อินเดียจะมีรถไฟหัวกระสุน (Shinkansen) ใช้ก่อนไทยก็ได้ ใครจะไปรู้ ?
ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (11-13 ธ.ค. 2558) นายกรัฐมนตรีอาเบของญี่ปุ่นเดินทางมาเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการครั้งที่ 3 หลังจากเคยมาเมื่อปี 2550 และเมื่อต้นปี 2557 การมาพบกันครั้งนี้ยังนับเป็นครั้งที่ 4 ภายในไม่ถึง 2 เดือนที่ผ่านมา (ทานอาหารค่ำด้วยกันระหว่างการประชุม G20 ที่ตุรกี ทานอาหารกลางวันด้วยกันระหว่างการประชุมอาเซียนที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ และพบปะกันที่กรุงปารีสระหว่างการประชุม COP 21) สำหรับครั้งนี้ผู้นำทั้งสองคนยังเดินทางไปชมพิธีบูชาไฟของพรหมณ์ริมฝั่งแม่น้ำคงคา (Ganga Aarti) ที่เมืองพาราณสีด้วยกัน ซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์ส่วนตัวแบบไม่ธรรมดาของนายอาเบและนายโมดี
ผลการเยือนครั้งนี้ มีสิ่งน่าสนใจหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นความตกลงเพื่อร่วมมือในการใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างสันติ ความร่วมมือด้านยุทโธปกรณ์กลาโหม และการเพิ่มการลงทุนของญี่ปุ่นในอินเดีย แต่สิ่งที่น่าสนใจมากคือ การที่อินเดียตัดสินใจเลือกรถไฟหัวกระสุน (Shinkansen) ของญี่ปุ่นมาใช้ ซึ่งจะทำให้อินเดียเป็นประเทศแรกในภูมิภาคและประเทศที่สองหลังจากไต้หวัน ที่รับเอาระบบรถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่นมาใช้
Credit: The Economic Times
ทำไมอินเดียถึงตัดสินใจเลือกระบบรถไฟของญี่ปุ่น ทั้ง ๆ ที่มีต้นทุนแพงกว่า และประเทศในยุโรป เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน หรือกระทั่งจีน ก็พร้อมจะเสนอระบบรถไฟด่วนที่อาจจะไม่เร็วเท่า แต่ก็ถูกสตางค์กว่า ? และที่สำคัญอินเดียจะได้อะไรจากการมีรถไฟความเร็วสูงซึ่งคนอินเดียทั่วไปจะสามารถจ่ายค่าโดยสารได้หรือไม่ ?
รัฐบาลอินเดียได้ตัดสินใจที่จะสร้างเส้นทางรถไฟหัวกระสุนเชื่อมระหว่างนครมุมไบในรัฐมหาราษฏะกับเมืองอาเมห์ดาบาด (Ahmedabad) ในรัฐคุชราตซึ่งอยู่ทางตะวันตกของอินเดีย ระยะทางประมาณ 505 กม. ซึ่งเมื่อเปิดใช้จะย่นระยะเวลาเดินทางโดยรถไฟจาก 7.5 ชม. เหลือ 2 ชม.
นครมุมไบเป็นเมืองใหญ่อันดับหนึ่งของอินเดีย (ประชากร 15 ล้านคน) ในขณะที่กรุงนิวเดลีเป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 (ประชากร 12 ล้านคน) ปรกติเมื่อพิจารณาความคุ้มทุนของโครงการแล้วก็น่าจะเป็นการเชื่อมโยงเมืองหลักที่มีประชากรมาก มีการเดินทางระหว่างกันสูง เช่น ระหว่างนครมุมไบกับกรุงนิวเดลี ส่วนเมืองอาเมห์ดาบาดเป็นเมืองใหญ่อันดับห้า (ประชากรเพียง 6 ล้านคน) แต่เพราะเมืองอาห์เมดาบาดเคยเป็นเมืองหลวงของรัฐคุชราต (Gujarat) และเป็นรัฐบ้านเกิดของนายโมดี การตัดสินใจเลือกเส้นทางนี้จึงไม่น่าจะมีเหตุผลความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ แต่เพราะเป็นรัฐฐานเสียงของนายโมดี ซึ่งย่อมเป็นธรรมดาที่นักการเมืองจะต้องใช้ผลงานหาเสียงกับคนในพื้นที่ตน
ฝ่ายอินเดียประเมินว่าค่าก่อสร้างรางรถไฟ (ซึ่งต้องเป็นรางพิเศษเฉพาะไม่วิ่งปะปนกับรถไฟอื่น) ตกกิโลเมตรละ 1 พันล้านรูปี (500 ล้านบาท) ทั้งนี้ ยังไม่รวมระบบไฟสัญญาณและขบวนรถ โครงการนี้จึงต้องการเงินลงทุนไม่น้อยกว่า 988 พันล้านรูปี(18.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยญี่ปุ่นเสนอให้เงินกู้จำนวน 12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ระยะเวลาผ่อนชำระ 50 ปี ปลอดดอกเบี้ยในช่วงแรก 15 ปี ใช้เวลาก่อสร้าง 7 ปี (พ.ศ. 2560-66)
อันที่จริงเครือข่ายเส้นทางรถไฟของอินเดียทั้งประเทศมีความยาวมากที่สุดในโลก (65,000 กม.) เชื่อมโยงสถานีต่าง ๆ กว่า 7,500 สถานีทั่วประเทศ และทุกวันนี้ก็ขนส่งผู้โดยสารวันละกว่า 30 ล้านคน เม็ดเงินลงทุนระบบรถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่นจำนวนมากนี้จึงสามารถนำมาพัฒนารถไฟอินเดียปัจจุบันได้อย่างสบาย ๆ โดยรถไฟอินเดียสามารถวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 150 กม./ชม. (แต่ในความเป็นจริงวิ่งได้โดยเฉลี่ย 54 กม./ชม.) ดังนั้นการตัดสินใจลงทุนระบบรถไฟใหม่ของญี่ปุ่นแทนจึงน่าจะมีเหตุผลที่น่าสนใจ
ประการแรกเป็นปัจจัยทางการเมืองที่อินเดียจำเป็นต้องปิดประตูไม่รับระบบรถไฟของจีนแน่นอน แม้จะมีต้นทุนต่ำกว่าและจีนก็สามารถให้สินเชื่อได้เช่นกัน แต่การเลือกรถไฟของจีนอาจเชื้อเชิญให้นักการเมืองและประชาชนลุกฮือต่อต้านโครงการทันทีที่มีเหตุการณ์ความขัดแย้งตามแนวพรมแดนทั้งสองฝ่าย นายโมดีจึงคิดดีแล้วว่าคงไม่มีทางเกิดแน่ ส่วนเทคโนโลยี่ของยุโรป เช่น ฝรั่งเศสและเยอรมนีนั้นก็น่าจะเป็นตัวเลือกถัดมา แต่ทั้งสองประเทศก็ไม่อาจเสนอเงื่อนไขเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแข่งกับญี่ปุ่นหรือจีนได้ จึงทำให้ทางเลือกนี้หมดโอกาสเช่นกัน ในขณะเดียวกันความกลัวจีนก็เป็นตัวแปรหนึ่งที่ช่วยดึงให้ญี่ปุ่นหันมาสนับสนุนให้อินเดียเป็นพันธมิตรที่มีความเข้มแข็ง เพื่อถ่วงน้ำหนัก (counter-weight) กับจีน มิฉะนั้นจีนก็อาจจะขยายเครือข่ายระบบรถไฟของตนเองในเอเชีย และตอนนี้ก็มีเพียงไต้หวันและอินเดียเท่านั้นที่เลือกใช้รถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่น ส่วนอินโดนีเซียก็เพิ่งถูกจีนแย่งเสนอโครงการไป สำหรับไทยก็ยังไม่แน่ แต่หนทางที่ญี่ปุ่นจะเอาชนะจีนได้ก็คือต้องเสนอเงินกู้จำนวนมากในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ สำหรับโครงการนี้ญี่ปุ่นเสนอเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยะละ 0.1 เท่านั้นเอง
แล้วอินเดียคิดว่าจะได้อะไรจากโครงการรถไฟความเร็วสูงแบบนี้ ?
ประการแรกผมคิดว่านายโมดีเป็นผู้นำอินเดียยุคใหม่ที่ต้องการให้นานาประเทศเปลี่ยนทัศนคติเก่า ๆ ที่มีเคยต่ออินเดีย ไม่ว่าในแง่การเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ หรือการกระเทาะให้เห็นศักยภาพทางเศรษฐกิจของอินเดีย การตัดสินใจเลือกรถไฟความเร็วสูงแบบใหม่แทนก็น่าจะเป็นเพราะต้องการให้เห็นว่าอินเดียกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคปฏิรูปที่ทันสมัยเทียบเท่าประเทศพัฒนาแล้ว (แน่นอนด้วยความช่วยเหลือเงินกู้แบบผ่อนปรนที่ญี่ปุ่นให้)
ประการที่สอง นายโมดีคงไม่ได้ดูที่ความคุ้มค่าของโครงการรถไฟความเร็วสูงนี้อย่างเดียว เพราะรู้กันอยู่แล้วว่าอาจให้ผลตอบแทนไม่สูงและใช้เวลานานกว่าจะคืนทุน หรืออาจจะขาดทุนก็ได้หากราคาค่าโดยสารไม่สามารถแข่งขันกับเครื่องบิน แต่สิ่งที่นายโมดีมองไว้แล้วน่าจะเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ของรถไฟด่วนของญี่ปุ่นในการใช้เส้นทางรถไฟเป็นตัวช่วยให้เกิดการพัฒนาเมืองเล็กเมืองน้อยตามแนวเส้นทางที่รถไฟผ่าน นอกจากนี้รถไฟยังช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการขยายตัวของชุมชนเมืองมากกว่าการสร้างถนนที่นำมาซึ่งการเพิ่มจำนวนรถยนต์ มลภาวะและอุบัติเหตุ การตัดสินใจเลือกรัฐคุชราตเป็นหนูทดลองจึงต้องการใช้เป็นตัวอย่าง (model) เพื่อโน้มน้าวรัฐอื่น ๆให้คล้อยตามความคิดของตนในเรื่องวาระการพัฒนา (Development agenda) ที่นายโมดีพยายามผลักดันระหว่างหาเสียงด้วย
ถ้าไม่เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจอินเดียกำลังจะพลิกโฉมหน้าใหม่แล้ว ญี่ปุ่นก็คงไม่กล้าเสี่ยงร่วมหัวจมท้ายกับอินเดียในการสร้างระบบรถไฟความเร็วสูงแน่นอน นักลงทุนไทยที่ยังคงลังเลจะเข้ามาเจาะตลาดอินเดียอาจจะต้องรีบเปลี่ยนความคิดใหม่ เผลอ ๆ อาจได้เห็นคนอินเดียนั่งรถไฟหัวกระสุนก่อนคนไทยก็ได้ ใครจะไปรู้
สุนทร ชัยยินดีภูมิ