินเดียนั้น ถือว่าเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ทั้งในแง่ของการผลิตและยอดขาย โดยตั้งแต่เดือนเมษายน 2557– มกราคม 2558 ตลาดรถจักรยานยนต์สองล้อ คือรวมทั้งรถมอเตอร์ไซค์และรถสกูตเตอร์ของอินเดียมีการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 8.7 และมียอดจำหน่ายรวม 16.5 ล้านคัน
บริษัทที่ผลิตรถจักรยานยนต์สองล้อเจ้าใหญ่ของอินเดีย ก็ได้แก่ Hero MotorCorp ซึ่งมีส่วนแบ่งของตลาดรวมร้อยละ 40 บริษัท Bajat Auto บริษัท Honda Motorcycle & Scooter India ซึ่งมาส่วนแบ่งทางการตลาดของรถสกูตเตอร์มากที่สุด และบริษัท TVS Motor มีส่วนแบ่งทางการตลาดของรถสกูตเตอร์ราว ร้อยละ ๑๕ ขณะที่บริษัทยามาฮ่ามีส่วนแบ่งในลำดับรองๆ ลงมา
บริษัทยามาฮ่าเข้ามาลงทุนที่อินเดียและเปิดโรงงานผลิตรถจักรยานยนต์แห่งแรกในอินเดียตั้งแต่ปี 2528 โดยจดทะเบียนในนาม India Yamaha Motor Pvt.Ltd. หรือมีชื่อย่อว่า IYM ก่อนหน้าการตั้งโรงงานแห่งที่สามนี้ บริษัทยามาฮ่ามีโรงงานผลิตรถจักรยานยนต์ในอินเดียอยู่แล้ว ๒ โรงงาน คือ โรงงานที่เมือง Faridabad ในรัฐหรยาณา และที่เมือง Surajpur ในรัฐอุตตรประเทศ
โรงงานแห่งใหม่ของยามาฮ่านี้ ใช้งบประมาณก่อสร้างทั้งสิ้น 15,000 ล้านรูปี โดยมีเป้าหมายที่จะผลิตรถมอเตอร์ไซค์ป้อนตลาดอินเดียในช่วงแรกประมาณ 4.5 แสนคันต่อปี และจะเพิ่ม การผลิตไปถึง 1.8 ล้านคันภายในปี 2561 รุ่นมอเตอร์ไซค์ที่ผลิตที่โรงงานนี้ คือ Saluto 125 ซีซี และรถสกูตเตอร์ รุ่น Ray และ Alpha 110 ซีซี โดยยามาฮ่าวาง position ของรถจักรยานยนต์อยู่ในกลุ่ม high-end premium bike หรือ superbike
สำหรับการเข้ามาลงทุนในอินเดียของไทยซัมมิทในอินเดียนี้ มิใช่ครั้งแรก แต่บริษัทได้เข้ามาลงทุนสร้างโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในอินเดียมาก่อนหน้านี้แล้วตั้งแต่ปี 2546 เพราะเล็งเห็นศักยภาพของจำนวนประชากรและโอกาสทางธุรกิจสืบเนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอินเดีย
แรกเริ่มบริษัทเข้ามาในอินเดียโดยทำ Joint Venture กับบริษัท JBM group ของอินเดีย เพื่อผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ป้อนให้กับบริษัทผลิตยานยนต์หลายแห่งทั้งของอินเดียและญี่ปุ่น เช่น บริษัท Bajat บริษัท TVS บริษัท Hero MotorCorp และ Suzuki เป็นต้น โดยมีโรงงานผลิตอะไหล่ยานยนต์ อะไหล่จักรยานยนต์สองล้อและสามล้อในอินเดียอยู่หลายแห่ง เช่น ที่เมืองกูร์กาวน์ (Gurgaon) เมืองปูเน่ (Pune) เมืองโฮซุร์ (Hosur) และเมืองปันท์ นาการ์ (Pantnagar) เป็นต้น แต่มาภายหลัง ได้แยกออกมาดำเนินกิจการเองเมื่อปี 2555
ในการเปิดกิจการและเข้ามาลงทุนของบริษัทไทยในอินเดียนั้น คุณสมชัยฯ ให้ข้อสังเกตจากประสบการณ์ว่า “การทำ Joint Venture ที่อินเดียไม่ง่าย โดยเฉพาะเรื่องการควบคุมเรื่องกำไร หากคุมต้นทุนไม่อยู่ โดยเฉพาะเรื่อง Transfer pricing ที่ค่อนข้างสูง นอกจากนี้ เอกชนเองต้องมีความเข้มแข็ง บุคลากรเองต้องมีความพร้อมที่จะออกมา ต้องเข้าใจวัฒนธรรม (ของอินเดีย) ภาคเอกชนไทยควรต้องศึกษาเรื่องกฏหมายของอินเดีย โดยเฉพาะกฎหมายภาษี กฏหมายโรงงาน ซึ่งมีความละเอียดยิบย่อยสูงด้วย”
ทีมงานคุณภาพของบริษัทไทยซัมมิท ออโตพาร์ท อินเดียถ่ายภาพร่วมกับคณะด้านหน้าทางเข้า ภายหลังการพาชมสายการผลิตภายในโรงงาน
ปัจจุบัน โรงงานของไทยซัมมิทที่รัฐทมิฬนาฑูมีพนักงานไทยรวม ๒๐ คน และบางช่วงมีการนำพนักงานจากประเทศไทยเข้ามาทำงานเพิ่มเติมชั่วคราว โดยเฉพาะหากมีความจำเป็นที่จะต้องอบรมหรือถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับพนักงานชาวอินเดีย อย่างไรก็ดี โรงงานแห่งนี้มีเป้าหมายที่จะใช้เทคโนโลยีในการผลิต โดยนำระบบเครื่องจักรอัตโนมัติ (automation) มาใช้ให้มากขึ้น โดยให้มีสัดส่วนถึงร้อยละ ๕๐
นอกจากนี้ ไทยซัมมิทยังมองว่า ด้วยพื้นที่ตั้งของสองโรงงานของบริษัทที่อยู่ในเขตอำเภอกาญจีปุรัมแห่งนี้ และที่เมืองบังคาลอร์อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งต่างอยู่ในเขตฮับอุตสาหกรรมยานยนต์ของอินเดียตอนใต้ จัดว่าเป็นโลเกชั่นที่ดีที่สามารถเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์กับกลุ่มโรงงานผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนอื่นๆ ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลกัน ทั้งในเขตรัฐทมิฬนาฑู เช่น Hyundai Mitsubishi Nissan Renault & Daimler Ford และ BMW และในเขตรัฐกรณาฏกะ เช่น Toyota Scannia และ Volvo เป็นต้น และด้วยความมุ่งมั่นของบริษัทที่จะก้าวไปสู่การเป็น global player ทางบริษัทฯ จึงมีเป้าหมายที่จะพัฒนาความร่วมมือกับบริษัทยานยนต์ยักษ์ใหญ่ของโลกและของอินเดียอื่นๆ ให้ใกล้ชิดมากขึ้นต่อไปในอนาคต ซึ่งคงมิได้จำกัดแค่ยานยนต์สองล้อ แต่มีเป้าหมายในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สี่ล้อให้กับผู้ผลิตยานยนต์รายอื่นๆ ด้วย
ไทยซัมมิทเป็นอีกหนึ่งกิจการของไทยที่ได้มาปักธงแห่งความสำเร็จแล้วในอินเดีย และได้สร้างความภูมิใจให้กับคนไทยที่บริษัทฯ สามารถยืนเคียงข้างกับบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก ทั้งนี้ โมเดลทางธุรกิจของบริษัทฯ น่าจะเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างสำหรับภาคเอกชนไทยรายอื่นๆ ที่จะได้ใช้เป็นกรณีศึกษาในการเข้ามาลงทุนและบุกตลาดในอินเดียต่อไปในอนาคต
****************************
รายงานโดย ดร. พรพิมล สุคันธวณิช
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน